กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--ไอแบงก์
เมื่อเร็วๆนี้ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกับสหกรณ์อิสลามกว่า 20 แห่ง ทั่วประเทศ เพื่อร่วมเป็นพันธมิตรในการดำเนินงาน ทั้งการเป็นฐานเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ลูกค้ามุสลิม-รายย่อย และแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการเงินอิสลามร่วมกัน พร้อมชูวิสัยทัศน์สร้างองค์ความรู้ด้านการเงินตามหลักชะรีอะฮ์ในชุมชน
ธนาคารอิสลามฯ นำโดย นายธงรบ ด่านอำไพ กรรมการและรักษาการผู้จัดการธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทยและสหกรณ์อิสลาม โดยมี ผศ.ดร.วรวิทย์ บารู ประธานเครือข่ายสหกรณ์อิสลาม ร่วมลงนามในครั้งนี้
นายธงรบ ด่านอำไพ เปิดเผยว่า ธนาคารอิสลามฯ ในฐานะสถาบันการเงินของรัฐเพียงแห่งเดียวที่ให้บริการด้านธุรกรรมตามหลักการศาสนาอิสลามอย่างเต็มรูปแบบ มีความพร้อมที่จะสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์อิสลามทั่วประเทศ ซึ่งเป็นสถาบันการเงินระดับชุมชนที่ส่งเสริมให้คนในชุมชนรู้จักการออมเงินและทำให้คนในชุมชนมีความรู้ความเข้าใจในระบบธุรกรรมตามหลักชะรีอะฮ์ โดยธนาคารจะให้การสนับสนุนเงินทุนหมุนเวียนแก่สหกรณ์อิสลาม รวมถึงจะจัดให้มีการอบรมและถ่ายทอดความรู้ด้านการเงิน การธนาคารและการบริหารกิจการอย่างเป็นระบบ ในขณะเดียวกันธนาคารก็จะแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านความต้องการของลูกค้ารายย่อยในชุมชน เพื่อนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าของธนาคารต่อไป ซึ่งในวันนี้ธนาคารได้ทำภารกิจ ในการสร้างความร่วมมือกับสถาบันการเงินระดับชุมชนสำเร็จลุล่วงแล้ว เพื่อความร่วมมือในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน และเป็นแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ รวมถึงเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
นอกจากนี้ ธนาคารกำลังเร่งพัฒนาร้านค้าต้นแบบในนาม iShop ซึ่งจะเป็นช่องทางในการระบายสินค้าที่ฮาลาล (ถูกต้องตามหลักการศาสนาอิสลาม) ในชุมชน เพื่อส่งเสริมให้พี่น้องมุสลิมและผู้ประกอบรายย่อยมีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ มีการวางแผนการตลาด การจัดโปรโมชั่น การบริหารสินค้าคงคลัง รวมถึงบริหารทรัพยากรบุคคล เพื่อเป็น Model ให้แก่ลูกค้าของธนาคาร ในการทำธุรกิจค้าปลีกหรือนำไปต่อยอดและพัฒนาธุรกิจของตนเอง โดยแผนการดำเนินงานของธนาคารในอนาคตนั้น ยังมุ่งเน้นให้เกิดความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง โดยจะจัดให้มีการลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ระหว่างธนาคารและมัสยิดกว่า 3,800 แห่งทั่วประเทศในอนาคต เพื่อการวางรากฐานความรู้ด้านการทำธุรกิจและการให้บริการด้านการเงินตามหลักชะรีอะฮ์ให้แก่คนในชุมชนอย่างเต็มรูปแบบ โดยใช้มัสยิดเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้
ปัจจุบันนี้ ธนาคารมีความพร้อมเต็มที่ ทั้งในด้านองค์ความรู้ บุคลากรและสภาพคล่องทางการเงินที่ดีขึ้นเป็นลำดับ จากพอร์ทเงินฝากที่เพิ่มขึ้นกว่าหมื่นล้านและตัวเลขหนี้เสียที่ลดลงกว่า 2 หมื่นล้าน ซึ่งภารกิจที่ต้องทำควบคู่กันนั้น คือการมุ่งเป็นธนาคารเพื่อพี่น้องมุสลิมและผู้ประกอบการรายย่อยอย่างแท้จริง ด้วยการร่วมมือกันส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนเพื่อพัฒนาสู่ระดับประเทศ และเตรียมพร้อมเพื่อการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของ AEC ในปี 2558 นี้