กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--มนตรีพีอาร์
กลุ่มบริษัทแพรนด้า ผู้ผลิตจิวเวลรี่ชื่อดังระดับโลก ก้าวขึ้นสู่ปีที่ 40 พร้อมกับการเปิดตัวโลโก้และแท็กไลน์ใหม่ ซึ่งสื่อถึงความเป็นตัวตนและคุณค่าที่ยืนหยัดคู่บริษัทมาเป็นเวลานาน
แท็กไลน์ใหม่ก็คือ “ The Architecture of Craftsmanship ” วางเคียงคู่กับโลโก้ใหม่อย่างลงตัว และสะท้อนถึงหลักการดำเนินธุรกิจ และพื้นฐานของกลุ่มบริษัทแพรนด้าได้เป็นอย่างดี แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการผลิตงานฝีมือที่มีความงดงามในปริมาณมาก แต่ก็ยังเปี่ยมไปด้วยความตั้งใจ และรับผิดชอบที่จะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ เฉกเช่นสถาปนิก ผู้ใช้ทั้งศาสตร์ และศิลป์ ในการรังสรรค์ผลงานที่ดีที่สุดให้แก่ลูกค้า
กลุ่มบริษัทแพรนด้าได้เติบโตอย่างต่อเนื่องมาตลอด 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำด้านจิวเวลรี่ที่ได้รับความไว้วางใจจากทั่วโลกให้ผลิตจิวเวลรี่คุณภาพสูงด้วยขีดความสามารถในการผลิต กว่า 10 ล้านชิ้นต่อปี โดยปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลให้กลุ่มบริษัทแพรนด้าเติบโตและประสบความสำเร็จก็คือ สิ่งที่เรียกว่า “Pranda Process” หรือขั้นตอนของแพรนด้า ซึ่งเป็นกระบวนการทำงานที่ไม่เหมือนใคร ประกอบไปด้วย 7 ขั้นตอนเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตั้งแต่การศึกษาข้อมูลทางการตลาดเชิงรุก การสร้างสรรค์ผลงานผสมผสานกับเทคโนโลยีล้ำยุค ทำให้ภาพร่างผ่านกระบวนการจนเป็นงานต้นแบบผลิตภัณฑ์ที่สมบูรณ์ การเลือกสรรอัญมณีหลากชนิดจากทุกมุมโลกให้เหมาะกับดีไซน์ และการผลิตงานฝีมือคุณภาพสูงแบบ “Mass Craftsmanship” ทำให้ลูกค้ามีความเชื่อมันในตัวเรา ในทางกลับกันเราก็ย่อมมีความเชื่อมั่นว่าจะสามารถนำผลิตภัณฑ์ของเราไปสู่ตลาดโลกได้ในที่สุด
“ The Architecture of Craftsmanship ” เน้นให้เห็นถึงผลแห่งการปฏิบัติตามขั้นตอนของแพรนด้า ทำให้ได้ผลงานที่มีมาตรฐาน และคุณภาพสูง นอกจากขั้นตอนของแพรนด้าซึ่งเป็นหัวใจสำคัญที่พนักงานทุกคนยึดถือแล้ว ยังมีความมุ่งมั่นต่อการเติบโตอย่างยั่งยืน และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นเรื่องผู้ถือหุ้นเป็นหลัก
กลุ่มแพรนด้าก้าวสู่อนาคตด้วยประสบการณ์ และความเชี่ยวชาญที่สั่งสมมากว่า 40 ปี มีวิสัยทัศน์ที่จะขยายตลาดให้กว้างขึ้นกว่าเดิม ตอกย้ำจุดยืนในฐานะผู้ผลิตจิวเวลรี่คุณภาพสูงระดับโลก
“ตลอดระยะเวลา 40 ปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทแพรนด้าได้ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลในแวดวงจิวเวลรี่ เราสามารถผลิตจิวเวลรี่ระดับสูงได้ในปริมาณมากโดยยังคงคุณภาพไว้ไม่เปลี่ยนแปลง โดยในอดีตกว่าจะได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพระดับนี้ จะต้องอาศัยฝีมือช่างระดับสูง ประดิษฐ์ขึ้นด้วยมือทีละชิ้นเท่านั้น”
คุณปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานกรรมการ กลุ่มบริษัทแพรนด้า กล่าวถึงจุดเด่นของแบรนด์ว่า “เราสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทั่วโลกในเชิงปริมาณได้ และเราเป็นปรมาจารย์แห่งการผลิตจิวเวลรี่ชั้นสูงในปริมาณมาก หรือ “Mass Craftsmanship” ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติที่เคยมองว่าจิวเวลรี่ที่ผลิตคราวละมากๆ มักจะไม่สวย และไม่ทน”
คุณปรีดา กล่าวเสริมอีกว่า “ลูกค้าของเรามีความเชื่อมั่นในแบรนด์แพรนด้า เชื่อถือในฝีมือระดับสูง ความละเอียดของชิ้นงานที่ได้มาตรฐานโลก เราทำธุรกิจนี้มาหลายทศวรรษแล้ว และหัวใจของธุรกิจเราก็คือ การผลิตจิวเวลรี่ที่สวยงาม ทำจากหัวใจของเรา อย่างที่เห็นในโลโก้ใหม่ของแพรนด้าในตอนนี้ ”
กลุ่มบริษัทแพรนด้าจะจัดงานฉลองขึ้นที่ห้องรอยัล จูบิลี บอลรูม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ในวันที่ 8 กันยายน 2556 เพื่อเฉลิมฉลองความสำเร็จ และขอบคุณลูกค้า ซัพพลายเออร์ และผู้ถือหุ้นทุกท่าน
เกี่ยวกับเรา
บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ “PRANDA” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2516 และได้นำหุ้นเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในปี 2533 ปัจจุบันบริษัทฯ มีทุนจดทะเบียน 410 ล้านบาท มีสินทรัพย์รวม 4,320 ล้านบาท บริษัทฯ ดำเนินธุรกิจเป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายเครื่องประดับแท้เป็นหลัก ปัจจุบันเป็นผู้นำด้านการส่งออกเครื่องประดับอัญมณีของไทย ซึ่งมีการกระจายฐานลูกค้าไปยังภูมิภาคที่สำคัญของโลก อันได้แก่ อเมริกาเหนือ ยุโรป และเอเชีย บริษัทฯ กำหนดวิสัยทัศน์ที่จะเป็น “บริษัทแบรนด์เครื่องประดับอัญมณีระดับโลก (World Class Jewelry Brand Company)” ซึ่งได้วางรากฐานที่มั่นคงไว้รองรับกับวิสัยทัศน์ดังกล่าว โดยพิจารณาได้จากบริษัทฯ ได้วางโครงสร้างการบริหารที่สมดุลซึ่งประกอบด้วยรายละเอียด ดังนี้
1) การผลิต
ผลิตเครื่องประดับอัญมณีที่มีประสิทธิภาพในด้านการประหยัดขนาดการผลิต (Economies of Scale) ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตสินค้าเหมาะสมกับคุณภาพของสินค้า และได้กระจายความเสี่ยงทางด้านการผลิตเพื่อให้ครอบคลุมแทบทุกระดับราคาสินค้า โดยกลุ่มบริษัทฯ มี 7โรงงานใน 4 ประเทศ ด้วยจำนวนโรงงานที่มากเพียงพอต่อปริมาณการสั่งผลิต ทำให้ปัจจุบันบริษัทฯมีกำลังการผลิตประมาณ 10 ล้านชิ้นต่อปี
2) การจัดจำหน่าย
บริษัทฯ มีบริษัทจัดจำหน่ายที่เป็นของตนเอง และตัวแทนจำหน่าย ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อกระจายความเสี่ยงทางการตลาด และการขยายตลาดในเวลาเดียวกัน ฐานจัดจำหน่ายเหล่านี้กระจายตามภูมิภาคที่สำคัญของทั่วโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส อิตาลี สเปน อินโดนิเซีย ญี่ปุ่น จีน เวียดนาม อินเดีย และไทย โดยช่องทางการจัดจำหน่ายจะขายส่งให้กับตัวแทนจัดจำหน่ายรายใหญ่ทั่วโลก โดยปัจจุบันมีบริษัทย่อย ที่เป็นฐานการจัดจำหน่ายทั้งหมด 5 บริษัท
3) การค้าปลีก
บริษัทฯ มีบริษัทย่อยที่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารจัดการการค้าปลีก ซึ่งรวมถึงร้านค้าปลีกของบริษัทเอง และการจัดจำหน่ายผ่านระบบแฟรนซ์ไชส์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคเครื่องประดับโดยตรง ปัจจุบันมี 4 บริษัทในไทย อินโดนีเซีย เวียดนาม และจีน