กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--เจซีแอนด์โค พับลิครีเลชั่นส์
สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จัดงานนิทรรศการ ID CLOSE UP แสดงผลงานวิทยานิพนธ์และผลงานนักศึกษา ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Industrial Design) โดยนักศึกษาสาขาวิชาศิลปะอุตสาหกรรม ที่สร้างสรรค์ผลงานได้อย่างมืออาชีพ ผ่านการแสดงผลงานกว่า 100 ชิ้น อาทิโครงการออกแบบผลิตภัณฑ์เพื่อส่งเสริมการนำขวดแก้วกลับมาใช้ใหม่ในครัวเรือนโครงการออกแบบและพัฒนารองเท้าสำหรับเด็กเท้าบิดอายุ 3-5 ปี สำหรับศูนย์สิรินธรเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพทางการแพทย์แห่งชาติโครงการออกแบบชุดเตียงนอนสำหรับผู้สูงอายุภายในบ้านพัดคนชรา ถุงนอนบุฟรอยด์เสริมใยสังเคราะห์ต้านภัยหนาว การออกแบบเพื่อภัยพิบัติการออกแบบผลิตภัณฑ์จากต้นธูปฤาษีการออกแบบชุดเฟอร์นิเจอร์สำหรับเก็บจักรยานและอุปกรณ์จักรยาน ภายในบ้านเดี่ยวขนาดเล็กฯลฯ โดยกิจกรรมดังกล่าวจะจัดขึ้นไปเมื่อเร็วๆนี้ พร้อมกิจกรรมต่างๆภายในงานอาทิ กิจกรรมเวิร์คช็อปเกี่ยวกับการออกแบบให้กับนักเรียนนักศึกษาและบุคคลทั่วไปที่สนใจเข้าร่วม กิจกรรมการสัมมนาเกี่ยวกับการออกแบบอุตสาหกรรม เพื่อแนะนำแนวทางการศึกษาต่อที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ให้กับเด็กนักเรียนที่สนใจอยากเรียนด้านสถาปัตยกรรม ฯลฯ โดยกิจกรรมทั้งหมด นักศึกษาชั้นปีที่ 6 จะเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดกิจกรรม จึงทำให้นักศึกษาได้มีโอกาสสัมผัสถึงหลักการทำงานที่แท้จริงได้มากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับแนวทางของสถาบันที่ต้องการให้นักศึกษาเป็นคนใฝ่รู้ สู้งาน หรือ @work ไอเดียบรรเจิดกับการสร้างมูลค่าวัชพืชไทย กับการออกแบบผลิตภัณฑ์จากต้นธูปฤาษี
นางสาวจิรภานนทะวงษ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 5 สาขาศิลปะอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่าผลงานที่ได้ออกแบบขึ้นมานี้ มีแนวคิดมาจากการเอาวัชพืชที่ไร้ค่าอย่างต้นธูปฤาษีที่เห็นอยู่ทั่วไป นำกลับมาสร้างคุณค่าใหม่ ผ่านกระบวนการทดลองและออกแบบ ซึ่งตนเองได้เรียนมาในสาขาการออกแบบผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว ทำให้มีไอเดียที่จะสร้างสรรค์ผลงานที่ทั้งสวยงามและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย และเป็นที่ทราบกันดีว่าต้นธูปฤาษีนั้น เป็นวัชพืชที่มีอยู่ทั่วไป สามารถหาวัสดุได้ง่าย จึงได้มีการทดลองนำต้นธูปฤาษีมาแปรรูป และผลที่ได้คือส่วนใบต้นธูปฤาษีสามารถนำมาทำเครื่องจักรสานได้ อาทิ สานเป็นโคมไฟ กระเป๋า ตะกร้าใส่ของ และกระถางต้นไม้ เป็นต้น ส่วนดอกก็ยังสามารถนำมาย้อมสีผ้าและพิมพ์เป็นลายผ้าได้ อีกทั้งยังนำมาทำกระดาษลวดลายสวยงามไว้สำหรับตกแต่งผลิตภัณฑ์ได้ด้วย ทั้งนี้ผลิตภัณฑ์ที่ได้จากต้นธูปฤาษีเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมทั้งกระบวนการผลิต และการใช้ผลิตภัณฑ์ด้วย เรียกได้ว่า เป็นการนำองค์ความรู้ด้านการออกแบบมาพัฒนาชิ้นงานเพื่อสร้างเป็นมูลค่าเพิ่มให้กับวัสดุที่แสนธรรมดาอย่างต้นธูปฤาษีโดยกระบวนการดังกล่าวเรียกว่า RetyphaCollertion (Typha : ชื่อทางวิทยาศาสตร์ของต้นธูปฤาษี)
เพิ่มฟังชั่นส์ให้ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ให้ “ปั่น” ได้สะดวกกว่าเดิม กับการออกแบบชุดเฟอร์นิเจอร์สำหรับเก็บจักรยานและอุปกรณ์จักรยาน ภายในบ้านเดี่ยวขนาดเล็ก
นายณัฐดนัย ฐิตญาณพงศ์นักศึกษา นักศึกษาชั้นปีที่ 5 สาขาศิลปะอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกล่าวว่า ในปัจจุบันผู้คนนิยมใช้จักรยานเพิ่มขึ้นมาก ทั้งเพื่อการออกกำลังกาย เป็นงานอดิเรก รวมถึงใช้เป็นพาหนะเดินทางในชีวิตประจำวันด้วย และปัญหาที่ตามมาจากการใช้จักรยานคือ สถานที่เก็บจักรยานในบ้านมีไม่เพียงพอ และรูปแบบการเก็บอาจทำให้จักรยานเสียหายได้ จึงได้พัฒนาเฟอร์นิเจอร์เก็บจักรยานสำหรับผู้ใช้ที่อาศัยอยู่ในบ้านเดี่ยวขนาดเล็ก ซึ่งนอกจากจะออกแบบมาเพื่อความสวยงามแล้ว ยังได้มีการศึกษาข้อมูลที่เกี่ยวกับจักรยานทั้งในด้านขนาดและน้ำหนัก รวมถึงข้อมูลอุปกรณ์สำหรับจักรยาน และการวิเคราะห์ข้อมูลผู้ใช้จักรยานในด้านพฤติกรรมการปั่นจักรยาน วิธีการเก็บจักรยาน การดูแลบำรุงรักษาจักรยาน รวมถึงการวิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่ในการเก็บด้วย โดยชุดเฟอร์นิเจอร์นี้ประกอบไปด้วยส่วนแขวนจักรยานที่สามารถแขวนจักรยานได้ถึง 2 คัน และส่วนจัดเก็บอุปกรณ์ อาทิ รองเท้า หมวกนิรภัย ถุงมือ อุปกรณ์ซ่อมบำรุงต่างๆ เป็นต้น เรียกได้ว่าเป็นการตอบโจทย์คนยุคใหม่ที่มีไลฟ์สไตล์ใหม่ๆได้อย่างลงตัว
ปลุกกระแสสมาร์ทออฟฟิส กับไอเดีย“Reuse”
กลุ่มนักศึกษาสาขาศิลปะอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง โดยนายปฏิญาณ ศักดิ์สิทธิ์ นายพิทยงค์ รุ่งสมบูรณ์ นางสาวคุณัญญาธัญญวนิช นางสาวกษิญา เก้าเอี้ยนและนายมานะศักดิ์ กุลวัฒนาพร โดยผลงานชิ้นนี้เป็นการออกแบบกล่องบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องเครื่องพิมพ์ ให้เป็นบรรจุภัณฑ์ที่นอกจากจะใช้เพื่อป้องกันความเสียหายของผลิตภัณฑ์ในการขนส่งแล้ว ยัง
สามารถดัดแปลงให้กลายเป็นอุปกรณ์ใช้สอยบนโต๊ะทำงาน อาทิ ชั้นวางสำหรับเก็บกระดาษ และชั้นวางของบนโต๊ะทำงาน เพื่อใช้ใน Home Office ได้อีกด้วย โดยแนวคิดของการออกแบบนี้ เกิดจากปัญหาขยะจากกล่องกระดาษและโฟมจำนวนมาก จากบรรจุภัณฑ์สำหรับเครื่องพิมพ์ จึงได้มีการออกแบบกล่องกระดาษที่มีขนาดใหญ่ ให้สามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบให้เป็นชั้นวางกระดาษบนโต๊ะทำงานได้ โดยผู้ใช้เพียงแค่ตัดตามรอยหรือแนวบนกล่องกระดาษและนำมาประกอบกันเป็นชั้นวางกระดาษ ส่วนโฟมสำหรับกันกระแทกที่อยู่ในกล่องบรรจุภัณฑ์นั้น ได้มีการออกแบบให้พอดีกับผลิตภัณฑ์เครื่องพิมพ์และพอดีกับการใช้เป็นชั้นวางของบนโต๊ะทำงานด้วย ซึ่งนอกจากจะออกแบบมาเพื่อความสวยงามและคำนึงถึงประโยชน์ของการทำงานเป็นหลักแล้ว อุปกรณ์ Reuse เหล่านี้ ยังมีความแข็งแรงและทนทานอีกด้วย จึงถือเป็นผลงานการออกแบบเพื่อความยั่งยืนอย่างแท้จริง
พลิกโฉมวรรณคดีไทยให้โดนใจเด็ก Gen-zกับผลงานการออกแบบสื่อประกอบการสอนชาดก ระดับชั้นประถมศึกษาตอนต้น
นาวสาวณัฐนันท์วงศกรวรศิษฐ์นักศึกษาสาขาศิลปะอุตสาหกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังกล่าวว่าโดยตนเองมีแนวคิดที่ต้องการจะนำเสนอวิธีการเรียนการสอนชาดกให้น่าสนใจและพัฒนาแนวทางการเรียนรู้รูปแบบใหม่สำหรับเด็ก เพื่อให้เด็กสามารถเข้าใจได้ง่าย สนุกสนาน และเข้ากับชีวิตประจำวันของเด็กๆได้ โดยการออกแบบสื่อประกอบการสอนชาดกนี้ได้พัฒนามาเป็น 2 รูปแบบ ได้แก่ การสอนแบบเล่าเรื่องผ่านโมเดลและภาพประกอบพร้อมการทำกิจกรรมแบบกลุ่ม และการสอนแบบเกมกระดาน โดยได้มีการทำการวิจัยพฤติกรรมการเรียนรู้ของเด็กรวมถึงมีการทดสอบการนำสื่อประกอบการสอนไปใช้กับเด็กในโรงเรียนจริงๆ ซึ่งผลการทดลองพบว่า เด็กๆสามารถเรียนรู้ และเข้าใจได้เร็วขึ้น และสามารถเชื่อมโยงเรื่องราวทางพุทธศาสนากับการใช้ชีวิตประจำวันได้ อีกทั้งยังช่วยให้เด็กๆเพลิดเพลินและสนุกสนานกับการเรียนรู้รูปแบบใหม่นี้ด้วย
ด้าน รศ. บุญสนอง รัตนสุนทรากุล คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า ทางสถาบัน ได้เห็นถึงการเติบโตอย่างรวดเร็ว ของธุรกิจด้านการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์ ที่ส่งผลต่อความต้องการแรงงานของตลาดในวงการการออกแบบและวงการด้านสถาปัตยกรรมที่เพิ่มมากขึ้น จึงได้สนับสนุนให้นักศึกษาจัดแสดงนิทรรศการ “ID CLOSE UP” ซึ่งเป็นการแสดงผลงานวิทยานิพนธ์และผลงานนักศึกษาด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (Industrial Design) โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแสดงถึงศักยภาพของสถาบันในการทำหน้าที่ผลิตบัณฑิตสู่สายวิชาชีพ และเผยแพร่ความรู้วิทยาการของนักศึกษาชั้นปีสุดท้าย ออกสู่สาธารณชน ตลอดจนการสร้างความพร้อมและสร้างประสิทธิภาพให้กับ
นักศึกษาในการสร้างผลงานการออกแบบเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมไทยได้อย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน โดยผลงานของนักศึกษาที่นำมาแสดงในงานนิทรรศการนี้ เป็นผลงานที่เกิดจากการนำความรู้ตลอดระยะเวลา 5 ปี ที่นักศึกษาสาขาวิชาศิลปอุตสาหกรรม ได้เรียนทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ มาตกผลึกกลายเป็นผลงานตามความถนัดและความสนใจของนักศึกษาเอง ออกสู่สาธารณชน พร้อมเป็นการเปิดโอกาสสู่อาชีพด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมในอนาคตอีกด้วย ซึ่งภายในงานจะพบกับผลงานล้ำสมัยเพื่อสร้างสังคมไทย ให้เป็นสังคมนวัตกรรม หรือ Innovative Society โดยกิจกรรมดังกล่าว นักศึกษาชั้นปีที่ 5 เป็นผู้รับผิดชอบในการจัดงานเองทั้งหมด ซึ่งทำให้นักศึกษาได้มีโอกาสสัมผัสถึงหลักการทำงานที่แท้จริงได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางของสถาบันที่ต้องการให้นักศึกษาเป็นคนซื่อสัตย์ ใฝ่รู้ สู้งาน หรือ @work นั่นเองนอกจากกิจกรรมดังกล่าว ทางคณะของเรา ก็ได้มีการจัดกิจกรรมความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิชาการ เพื่อประโยชน์ และสร้างมุมมองที่กว้างขึ้นให้แก่นักศึกษาของคณะต่อไป