กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จัดงาน “เครือข่ายเข้มแข็ง ผนึกกำลังพัฒนาผู้บริโภค” มอบรางวัลให้กับ 12 เครือข่ายพัฒนาพฤติกรรมผู้บริโภคดีเด่นทั่วประเทศ หวังสร้างการตื่นตัวทุกภาคส่วนในการดำเนินงาน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพมากขึ้น
๒๒ สิงหาคม ๒๕๕๖ เวลา 10.00 น. ณ ห้องเมจิก 2 โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น นายแพทย์ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เป็นประธานในพิธีมอบรางวัลแก่เครือข่ายบริการที่มีผลงานโครงการดีเด่น จำนวน 12 เครือข่ายพัฒนาพฤติกรรมผู้บริโภคดีเด่นทั่วประเทศ โดยมีนายวีระชัย นลวชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ข้าราชการ องค์กรและเครือข่ายบริการทั่วประเทศเข้าร่วมกว่า 100 คน
นายแพทย์ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่าปัจจุบันตลาดผลิตภัณฑ์สุขภาพมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพที่ได้มาตรฐานและไม่ได้มาตรฐาน ดังนั้นเพื่อส่งเสริมให้ผู้บริโภคได้ใช้ผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ดีและปลอดภัยต่อสุขภาพ จะต้องเร่งดำเนินงาน เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่นการควบคุมคุณภาพมาตรฐานของผลิตภัณฑ์ การติดตามตรวจสอบ เฝ้าระวังให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายมีการปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายที่รับผิดชอบมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารความรู้ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้บริโภคให้สามารถดูแลตนเองในการเลือกซื้อเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ปลอดภัย แต่ด้วยข้อจำกัดทางด้าน บุคลากรและงบประมาณ จึงทำให้มาตรการต่างๆ ประสบผลสำเร็จในระดับหนี่งเท่านั้น ไม่สามารถลงลึกถึงระดับพื้นที่ห่างไกล
ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ อย.จึงได้กำหนดแนวทางการบริหารงาน โดยมุ่งพัฒนากลไกการทำงานและประสานงานอย่างใกล้ชิด ระหว่างสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด กับภาคีเครือข่าย อาทิ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ โรงพยาบาลชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุข ฯลฯ รวมทั้งพัฒนาเสริมสร้างความเข้มแข็งและดำเนินงานร่วมกันขององค์กรที่ดำเนินงานด้านผู้บริโภคในพื้นที่ อาทิ เครือข่าย อย.น้อย เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค อาสาสมัครสาธารณสุข ที่จะช่วยให้การดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างครอบคลุม ที่จะช่วยให้ประชาชนเลือกซื้อเลือกบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างเหมาะสม
เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)กล่าวต่อว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 อย.ได้กำหนด แนวทางการรณรงค์ให้ความรู้หรือสร้างพฤติกรรม การบริโภคผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ดี โดยได้มีการคัดเลือก โครงการดีเด่นจากเครือข่ายบริการทั่วประเทศ เพื่อมอบรางวัลแก่หน่วยงานที่ดำเนินการได้ผลเป็นที่ประจักษ์ เพื่อเป็นต้นแบบการดำเนินงานในการคุ้มครองผู้บริโภคของแต่ละพื้นที่ต่อไป
นายวีระชัย นลวชัย ผู้อำนวยการกองพัฒนาศักยภาพผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า โครงการที่ได้รับรางวัลครั้งนี้ จะเป็นเครือข่ายบริการที่มีความเข้มแข็ง ในการให้ความรู้ ความเข้าใจและ เฝ้าระวังเกี่ยวกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่เหมาะสมกับสภาพความเป็นอยู่ของชุมชน และสอดคล้องกับปัญหา ในชุมชนนั้นๆ สำหรับเครือข่ายบริการที่ได้รับรางวัลโครงการพัฒนาพฤติกรรมผู้บริโภคดีเด่นมีจำนวนทั้งสิ้น 12 โครงการ ซึ่งเครือข่ายบริการที่ได้รับรางวัล คือ
๑. โครงการอาสา...ปลอดภัย ใส่ใจ “ยาชุด” ตำบลหนองแขม อำเภอโคกสำโรง จังหวัดลพบุรี เป็นโครงการพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครสาธารณสุขในการตรวจสอบและเฝ้าระวังการจำหน่ายยาชุดในชุมชน
๒. โครงการ “สวยใสอย่างปลอดภัย ไร้สารอันตราย “ เครือข่าย คบส. ตำบลแม่เมาะ อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง เป็นการรณรงค์ลดปัญหาจากการมีเครื่องสำอางที่อาจมีสารห้ามใช้ที่จำหน่ายในเขตตำบลแม่เมาะ และ ให้ประชาชนมีความรู้ในการเลือกใช้เครื่องสำอางอย่างปลอดภัย
๓. โครงการ “คนอุทัยฯ ใส่ใจไม่ใช้น้ำมันทอดซ้ำ” เทศบาลตำบลสว่างอารมณ์ อำเภอสว่างอารมณ์ จังหวัดอุทัยธานี เพื่อสร้างความตระหนักและมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและยาปลอม
๔. โครงการ “การจัดการความเสี่ยงจากการใช้ยา” เครือข่ายดาวดึงษ์ อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อให้เครือข่ายชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการความเสี่ยงจากการใช้ยาของผู้ป่วยโรคเรื้อรังได้ถูกต้อง
๕. โครงการ“ จับผิด พิชิตฉลากปลอม ” รพ.สต.บางสระเก้า อำเภอแหลมสิงห์ จังหวัดจันทบุรี เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ในการอ่านฉลากและเลือกผลิตภัณฑ์สุขภาพในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ประชาชนได้มีการสอดส่องดูแลผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ถูกต้องเช่น การอ่านฉลาก การพิจารณาโฆษณาที่โอ้อวดเกินจริง
๖. โครงการ “นวัตกรรมหมอลำพื้นบ้านคุ้มครองผู้บริโภค”รพ.สต.โคกงาม อำเภอบ้านฝาง จังหวัดขอนแก่น เพื่อเพิ่มช่องทางของการสื่อสารประชาสัมพันธ์ โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลสุขภาพของตนเอง ส่งเสริมชุมชนพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน
๗. โครงการ “นักวิทย์ชุมชนนาวัง เฝ้าระวังและคุ้มครองผู้บริโภค ” เครือข่ายบริการสุขภาพอำเภอนาวัง จังหวัดหนองบัวลำภู เพื่อเฝ้าระวังคุณภาพความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์สุขภาพและคุ้มครองผู้บริโภค และเกษตรกร โดยจัดตั้งศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์สุขภาพระดับอำเภอ ตำบล เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการมีส่วนร่วมในชุมชนสำหรับการดูแลสุขภาพด้านคุ้มครองผู้บริโภค
๘. โครงการ Primary GMP สู่ AEC คปสอ.นารอง จ.บุรีรัมย์ โดยรณรงค์ให้สถานประกอบการกลุ่มอาหารที่ต้องปฏิบัติตาม Primary GMP ให้เป็นตามมาตรฐานที่กำหนด
๙. โครงการ : ผู้นำชุมชน พลังขับเคลื่อนงาน คบส. คปสอ.โนนคูณ อำเภอโนนคูณ จังหวัดศรีสะเกษ ผู้นำชุมชนมีบทบาทในการนำชุมชนดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุขและการส่งเสริมสุขภาพ
๑๐. โครงการ : ตู้ยาแลกใจในชุมชน เครือข่าย โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบางติบ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา ดำเนินการเพิ่มช่องทางในการเข้าถึงบริการยาสามัญประจำบ้าน โดยให้บริการยืมยาสำหรับประชาชนกรณีเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือเจ็บป่วยฉุกเฉิน
๑๑. โครงการ : เครือข่ายเข้มแข็ง คุ้มครองทุกพื้นที่ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอพิชัย จังหวัดอุตรดิตถ์ ดำเนินการด้วยการจัดตั้งเครือข่ายชมรมคุ้มครองผู้บริโภค และอบรมความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ถูกต้องและสิทธิผู้บริโภค ให้กับสมาชิกชมรมคุ้มครองผู้บริโภค ร้านค้าผู้จำหน่าย ภาคีเครือข่าย เช่น อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) และ นักเรียนแกนนำ อย.น้อย
๑๒. โครงการ “อสม.สายตรวจ บิวตี้ เซฟตี้” เครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภค อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง โดยจัดอบรมเชิงปฏิบัติการแก่ อสม.สายตรวจบิวตี้เซฟตี้ เพื่อฝึกความเชี่ยวชาญด้านเครื่องสำอาง และการใช้เครื่องมือ ในการสำรวจปัญหาการใช้เครื่องสำอางในชุมชน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และกำหนดแนวทางการแก้ไข
ติดต่อ:
ฝ่ายประชาสัมพันธ์
025541757