สคร.7 เผย ยังไม่พบหวัดนกสายพันธุ์(H7N9) ที่ระบาดในจีน พร้อมเฝ้าจับตาทุกพื้นที่

ข่าวทั่วไป Monday September 9, 2013 13:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี (สคร.7) เผยสถานการณ์ไข้หวัดนกในเขตอีสานใต้ ไม่น่าห่วงยังไม่พบเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์(H7N9) ที่ระบาดในจีน พร้อมเฝ้าจับตาทุกพื้นที่ เตือนเกษตรกรที่เลี้ยงสัตว์ปีก หากมีสัตว์ป่วย ตาย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที อย่าด่วนสรุปเอง นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี เปิดเผยถึงสถานการณ์ไข้หวัดนกสายพันธุ์ เอช 7 เอ็น 9 (H7N9) ซึ่งกำลังระบาดที่สาธารณรัฐประชาชนจีนว่า เป็นการติดต่อที่เกิดระหว่างสัตว์ปีก สู่คนทำให้มีคนป่วยเสียชีวิตเป็นครั้งแรก ซึ่งการติดเชื้อดังกล่าวยังไม่ระบุแน่ชัดว่าเป็นการติดต่อจากคนสู่คนหรือไม่ นายแพทย์ศรายุธ กล่าวต่อว่า จากข้อมูลด้านระบาดวิทยาในพื้นที่รับผิดชอบ 7 จังหวัดภาคอีสาน ยังไม่พบการระบาดของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ เอช 7 เอ็น 9 (H7N9) แต่อย่างใด แต่เพื่อความไม่ประมาทก็ได้มีการสั่งให้เจ้าหน้าสาธารณสุข และ อสม. ในแต่ละพื้นที่เฝ้าระวังป้องกันโรค เพราะหลังจากที่มีการระบาดของเชื้อในประเทศจีน ก็ทำให้หลายฝ่ายเกรงว่าจะมีการระบาดรุกลามไปสู่ประเทศอื่น สำหรับอาการผู้ติดเชื้อ ส่วนใหญ่คือปอดอักเสบ มีไข้สูงเฉียบพลัน ไอและติดเชื้อระบบทางเดินหายใจ จากนั้น 5-7 วัน ปอดจะอักเสบรุนแรง หายใจลำบาก อาจพัฒนาไปสู่กลุ่มอาการทางเดินหายใจลำบากเฉียบพลันอย่างรวดเร็วและเสีย ชีวิตในที่สุด อย่างไรก็ตาม แม้ยังไม่พบเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H7N9 ในประเทศไทย สคร.7 ก็ไม่ได้ประมาทเตรียมความพร้อมรับมืออย่างเข้มงวด โดยเน้นความเข้มข้นในการคัดกรองผู้ที่มีความเสี่ยงจากการข้ามด่านพรมแดนประเทศเพื่อนบ้านและการขนย้ายสัตว์ปีกในพื้นที่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการควบคุมและเฝ้าระวังโรคติดต่ออุบัติใหม่ต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพของผู้ค้าสัตว์ปีกและประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ ได้ขอความร่วมมือประชาชนหากพบว่ามีการตายของสัตว์ปีก ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ทันที อย่าพึ่งสรุปสาเหตุการตายเอาเอง หรือนำซากไก่มาชำแหละเพื่อจำหน่าย หรือรับประทาน หากมีอาการเป็นไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และเคยสัมผัสสัตว์ปีกให้รีบไปพบแพทย์ หรือสอบถามสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง /นพ.ศรายุธ กล่าว.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ