กรมวิทย์ฯ ตรวจไม่พบสารพิษกรณีปลาในสระ รง.ยาสูบตาย

ข่าวทั่วไป Monday January 12, 1998 15:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--12 ม.ค.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขตรวจหาสารพิษในตัวอย่างน้าและปลาจากสระน้ำของโรงงานยาสูบ เนื่องจากเกรงว่าจะมีผู้นำปลาตายไปบริโภค และอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ ผลปรากฎว่า ตรวจไม่พบสารพิษไซยาไนด์ และสารกำจัดศัตรูพืชประเภทต่างๆ ในน้ำและปลาทุกตัวอย่าง
ดร.เรณู โกยสุโข อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงผลการตรวจวิเคราะห์สารพิษกรณีปลาในสระน้ำของโรงงานยาสูบตายเป็นจำนวนมาก ในช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา ว่าเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2541 กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปเก็บตัวอย่างน้ำในสระ และปลาจากโรงงานยาสูบ เพื่อตรวจหาสารพิษ โดยได้เก็บตัวอย่างน้ำบริเวณต่างๆ ของสระ จำนวน 6 จุด ปลา และซากสุนัขที่ตาย 2 ตัว ไปดำเนินการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ ทั้งทางด้านพิษวิทยาสิ่งแวดล้อม ด้านสารกำจัด ศัตรูพืชตกค้างในอาหาร ด้านไวรัสวิทยา และสัตว์แพทย์ สรุปได้ดังนี้
น้ำและปลา ตรวจหาสารพิษไซยาไนด์และสารกำจัดศัตรูพืชประเภทต่างๆ ประมาณ 100 ชนิด ได้แก้ สารกำจัดแมลงกลุ่มสารประกอบฟอสเฟต กับกลุ่มไพรีธรอยด์โดยใช้เครื่องแก้สโครมาโตกราฟ กลุ่มคาร์บาเมต โดยเครื่องลิควิคโครมาโตกราฟ สารโรติโนน (สารสำคัญในโล่ติ้น) นิโตคิน (สารสำคัญในใบยาสูบ) และสารกำจัดหญ้าพาราควอต โดยวิธีกลั่นแยกส่วนและตรวจปฏิกริยาทางเคมี ผลปรากฎว่า ไม่พบสารดังกล่าว ในน้ำและปลาทุกตัวอย่าง แม้จะทำให้น้ำเข้มข้นขึ้นถึง 50 เท่าแล้วก็ตาม สำหรับปลาได้ตรวจแยกเครื่องใน กับเนื้อ สำหรับการตรวจน้ำพบค่าความเป็น กรด-ด่าง (pH) ของน้ำในสระในวันที่ 2,3 และ 4 มกราคม 2541 มีค่า 7.7, 7.9 และ 7.5 ตามลำดับ (pH ปกติ=6.5-9.0)
จากการผ่าซากสุนัขที่ตายทั้ง 2 ตัว ตรวจไม่พบการติดเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้ากระเพาะอาหารมีลักษณะเป็นปกติ ไม่มีเศษอาหารในกระเพาะ และตรวจไม่พบสารกำจัดแมลง นิโคติน โรติโนน และสารสตริคนินในน้ำล้างกระเพาะและตับสุนัข
นสพ. ดร.จิรศักดิ์ ตั้งตรงไพโรจน์ ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยโรคสัตว์น้ำคณะสัตว์แพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของทีมงานได้เข้าร่วมดำเนินการเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2541 เวลา 8.30 น. โดยตรวจสอบคุณภาพน้ำ 3 จุด พบค่า DO 0.15-0.25 ppm เป็นค่าที่ต่ำกว่ามาตรฐานน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาน้ำจืด ซึ่งควรจะมีค่าไม่ต่ำกว่า 5 ppm เป็นค่าที่ต่ำกว่ามาตรฐานน้ำที่ใช้เลี้ยงปลาน้ำจืด ซึ่งควรจะมีค่าไม่ต่ำกว่า 5 ppm สำหรับการวัดค่า แอมโมเนีย (NH3) พบว่ามีค่าสูงประมาณ 0.488-0.1708 ppm นอกจากนี้ยังได้ตัวอย่างปลาหลายชนิดไปตรวจวิเคราะห์ทางจุลวิทยาซึ่งจะได้ยืนยันสาเหตุการตายของปลาได้ชัดเจนยิ่งขึ้น จะทราบผลในวันศุกร์ที่ 9 มกราคม 2541--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ