สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ประจำสัปดาห์ 2-6 ก.ย. 56 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 9-13 ก.ย. 56

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 10, 2013 12:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--ปตท. ฝ่ายกลยุทธ์และแผนธุรกิจ หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์น้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ราคาน้ำมันดิบ เบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 1.09 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 115.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเวสท์ เท็กซัสฯ (WTI) เพิ่มขึ้น 0.37 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 108.67 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง 0.60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 109.99 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซิน 95 เพิ่มขึ้น 1.74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 121.43 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 125.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ ได้แก่ ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก - คณะกรรมาธิการด้านความสัมพันธ์ต่างประเทศของสภาสหรัฐฯมีมติผ่านให้ใช้กำลังทางทหารกับซีเรียได้ เปิดทางให้ไปมีการพิจารณาออกเสียงในสภา Congress ต่อ ทั้งนี้นายบารัค โอบามา ออกมายืนยันว่าสหรัฐฯ จะตอบโต้การใช้อาวุธเคมีของซีเรียอย่างมีขอบเขต โดยจะไม่ส่งทหารภาคพื้นดิน และจะมีระยะเวลาปฏิบัติการทางการทหารจะอยู่ในกรอบ 60 วัน - Energy Information Administration (EIA) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ส.ค. 56 ลดลง 1.8 ล้านบาร์เรล จากสัปดาห์ก่อนหน้า มาอยู่ที่ 360.2 ล้านบาร์เรล - National Oil Corp. (NOC) ของลิเบียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียล่าสุดอยู่ที่ระดับ 150,000 บาร์เรลต่อวัน เพราะการประท้วงซึ่งเริ่มต้นตั้งแต่เดือน เม.ย. 56 (ขณะนั้นผลิตที่ 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน) และดำเนินเรื่อยมาถึงปัจจุบัน การประท้วงที่ยืดเยื้อกระทบการส่งออกและรายรับของรัฐบาลเป็นจำนวนมาก - Reuters รายงานอัตราการผลิตน้ำมันและก๊าซของบราซิล เดือน ก.ค. 56 ปรับตัวลดลง 5.2% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 2.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เทียบเท่าน้ำมัน) เนื่องจากปัญหาด้านเทคนิคของแหล่งนอกชายฝั่งที่ผลิตน้ำมันดิบจากใต้ชั้นเกลือ (Sub-salt) และปัญหาแหล่งผลิตเก่ามีความสามารถในการผลิตลดลง - Reuters รายงานผู้ผลิตน้ำมันดิบในย่านทะเลเหนือเลื่อนการส่งออกน้ำมันดิบ 4 เที่ยวเรือออกไปจากเดือน ก.ย. 56 เป็นในช่วงเดือน ต.ค. 56 แทน เนื่องจากอัตราการผลิตชจากแหล่ง Forties ต่ำกว่าที่คาดการณ์ - สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต (Manufacturing Purchasing Managers' Index: PMI) เดือน ส.ค. 56 เพิ่มขึ้น 0.7 จุด จากเดือนก่อนหน้า อยู่ที่ 51.0 จุด สูงสุดในรอบ 16 เดือน ขณะที่ HSBC/Markit รายงาน PMI เพิ่มขึ้น 2.4 จุด จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 50.1 จุด ปรับตัวสูงกว่าระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ถึงขยายตัว และเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือน ทั้งนี้ดัชนี PMI ของทางการบ่งชี้ถึงกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และรัฐวิสาหกิจ ขณะที่ HSBC/Markit PMI บ่งชี้ถึงกลุ่มธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจเอกชน ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ - กระทรวงพลังงานของรัสเซียรายงานอัตราการผลิตน้ำมันดิบเดือน ส.ค. 56 เพิ่มขึ้น 90,000 บาร์เรลต่อวัน จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 10.52 ล้านบาร์เรลต่อวัน - ประธานาธิบดีของซูดานและซูดานใต้บรรลุข้อตกลงเพื่อระงับกรณีพิพาททำให้การส่งออกน้ำมันดิบจากซูดานใต้ผ่านพรมแดนของซูดานจะกลับมาดำเนินการตามปกติ ซึ่งก่อนหน้านี้ ซูดานใต้ส่งออกน้ำมันได้เพียง 160,000 - 180,000 บาร์เรลต่อวัน จากกำลังการผลิตที่ 350,000 บาร์เรลต่อวัน - Reuters รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของซาอุดีอาระเบียในเดือน ส.ค. 56 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 10.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ - กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานยอดจ้างงานนอกภาคเกษตร (Non-Farm Payrolls) เดือน ส.ค. 56 เพิ่มขึ้น 169,000 รายจากเดือนก่อนหน้า ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ ขณะที่อัตราการว่างงานเดือน ส.ค. 56 ลดลง 0.1% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ 7.3% ต่ำสุดในรอบมากกว่า 4 ปีครึ่ง โดยมีสาเหตุมาจากจำนวนแรงงานที่เข้าสู่ตลาดแรงงานน้อยลง กระทั่งแตะระดับต่ำสุดในรอบ 35 ปี แนวโน้มราคาน้ำมัน ราคาปิดตลาดน้ำมันดิบ Brent และ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ติดต่อกัน โดยในวันศุกร์ที่ 6 มิ.ย. 56 โดย WTI ทะยานขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบกว่า 2 ปี ที่ $110.53/BBL เนื่องจากการเข้าซื้อเก็งกำไรนักลงทุน ด้วยเชื่อว่าราคาจะพุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรงหากการประชุมสภาคองเกรสของสหรัฐฯ มีมติรับรองข้อเสนอของประธานาธิบดีที่จะโจมตีซีเรีย หลังนายโอบามาได้โน้มน้าว ส.ส.พรรครีพับบลิกัน ซึ่งมีเสียงข้างมากในสภาคองเกรสด้วยการเสนอปฏิบัติการด้วยจรวดนำวิถี ในขอบเขตจำกัด ในกรอบระยะเวลา 60 วัน (ขยายเพิ่มได้เป็น 90 วัน ขึ้นกับสถานการณ์) พร้อมเน้นย้ำว่าจะไม่ปฏิบัติการภาคพื้นดิน ทั้งนี้ในการประชุมสุดยอดของผู้นำประเทศเศรษฐกิจชั้นนำของโลก (G20) สหรัฐฯ ถูกรัสเซีย จีน สหภาพยุโรป และกลุ่มประเทศกำลังพัฒนากดดันไม่ให้สหรัฐฯ โจมตีซีเรีย ซึ่งก่อนหน้านี้ รัสเซียในฐานะสมาชิกถาวรของสหประชาชาติได้ยื่นวีโต้เพื่อยับยั้งการขอทำสงครามของสหรัฐฯแล้ว ล่าสุดรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ นาย John Kerry กล่าวแถลงว่าสหรัฐฯ ให้ทางเลือกแก่รัฐบาลซีเรียในการส่งมอบอาวุธเคมีให้องค์กรนานาชาติเข้ามาดูแล เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงสงครามหากไม่ต้องการให้สหรัฐฯ ใช้กำลังทางการทหารเข้าโจมตีตามข้อเสนอของรัสเซีย ซึ่งประธานาธิบดี Obama กล่าวถึงข้อเสนอดังกล่าวว่า "เป็นการผ่าทางตันที่มีนัยสำคัญ" ทั้งนี้ทางฝ่ายของประธานาธิบดี Bashar al-Assad ของซีเรียรู้สึกพอใจกับข้อเสนอดังกล่าว นอกจากนั้นด้านกำลังการผลิตในลิเบียอยู่ที่ระดับ 150,000 — 200,000 บาร์เรลต่อวัน จากระดับการผลิตที่ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งยังได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ประท้วงตามท่าส่งออก สำหรับแนวโน้มความเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันทางเทคนิคในสัปดาห์นี้น้ำมันดิบ Brent อยู่ที่ 113.26-119.09 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล น้ำมันดิบ WTI อยู่ที่ 106.5-112.50 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล และน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ 106.53-112.36 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก กอปรกับอุปทานน้ำมันเบนซินในตลาดเอเชียตึงตัว หลังบริษัท Formosa ของไต้หวันมีแผนงดส่งออกน้ำมันเบนซินในช่วงเดือน ต.ค. 56 เนื่องจากโรงกลั่น Mailiao (540,000 บาร์เรลต่อวัน) และหน่วย Residue Fluid Catalytic Cracker (RFCC: 84,000 บาร์เรลต่อวัน) ประสบปัญหาขัดข้องทางเทคนิค ส่งผลให้ต้องลดระดับการกลั่น รวมถึงโรงกลั่น Melaka 2 (162,000 บาร์รเลต่อวัน) ในมาเลเซียต้องลดกำลังการกลั่นเช่นกัน เนื่องจากเกิดเหตุเพลิงไหม้ ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซินจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 117.70-123.53 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีความต้องการในตลาดยุโรปสูง เนื่องจากโรงกลั่นในภูมิภาคยุโรปเริ่มปิดซ่อมบำรุงภายหลังสิ้นสุดฤดูร้อน อีกทั้งโรงกลั่นในรัสเซียก็อยู่ในช่วงปิดซ่อมบำรุง รวมถึงโรงกลั่นในลิเบียที่ปิดเนื่องจากเหตุการณ์ประท้วง ล้วนส่งผลให้ผู้ค้าส่งน้ำมันดีเซลในภูมิภาคเอเชียไปขายในตลาดยุโรป จึงส่งผลให้ตลาดเอเชียมีอุปทานน้ำมันดีเซลลดลง ในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซลจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 122.19-128.02 เหรียญสหรัฐฯ/ บาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ