กรุงเทพฯ--6 ก.ย.--กระทรวงวิทย์ฯ
ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร.พีรพันธุ์ พาลุสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมด้วย ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (TCELS) และ นายศุภชัย หล่อโลหการ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (สนช.) ร่วมกันแถลงข่าว “วิกฤตยางพาราแก้ได้ด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี”
ดร.พีรพันธุ์ กล่าวว่า ปัญหาราคายางพาราตกต่ำและมีปริมาณมากจนล้นตลาดในปัจจุบัน ได้ทวีความรุนแรงและสร้างความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรอย่างมาก กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้มอบหมายให้ ทั้งสามหน่วยงานดังกล่าวข้างต้นไปรวบรวมผลงานวิจัยและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากยางพารา ไม่ว่าจะเป็นผลงานวิจัยจากสารสกัดจากน้ำยางพาราเพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยให้ผิวขาว หรือที่รู้จักกันในชื่อของครีมหน้าขาวจากยาพารา แผ่นยางพาราปูพื้นเพื่อลดแรงกระแทก แผ่นยางปูพื้นรถยนต์ผสมกัญชง และผลงานวิจัยจากการนำยางพารามาใช้ในอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าของยางพาราได้มากกว่า 10 เท่าของมูลค่ายางดิบ สร้างโอกาสการแข่งขันทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างศักยภาพ ความชำนาญในการผลิต นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างเอกลักษณ์ให้กับอุตสาหกรรมยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางของประเทศไทย
ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า สวทช.ดำเนินการวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยต้นน้ำทำการพัฒนาพันธุ์ยางให้ทนแล้งโดยร่วมกับสถาบันวิจัยยาง ส่วนกลางน้ำได้ดำเนินการใน 3 ขั้นตอนคือ พัฒนาเทคโนโลยีการรวบรวมเศษยางที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การพัฒนาสารรักษาสภาพน้ำยางไร้แอมโมเนีย ให้น้ำยางที่ไม่มีกลิ่นฉุน และการพัฒนาเครื่องผลิตยางแท่งจากน้ำยางสดระดับชุมชน เพื่อเพิ่มคุณภาพยางพาราและลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน สำหรับปลายน้ำ ได้ดำเนินการพัฒนายางล้อรถประหยัดพลังงาน ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลและเอกชน นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการพัฒนาน้ำยางธรรมชาติวัลคาไนซ์ด้วยลำอิเล็กตรอนเพื่อการสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์จากน้ำยางธรรมชาติอย่างยั่งยืนโดยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ ทำการวิจัยยางล้อรถประหยัดพลังงาน
ดร.นเรศ กล่าวว่า TCELS ร่วมกับมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยนเรศวร ใช้สารสกัดจากน้ำยางพารา พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยให้ผิวขาว หรือที่รู้จักกันในชื่อของ ครีมหน้าขาวจากน้ำยางพารา และหลังจากนั้นได้พัฒนาผลิตภัณฑ์เจลล้างหน้า และเซรั่มบำรุงผิวหน้าทำให้ผิวหน้าใส ตามมาซึ่งทั้งสามผลิตภัณฑ์นั้นได้จดแจ้งกับ อย.แล้ว
นายนเรศ กล่าวต่อว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา TCELS ได้จัดงาน ASEAN Life Sciences 2013 และมีการแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์เซรั่มบำรุงผิวหน้าให้กับประชาชนไปทดลองใช้นับพันคน ปรากฎว่ากระแสตอบดีมาก มีการสอบถามเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน จากการร่วมโชว์นวัตกรรมความหน้าทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ร่วมกับหน่วยงานภายในของกระทรวงวิทยาศาสตร์ ทีรัฐสภา ก็ได้แจกตัวอย่างเซรั่มฯ ให้กับ บรรดาสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้งหญิงและชาย ได้รับเสียงสะท้อนว่าใช้ได้ผลดีเช่นเดียวกัน
“ขณะนี้เราได้จดสิทธิบัตรในส่วนของสารสกัดเป็นที่เรียบร้อยแล้วในหลายประเทศ และในส่วนผลิตภัณฑ์ของครีมหน้าขาวและเจลล้างหน้านั้น ได้นำออกสู่ท้องตลาดแล้ว ส่วนเซรั่มบำรุงผิวหน้าซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ตัวล่าสุดนั้นอยู่ระหว่างการประสานกับภาคเอกชนเพื่อศึกษาโอกาสในการเจาะตลาดต่างประเทศ เพื่อเตรียมผลิตป้อนตลาดให้ทันกับความต้องการของโลก นอกจากนี้ TCELS กำลังพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากการต่อยอดสารสกัดตัวเดียวกันอีกหลายชนิด และพร้อมที่จะถ่ายทอดเข้าสู่ตลาดในปีต่อ ๆ ไป” ผอ.TCELS กล่าวและว่า
สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลผลิตภัณฑ์จากสารสกัดน้ำยางพารา สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ TCELS Hotline โทร. 02-6445499 กด 1 หรือหากต้องการผลิตภัณฑ์ สามารถสั่งซื้อได้โดยตรงได้ที่ บริษัท PSU-ITC โทร. 086-4887288 และโปรดระวังของปลอมลอกเลียนแบบ
ขณะที่ นายศุภชัย กล่าวว่า แม้ว่าแต่ละปีประเทศไทยจะผลิตยางพาราได้ในปริมาณที่สูงมาก แต่ส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 90 ถูกส่งออกในรูปของยางดิบที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำ มีเพียงร้อยละ 10 หรือ ประมาณ 300,000 ตันเท่านั้นที่ได้รับการนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 10 เท่าของมูลค่ายางดิบ ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในวงการอุตสาหกรรมยางจึงพยายามหาแนวทางในการแปรรูปยางพาราเพื่อเพื่อก่อให้เกิดมูลค่าและมีการใช้งานในประเทศมากยิ่งขึ้น เพื่อลดปัญหาราคายางผันผวนให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง โดยอาศัยความได้เปรียบเหนือประเทศคู่แข่งในหลาย ๆ ด้าน เช่น การผลิตวัตถุดิบต้นน้ำ การแปรรูปยางพาราวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์ปลายน้ำ เพื่อสร้างโอกาสทางการแข่งขันด้วยการนำนวัตกรรมที่ต่อยอดจากการวิจัยพัฒนามาบูรณาการวิจัยและพัฒนามาบูรณาการในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมยางพารา