สำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานการเปลี่ยนแปลงของประชากรและภาวะเจริญพันธ์

ข่าวทั่วไป Wednesday October 15, 1997 08:45 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--15 ต.ค.--สำนักงานสถิติแห่งชาติ
สำนักงานสถิติแห่งชาติได้ทำการสำรวจการเปลี่ยนแปลงของประชากรปี 2539 พบว่าอัตราการเกิดของประชากรในประเทศไทยประมาณ 17.9 ต่อประชากรพันคน และอัตราตาย ประมาณ 6.0 ต่อประชากรพันคน และผู้หญิงหนึ่งคนจะมีลูกโดยเฉลี่ย 2 คน โดยผู้หญิงในเมืองมีลูกโดยเฉลี่ยสูงกว่าผู้หญิงในชนบท นอกจากนี้เมื่อพิจารณาในเรื่องของการตายของทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบว่า อัตราตายของทารกลดลงเหลือ 26.1 ต่อเด็กเกิดมีชีพ 1,000 คน และอัตราตายของทารกเพศชายสูงกว่าทารกเพศหญิงเล็กน้อย (26.7 ต่อ 256.4) อัตราตายของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เท่ากับ 31.4 ต่อเด็กเกิดมีชีพ 1,000 คน และผลจากการสำรวจครั้งนี้ยังสามารถคำนวณอายุขัยเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของประชากรได้ว่าคนไทยมีอายุยืนขึ้น ผู้ชายไทยมีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 69.9 ปี ผู้หญิงไทยมีอายุขัยเฉลี่ยประมาณ 74.9 ปีจะเห็นว่าผู้หญิงไทยมีอายุยืนกว่าผู้ชาย 5 ปี
จากรายงานการสำรวจภาวะเจริญพันธุ์ในปีเดียวกัน พบว่าปัจจุบันหญิงไทยีอายุแต่งงานครั้งแรกเฉลี่ยระหว่าง 20-22 ปี อายุเมื่อคลอดบุตรคนแรกเฉลี่ย 22 ปี สำหรับจำนวนบุตรที่ต้องการในแต่ละภาคเฉลี่ย 2 คน ยกเว้นภาคใต้เฉลี่ย 3 คน
การใช้บริการอนามัยแม่และเด็ก พบว่าหญิงตั้งครรภ์ไปฝากครรภ์ร้อยละ 95 มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่ไม่ฝากครรภ์ สำหรับสถานที่ที่ไปฝากครรภ์นั้น ฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลของรัฐบาลร้อยละ 57.5 และฝากครรภ์ที่สถานีอนามัยร้อยละ 32 แต่ถึงเวลาคลอดบุตรสตรีส่วนใหญ่ร้อยละ 82 จะไปคลอดบุตรที่โรงพยาบาลของรัฐบาล มีเพียงร้อยละ 7.8 ที่คลอดบุตรที่บ้าน
ในเรื่องการทำคลอด พบว่าร้อยละ 86.3 ทำคลอดโดยแพทย์และพยาบาล ร้อยละ 6.5 ทำคลอดโดยผดุงครรภ์แผนปัจจุบัน และร้อยละ 5.6 ทำคลอดโดยผดุงครรภ์โบราณ (หมอตำแย) ที่ผ่านการอบรม โดยภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือทำคลอดโดยผดุงครรภ์โบราณมากกว่าภาคอื่น (ร้อยละ 15.9 และร้อยละ 8 ตามลำดับ)
การเลี้ยงดูบุตรด้วยนมมารดา พบว่า มารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมตนเองมีถึงร้อยละ 95.7 โดยเลี้ยงนานเฉลี่ยถึงประมาณ 8 เดือน ทั้งนี้แม่ที่อยู่ในเมื่องมีระยะเวลาเลี้ยงลูกด้วยนมตนเองน้อยกว่าแม่ที่อยู่ในชนบท คือเฉลี่ยประมาณ 6 เดือน และ 9 เดือน ตามลำดับ
สอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการกรม โทร. 281-8606, 281-0333 ต่อ 1123, 1124--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ