ม.อ.ต่อยอดงานวิจัยโพรไบโอติกสู่ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมช่วยป้องกัน-ลดความเสี่ยงการเกิดโรคฟันผุ

ข่าวทั่วไป Friday September 6, 2013 11:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--มาสเตอร์ มายด์ คอมมิวนิเคชั่นส์ คณะทันตแพทยศาสตร์ ม.อ. ต่อยอดนำโพรไบโอติกสายพันธุ์ Lactobacillus paracasei SD1 หรือเชื้อแบคทีเรียที่ได้จากช่องปากที่มีความสามารถในการป้องกันฟันผุ พัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมที่ผสม โพรไบโอติกเพื่อเป็นทางเลือกในการป้องกันและลดความเสี่ยงโรคฟันผุให้แก่คนไทย พร้อมวางเป้าหมายนำโพรไบโอติกมาประยุกต์ใช้ในการป้องกันโรคปริทันต์อักเสบและการป้องกันการติดเชื้อราในช่องปาก ศาสตราจารย์ ดร.รวี เถียรไพศาล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับ ทพญ.สุพัชรินทร์ พิวัฒน์ และคณะผู้ร่วมวิจัย ทำการต่อยอดงานวิจัยด้วยการนำโพรไบโอติกสายพันธุ์ Lactobacillus paracasei SD1 ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ได้มาจากช่องปาก ที่มีความสามารถในการฆ่าเชื้อแบคทีเรียซึ่งเป็นสาเหตุของโรคฟันผุ มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ผสมโพรไบโอติกในรูปแบบอาหารเสริมเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค เช่น นมผง นมอัดเม็ด โยเกิร์ต รวมทั้งผสมในเครื่องดื่มน้ำผลไม้ต่างๆ สำหรับกระบวนการนำโพรไบโอติก Lactobacillus paracasei SD1 มาผสมในเครื่องดื่มนั้น จะนำเอาหัวเชื้อมาเตรียมในรูปแบบของ microencapsulation ซึ่งมีลักษณะเป็นแคปซูลขนาดเล็กคล้ายชาไข่มุก และต้องเคี้ยวเพื่อให้ตัวเชื้อได้ออกมาสัมผัสกับช่องปาก โดยการทำเป็นรูปแบบแคปซูลนี้ จะทำให้เชื้อมีชีวิตรอดอยู่ได้นานกว่าการผสมลงในน้ำและเครื่องดื่มโดยตรง อย่างไรก็ตาม การเตรียมผสมในรูปแบบของนมผงและโยเกิร์ตจะเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุด เนื่องจากเชื้อจะมีชีวิตอยู่ได้นานกว่า โดยยังคงประสิทธิภาพในการป้องกันฟันผุได้ดีเท่าเดิม “กลไกการทำงานของโพรไบโอติกนั้น สามารถลดเชื้อก่อโรคฟันผุ โดยการแข่งขันเพื่อครอบครองพื้นที่ สามารถสร้างสารยับยั้งการเจริญเติบโตต่อเชื้อก่อโรคฟันผุโดยตรง และสามารถกระตุ้นภูมิต้านทานต่อเชื้อก่อโรคด้วย ต่างจากการใช้น้ำยาบ้วนปากหรือสารต้านเชื้อซึ่งมีผลในการลดเชื้อเพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจจะมีปัญหาการดื้อต่อสารต้านเชื้อตามมาในภายหลัง โดยโพรไบโอติกสามารถใช้ประโยชน์ได้ในคนทุกช่วงอายุ รวมถึงผู้สูงอายุที่มักมีปัญหาฟันผุที่ผิวรากฟันจากปัญหาเหงือกร่นด้วย” ศาสตราจารย์ ดร.รวี กล่าว ดังนั้น การนำโพรไบโอติกไปพัฒนาทำเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทต่างๆ นับเป็นทางเลือกที่ดีและง่ายต่อผู้บริโภคในการยับยั้งและป้องกันฟันผุ ที่ต้องทำควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาวะในช่องปากและพฤติกรรมการรับประทานอาหารโดยเฉพาะอาหารหวาน จึงจะช่วยลดอัตราการเกิดฟันผุในประชากรไทยได้ประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น ศาสตราจารย์ ดร.รวี ยังกล่าวด้วยว่า ในอนาคต คณะผู้ทำวิจัย ยังมีแผนต่อยอดเพื่อเสริมสุขภาพในช่องปาก ด้วยการผสมสารโพรไบโอติกและฟลูออไรด์ เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ชุมชนในท้องถิ่นที่ยังขาดฟลูออไรด์ในน้ำดื่ม นอกจากนี้ ยังมีเป้าหมายจะขยายการวิจัยไปสู่การนำโพรไบโอติกมาประยุกต์ใช้ในการป้องกันโรคปริทันต์อักเสบ และป้องกันการติดเชื้อราในช่องปาก ซึ่งถือเป็นการต่อยอดองค์ความรู้ในการนำโพรไบโอติกมาประยุกต์ใช้เพื่อส่งเสริมสุขภาพในช่องปากให้ดียิ่งขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ