4 ปัจจัยความสำเร็จคอมมูนิตี้มอลล์ ต้นแบบสร้าง “พอร์โต้ ชิโน่”

ข่าวทั่วไป Monday September 9, 2013 16:47 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ก.ย.--มิกซ์ แอนด์ แมทซ์ คอมมิวนิเคชั่นส์ ตลอดระยะเวลา 5-6 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ ในรูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์ ได้รับกระแสความนิยมจากผู้ประกอบการจำนวนมาก เห็นได้จากการประกาศแผนการลงทุนของผู้ประกอบการทั้งหน้าเก่าและหน้าใหม่ ทั้งที่อยู่ในวงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และนอกวงการ รวมถึงกลุ่มทุนทั้งในและต่างประเทศที่พร้อมใจกันกระโดดเข้ามาในสมรภูมินี้กันอย่างต่อเนื่อง ทำให้คาดว่าปัจจุบันจะมีโครงการในรูปแบบคอมมูนิตี้มอลล์ไม่ต่ำกว่า 100 แห่ง ที่เปิดให้บริการอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ขณะที่แนวโน้มในอนาคตยังจะมีการเปิดพื้นที่เพิ่มออกมากันอย่างต่อเนื่องด้วย โดยมีการรายงานข่าวออกมาว่า เฉพาะภายในสิ้นปี 2556 นี้ จะมีโครงการที่ทยอยก่อสร้างแล้วเสร็จรวมไม่ต่ำกว่า 2.84 แสนตารางเมตร ซึ่งหากรวมกับโครงการที่เปิดให้บริการมาก่อนหน้าแล้ว การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทคอมมูนิตี้มอลล์ก็จะมีมากกว่า 8.56 แสนตารางเมตร แซงหน้าพื้นที่ของไฮเปอร์มาร์เก็ตที่มีพื้นที่รวมกว่า 8.11 แสนตารางเมตร ถือเป็นการพัฒนาโครงการเชิงพาณิชย์ที่มาแรงแซงโค้งในยุคปัจจุบันเลยทีเดียวก็ว่าได้ ++ 4 ปัจจัยความสำเร็จ สุเทพ ปัญญาสาคร กรรมการบริหาร บริษัท ดี-แลนด์ กรุ๊ป จำกัด ผู้นำในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในพื้นที่กรุงเทพฯ ตอนใต้ พระราม 2 และจังหวัดสมุทรสาคร และผู้บริหารโครงการ ไลฟ์สไตล์มอลล์ “พอร์โต้ ชิโน่” บนถนนพระราม 2 ได้วิเคราะห์ถึงการพัฒนาโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ว่า ปัจจัยความสำเร็จของการพัฒนาโครงการประเภทคอมมูนิตี้มอลล์นั้น ต้องประกอบไปด้วย 4 ปัจจัย สำคัญ ได้แก่ 1. ทำเลที่ตั้ง และขนาดของชุมชนรอบข้าง ซึ่งจะต้องตั้งอยู่บนพื้นที่ติดถนนใหญ่ หรือถนนที่เดินทางได้สะดวก และชุมชนรอบข้างจะต้องมีจำนวนหรือขนาดที่มากเพียงพอ โดยพิจารณาทั้งจากพื้นที่ใกล้กับที่อยู่อาศัย สถาบันการศึกษา รวมถึงสถานที่ทำงานต่างๆ 2. รูปแบบของโครงการหรือแนวคิดในการพัฒนา จะต้องมีรูปแบบที่ชัดเจน โดดเด่นและแตกต่างจากโครงการทั่วไป เป็นรูปแบบเฉพาะตัวของแต่ละโครงการ รวมถึงการวางรูปแบบของโครงการที่จะต้องมีสัดส่วนของร้านค้า และพื้นที่ที่เหมาะสม ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการที่ลูกค้าจะมาใช้บริการได้อย่างสะดวกสบาย และครบความต้องการของลูกค้า ประการที่ 3. การเลือกกลุ่มธุรกิจ และร้านค้า ที่จะเข้ามาอยู่ในโครงการ ซึ่งจะต้องเน้นทั้งคุณภาพ ภาพลักษณ์โดยรวมที่จะต้องสอดคล้องกับภาพลักษณ์หรือรูปแบบของโครงการ และนำมาสู่การเป็นแม่เหล็ก (Magnet) ในการดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย รวมถึงสิ่งที่สำคัญที่สุดคือความต้องการและไลฟ์สไตล์ของกลุ่มเป้าหมายที่จะมาใช้บริการ และประการสุดท้าย ศักยภาพของเจ้าของโครงการ ซึ่งนอกเหนือจากเงินทุนที่มีมากพอในการบริหารโครงการให้แล้วเสร็จ จะต้องมีความสามารถในด้านการบริหารโครงการ ให้มีกิจกรรมทางการตลาดต่างๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ เนื่องจากปริมาณร้านค้าของโครงการคอมมูนิตี้มอลล์จะมีไม่มาก การจัดกิจกรรมทางการตลาดจะเป็นหนึ่งในปัจจัยที่จะดึงให้เกิดการเข้ามาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง และเกิด Brand loyalty ในที่สุด นอกจากนั้นความตั้งใจจริงในการบริหารโครงการของเจ้าของโครงการ บวกกับทีมงานที่มีศักยภาพก็จะเป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จในธุรกิจนี้อย่างแน่นอน ++ แนวโน้มอนาคต สุเทพ ยังประเมินสถานการณ์ของการพัฒนาโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ในอนาคตว่า ยังคงมีผู้ประกอบการที่สนใจพัฒนาโครงการดังกล่าวออกมา โดยเฉพาะพื้นที่ชานเมือง และจังหวัดปริมณฑลรอบกรุงเทพฯ เพื่อรองรับกับการขยายตัวของตลาดที่อยู่อาศัยและชุมชนที่เกิดใหม่ ที่จะต้องมีสถานที่ในการรองรับกับการใช้ชีวิตของผู้อยู่อาศัยในชุมชน ประกอบกับความสำเร็จของโครงการคอมมูนิตี้มอลล์หลายแห่ง ล้วนแต่เป็นเครื่องยืนยันว่ากลุ่มผู้บริโภคมีความต้องการที่จะใช้บริการกับโครงการในลักษณะดังกล่าวด้วย ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ มองเห็นว่าเป็นโอกาสทางการตลาดที่จะพัฒนาโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ออกมารองรับ ขณะที่ปัจจุบันหลายบริษัทก็ให้ความสำคัญกับการเติบโตแบบมั่นคง ซึ่งการลงทุนธุรกิจในรูปแบบพื้นที่ให้เช่า ก็สามารถตอบโจทย์ทางธุรกิจที่ทำให้องค์กรมีรายได้เข้ามาอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากรายได้ที่เกิดจากโครงการพัฒนาเพื่อขายเพียงอย่างเดียวด้วย แม้ว่าโครงการคอมมูนิตี้มอลล์ อาจจะต้องใช้ระยะเวลาการคืนทุนไม่ต่ำกว่า 5-8 ปี ก็ตาม “บริษัทฯ มีแนวคิดที่จะเปิดคอมมูนิตี้มอลล์มานานกว่า 10 ปี แล้ว จากการศึกษาโครงการประเภทนี้ซึ่งได้รับความนิยมในต่างประเทศมานานแล้ว แต่ในช่วงนั้นอาจจะยังไม่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของกลุ่มผู้บริโภคในเมืองไทย จนกระทั้งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา บริษัทฯ เห็นว่าสังคมไทยค่อนข้างมีความพร้อม เราจึงเริ่มพัฒนาโครงการโดยการศึกษาความต้องการของคนในพื้นที่ และนักท่องเที่ยวอย่างละเอียด และนำมาสู่การออกแบบโครงการที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นของความเป็นเมืองท่าจีน ในอดีตของสมุทรสาคร จึงเป็นที่มาของชื่อโครงการซึ่งมาจากคำว่า Port และ China นั้นเอง สำหรับทำเลพื้นที่บนถนนพระราม 2 จนถึงจังหวัดสมุทรสาคร ถือเป็นพื้นที่ศักยภาพที่เป็นแหล่งงานสำคัญที่มี GDP ติดอันดับต้นๆ ของประเทศ เพราะมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้นมาก ต่อมาก็มีการพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยรองรับกับจำนวนแรงงานที่เคลื่อนย้ายมาในพื้นที่ จนเกิดการลงทุนของศูนย์การค้าขนาดใหญ่ และห้างโมเดิร์นเทรดต่างๆ ตามมา แต่จากจำนวนคนที่มีอยู่อาศัยในพื้นที่มาก ประกอบกับพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของคนที่เปลี่ยนแปลงไป ต้องการความสะดวกสบาย และต้องการใช้ศูนย์การค้าในพื้นที่ใกล้บ้าน เพราะบางครั้งต้องการเพียงพักผ่อน และรับประทานอาหาร หรือซื้อของในซุปเปอร์มาเก็ต การพัฒนาคอมมูนิตี้มอลล์ก็เลยถูกพัฒนาออกมารองรับ ซึ่งเป็นแนวคิดเดียวกับ โครงการพอร์โต้ ชิโน่ ที่เห็นว่าจังหวัดสมุทรสาครยังไม่มีศูนย์การค้าที่จะให้คนในพื้นที่ รวมถึงนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และต่างชาติ และกลุ่มผู้คนที่เดินทางไปสู่ภาคใต้ได้ใช้บริการ อีกทั้งยังรองรับต่อไลฟ์สไตล์ของสมาชิกในใน โครงการพอร์โต้ วิลล่า ซึ่งเป็นโครงการที่เน้นกลุ่มเป้าหมายระดับ B+ ของบริษัทอีกด้วย” ++ 1 ปี แห่งความสำเร็จ สำหรับ ไลฟ์สไตล์มอลล์ พอร์โต้ ชิโน่ (Porto Chino) เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการมาตั้งแต่ปลายปี 2555 ซึ่งใกล้ครบรอบ 1 ปี แล้ว และได้รับความสนใจและการตอบรับที่ดีจากทั้งกลุ่มชุมชนในพื้นที่ นักท่องเที่ยวและนักเดินทาง โดยในปัจจุบันมีผู้ใช้บริการต่อวันก็มีมากถึงวันละ 6,000 คน เฉพาะวันเสาร์อาทิตย์ จะมีจำนวนผู้เข้ามาใช้บริการมากถึง 8,000 คนต่อวัน ขณะที่พื้นที่ร้านค้าเช่าก็ได้มีการปรับให้ตรงกับความต้องการของผู้มาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง โดยสัดส่วนของการจัดสรรพื้นที่โครงการออกเป็น 6 โซน ประกอบด้วยร้านค้าจำนวนกว่า 200 ร้านค้า ทั้ง โซนอาหารและเครื่องดื่ม ที่มีแบรนด์ชั้นนำอย่าง Starbucks Drive — Thru แห่งแรกของประเทศไทย และล่าสุดกับมาตรฐาน “ร้านกาแฟสีเขียว” ด้วยการเป็นร้านแรกในภูมิภาคเอเชียที่ได้รับการรับรอง LEED ในระดับโกลด์ , McDonald Drive-Thru, MK, The Pizza Company, S&P, ภัตตาคารอาหารญี่ปุ่น ฟูจิ เป็นต้น โซนซูเปอร์มาร์เก็ต ที่มี ฟู๊ดแลนด์ ซูเปอร์มาร์เก็ต โซนสุขภาพและความงาม อาทิ Pruksa Clinic, Medi-Sci by Dr Atchima โซนบริการและธุรกรรมต่างๆ ที่โดดเด่นด้วยร้านแก็ดเจ็ทขนาดใหญ่สำหรับคนรัก apple อย่าง, iBeat by copperwired และสถาบันการเงินต่างๆ นำโดย ธนาคารไทยพาณิชย์ กสิกรไทย กรุงไทย และTMB เป็นต้น โซนการศึกษา ที่ครบศักยภาพด้วยสถาบันกวดวิชาชั้นนำ และโรงเรียนดนตรี และ โซนแฟชั่น นอกจากนั้นเนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี ที่จะถึงนี้ บริษัทฯ ได้เตรียมปรับปรุงพื้นที่ในโซนแฟชั่นซึ่งมีเนื้อที่กว่า 500 ตรม. ให้เป็นศูนย์อาหารที่รวมเอาเมนูระดับเซลล์ชวนชิมและมีชื่อเสียงของจังหวัดสมุทรสาคร และพื้นที่ใกล้เคียงกว่า 15 ร้าน อาทิ ร้านก๋วยเตี๋ยวเจ๊แกละ, ผัดไทเสวย, ร้านตำหนักน้ำ รวมทั้งขนมหวานขึ้นชื่อ อย่าง ลอดช่องวัดเจษ ขนมถ้วย เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้มีโอกาสได้ลิ้มรสอาหารรสเด็ด ได้ในบรรยากาศเมืองท่า โดยคาดว่าจะเปิดให้บริการภายในเดือนตุลาคมศกนี้“ ความสำเร็จของ “พอร์โต้ ชิโน่” ในวันนี้ ตอกย้ำด้วยภาพลักษณ์ของการเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของจังหวัดสมุทรสาคร ที่อดีตนักท่องเที่ยวหรือผู้คนที่ผ่านไปมาจดจำภาพของ “มหาชัย” แต่ในวันนี้ทุกคนจดจำ “พอร์โต้ ชิโน่” ได้เป็นอย่างดี ว่าเป็นเสมือนสัญลักษณ์ของการเดินทางมาถึงจังหวัดสมุทรสาคร และเป็นจุดนัดพบแห่งใหม่ที่คนในพื้นที่และนักเดินทางท่องเที่ยวจะต้องแวะไปเยือนอย่างแน่นอน.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ