ไอบีเอ็มประกาศแผนงานมุ่งสร้างองค์กรเป็นบริษัทต้นแบบแห่งศตวรรษที่ 21 พร้อมเปิดโครงการสร้างสรรค์สังคม คุณภาพชีวิต และระบบเศรษฐกิจแห่งนวัตกรรม

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday July 6, 2005 10:28 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.ค.--ไอบีเอ็ม ประเทศไทย
ไอบีเอ็มประกาศนโยบายและแผนงานเพื่อขับเคลื่อนไอบีเอ็มให้เป็นองค์กรแบบอย่างของการบริหารทรัพยากรบุคคลในศตวรรษที่ 21 และเปิดตัวโครงการที่มุ่งเน้นการนำคุณค่าของนวัตกรรม หรือ Innovation มาประยุกต์และสร้างสรรค์ระบบเศรษฐกิจและสังคมไทย พร้อมเปิดตัวโครงการ World Community Grid ที่นำเทคโนโลยีกริดคอมพิวติ้ง ที่จะช่วยแก้ปัญหาทางด้านการแพทย์และสังคมโดยรวมในประเทศไทย
นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า “การสร้างโลกออนดีมานด์มิได้จำกัดอยู่แค่ในแวดวงธุรกิจเท่านั้น ที่สำคัญ ไอบีเอ็มกำลังเริ่มต้นที่ภายในตัวองค์กรเองและขยายวงกว้างไปสู่การสร้างระบบนิเวศน์แบบออนดีมานด์ในระบบเศรษฐกิจและสังคม โดยไอบีเอ็มยังคงยึดมั่นปรัชญาในการดำเนินธุรกิจที่มุ่งนำความเชี่ยวชาญ ความเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีและการสร้างนวัตกรรม (Innovation) มาประยุกต์ใช้ เพื่อสร้างคุณประโยชน์ให้กับสังคมโดยรวม ทั้งนี้ ไอบีเอ็มได้มุ่งปรับองค์กรภายใน ทั้งทางด้านกระบวนการดำเนินธุรกิจ วัฒนธรรมและบรรยากาศการทำงานในองค์กร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คุณภาพของบุคลากรให้สอดคล้องไปกับวิสัยทัศน์แบบออนดีมานด์บิสิเนส ให้ไอบีเอ็มพร้อมเป็นองค์กรต้นแบบในศตวรรษที่ 21 ขณะเดียวกัน ไอบีเอ็มได้นำคุณค่าของนวัตกรรม หรือ Innovation Value มาสร้างคุณประโยชน์ในวงกว้างครอบคลุมไปสู่สังคม เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชากรให้ดียิ่งขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาทางการแพทย์ สาธารณสุข สภาวะทางด้านมนุษยธรรม ระบบการศึกษา รวมถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม และคุณประโยชน์สู่ระบบเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระบบเศรษฐกิจโลก”
สร้างไอบีเอ็มเป็นองค์กรธุรกิจต้นแบบแห่งศตวรรษที่ 21
ไอบีเอ็มกำหนดเป้าหมายชัดเจนที่จะปรับองค์กรครั้งใหญ่ เพื่อยังคงความเป็นบริษัทชั้นนำของโลก ที่บุคลากรยุคใหม่อยากทำงานด้วย หรือ Employer of choice โดยไอบีเอ็มได้มุ่งสร้างสรรค์องค์กรใน 4 ด้านหลัก คือ บรรยากาศการทำงาน (climate) วัฒนธรรมองค์กร (Culture) การเสริมสร้างและส่งเสริมศักยภาพของบุคลากร (Capability) และการปรับระบบการทำงานให้เกิดความยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพสูงสุด (Flexibility)
ไอบีเอ็มริเริ่มโครงการเพื่อสร้างองค์กรให้เป็น Employer of Choice หรือองค์กรต้นแบบแห่งศตวรรษที่ 21 มากมาย ได้แก่
การเปิดโอกาสให้พนักงานทั่วโลกได้กำหนดบทบาทและค่านิยมของพนักงานในยุคออน ดีมานด์แห่งศตรวรรษที่ 21 ด้วยตนเอง ผ่านโครงการที่ปฏิบัติต่อเนื่องมาเป็นเวลา 3 ปี คือ ValuesJam 2003, WorldJam 2004 และ WorldJam in Action 2005
โครงการ ThinkPlace ที่ริเริ่มขึ้นเพื่อสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้างทางความคิด และกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถนำมาปรับใช้เป็นนโยบายและแนวทางปฏิบัติขององค์กรต่อไป
Workforce Diversity นโยบายที่ให้โอกาสแก่พนักงานเท่าเทียมกัน โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างไม่ว่าจะเป็นด้านชาติพันธุ์ เพศ หรือความทุพพลภาพ เป็นต้น ไอบีเอ็มได้ขยายผลนโยบายนี้สู่ระบบการศึกษาไทย ด้วยการสนับสนุนเยาวชนไทยที่เป็นผู้ทุพพลภาพแต่มีความสามารถ ด้วยการมอบทุนการศึกษาและความสนับสนุนด้านต่างๆ เพื่อเปิดโอกาสที่เท่าเทียมกันให้แก่บุคคลากร ให้สามารถพัฒนาความสามารถของตนเองได้อย่างเต็มที่
การสร้างไอบีเอ็มให้เป็นที่ทำงานแบบอย่างทางด้านการเสริมสร้างศักยภาพให้กับพนักงาน โดยไอบีเอ็มเปิดโอกาสให้พนักงานได้เติบโตในสายงานที่ต้องการอย่างเต็มที่ และเสริมสร้างศักยภาพ ทักษะ ความเชี่ยวชาญผ่านโครงการ IBM Career Day, On Demand Learning Day และ IBM Professional Certification
ไอบีเอ็มเดินหน้านำเสนอนวัตกรรมเพื่อสร้างสรรค์สังคมและระบบเศรษฐกิจไทย
ในการนำคุณค่าของนวัตกรรมเพื่อสร้างสรรค์สังคมและระบบเศรษฐกิจไทยนั้น ไอบีเอ็มนำเสนออกเป็น 4 ด้านหลัก คือ เพื่อสร้างคุณประโยชน์ต่อธุรกิจไทย, ต่อคุณภาพชีวิตและสังคมของคนไทย รวมถึง ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมต่างๆ, เพื่อสร้างคุณประโยชน์ต่อวงการการศึกษาไทย และคุณประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ตัวอย่างโครงการสำคัญเหล่านั้น ได้แก่
ไอบีเอ็มได้เปิดตัวโครงการ World Community Grid เป็นโครงการที่ไอบีเอ็มร่วมกับหลายหน่วยงานทางด้านวิทยาศาสตร์ การศึกษาและโครงการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมชั้นนำของโลก ในการประยุกต์เทคโนโลยีกริดคอมพิวติ้งมาสร้างคุณประโยชน์ ที่มุ่งบรรเทาและช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม ทั้งทางด้านการแพทย์สาธารณสุข ในการค้นคว้าและวิจัยเพื่อเข้าใจถึงสาเหตุของโรคติดต่อร้ายแรงอย่างเอดส์ อัลไซเมอร์ มะเร็ง และโรคอื่นๆ อันเป็นสาเหตุสำคัญที่คร่าชีวิตมนุษยชาติ นอกจากนี้ ยังรวมถึงการวิจัยเพื่อรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติร้ายแรง มลพิษในบรรยากาศโลก และการแก้ปัญหาทางด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและอาหารสำหรับประชากรโลก ซึ่งกำลังเป็นปัญหาที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ไอบีเอ็มจะเปิดตัวโครงการ World Community Grid อย่างเป็นทางการในประเทศไทยในงาน InnovAsia 2005 ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างวันที่ 21-23 กันยายนนี้ โดยจะเปิดรับอาสาสมัครทั้งที่เป็นสถาบัน องค์กร และเชิญชวนบุคคลทั่วไปเข้าร่วมเปิดให้โครงการได้เข้าใช้ความสามารถในการประมวลผลที่เหลือใช้ ขณะเดียวกัน ไอบีเอ็มจะเปิดรับสมัครโครงการที่ต้องการใช้พลังประมวลผลมหาศาลจากกริดคอมพิวติ้งผ่านเว็บไซต์ทางการของ World Community Grid จากนั้น คณะกรรมการจะทำการคัดเลือกโครงการที่จะสร้างคุณประโยชน์และส่งผลต่อสังคมในวงกว้าง ได้แก่ โครงการวิจัยทางการแพทย์ สาธารณสุข การวิจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษ รวมทั้ง โครงการวิจัยเพื่อยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคม
ข้อมูลเพิ่มเติมของโครงการ World Community Grid สามารถค้นหาได้ที่ www.worldcommunitygrid.org/
โครงการ Genographic เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างไอบีเอ็มและ The National Geographic Society เพื่อศึกษาเส้นทางการอพยพและการตั้งรกรากของชาติพันธุ์มนุษย์ทั่วโลก และศึกษาปัจจัยที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างมนุษย์ต่างชาติพันธุ์ ที่กำหนดช่วงเวลาในการศึกษาไว้ 5 ปีเต็ม ในโครงการ Genographic นี้ ไอยีเอ็มให้ความร่วมมือทางด้านเทคโนโลยีการประมวลผลและจัดเก็บบริหารข้อมูลจำนวนมหาศาลของโครงการ รวมทั้ง เป็นผู้จัดวางโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีทั้งหมดของโครงการ และมีนักวิทยาศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญจาก IBM’s Computational Biology Center ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยด้านวิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life Sciences) ชั้นนำแห่งหนึ่งของโลกร่วมทำงานในโครงการนี้ด้วย
โครงการ Genographic ประกอบด้วยงาน 3 ส่วนหลัก คือ
1)Field Research : คือการเก็บตัวอย่างเลือดจากชนเผ่าท้องถิ่น ซึ่งดำเนินการโดยนักวิทยาศาสตร์จากสถาบันที่ศึกษาและเชี่ยวชาญทางด้านชาติพันธุ์มนุษย์ ซึ่งในตัวอย่างเลือดจะมี DNA ที่เก็บข้อมูลด้านชาติพันธุ์ของมนุษย์ที่ช่วยสืบค้นถอยหลังไปถึงบรรพบุรุษนับเนื่องเป็นหลายร้อยยุค ทั้งหมดนี้ จะช่วยให้เราสามารถสร้างแบบแผนการอพยพเคลื่อนย้ายถิ่นฐานของมนุษย์ในสายพันธุ์ต่างๆ ได้ ทั้งหมดนี้ ดำเนินการอยู่ภายใต้การดูแลของคณะกรรมการที่ปรึกษานานาชาติ
2) Public Participation and Awareness Campaign : บุคคลทั่วไปสามารถเข้าร่วมโครงการได้ โดยสั่งซื้อชุดตรวจ Genographic Participation Kit ได้ในราคา 99.95 เหรียญสหรัฐฯ รวมค่าจัดส่งและค่าธรรมเนียมอื่นๆ ผ่านเว็บไซต์ของ National Geographic Society ในชุดตรวจสอบนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการจะขอให้ขูดเก็บเนื้อเยื้อที่กระพุ้งแก้มในชุดทดสอบ และส่งคืนกลับมายังศูนย์ทดลอง ผลตรวจดังกล่าวจะทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการรู้ถึงประวัติการอพยพตั้งถิ่นฐานของบรรพบุรุษตนเอง ที่น่าสนใจก็คือ National Geographic Society จะนำเสนอเรื่องราวของโครงการ ผ่านสารคดีชื่อชุด ‘The Search for Adam’ ที่จะออกอากาศทางช่อง National Geographic Channel Explorer ทั่วโลก
3) Genographic Legacy Project : รายได้จากการขายชุดตรวจ (Genographic Participation Kit) นี้ จะเป็นทุนสนับสนุนให้กับโครงการวิจัยสนามของ National Geographic Society ในอนาคต และสนับสนุนโครงการศึกษาวิจัยหลักด้านวัฒนธรรมโลกต่อไป
ข้อมูลเพิ่มเติมของโครงการ Genographic สามารถค้าหาได้ที่ www.nationalgeographic.com/genographic
เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์โดย
บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด
ข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ
คุณชูจิตต์ วัฒนล้ำเลิศ โทร 02-273-4306 อีเมล์ chujit@th.ibm.com
คุณอรอุมา วัฒนะสุข โทร 02-273-4117 อีเมล์ onumav@th.ibm.com--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ