สธ.-มท. จัดซ้อมแผน 11 หน่วยงาน รับมือ “ไวรัส โคโรน่า” สายพันธุ์ใหม่

ข่าวทั่วไป Tuesday September 10, 2013 13:33 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--โฟร์ พี แอดส์ นายสุรชัย เบ้าจรรยา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2012 เกิดจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคในคนและสัตว์ มีความรุนแรงสูง ยังไม่มีวัคซีนป้องกันและยารักษาเฉพาะ เริ่มพบในคนครั้งแรกในเดือนเมษายน พ.ศ. 2555 โดยผู้ป่วยมีประวัติเดินทางไปในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง และสมาชิกในครอบครัวเดียวกันที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย จนถึงขณะนี้ยังหาสาเหตุการเกิดโรคไม่ได้ ยังไม่พบหลักฐานการติดต่อจากคนสู่คน สำหรับประเทศไทยแม้จะยังไม่พบผู้ป่วยโรคนี้ แต่มีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคนี้ในประเทศได้ จากการเดินทางท่องเที่ยว ทำงาน หรือประกอบพิธีฮัจญ์ในพื้นที่ตะวันออกกลาง โดยเฉพาะชาวไทยมุสลิมประมาณ 13,000 คน ที่จะเดินทางไปประเทศซาอุดิอาระเบีย เพื่อประกอบพิธีฮัจญ์ประจำปี 2556 ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานและสูงอายุ ที่จะเริ่มทยอยเดินทางวันที่ 7 กันยายน 2556 ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้วางระบบความพร้อมการดูแลป้องกันไว้อย่างเต็มที่ ทั้งก่อนไป ระหว่างประกอบพิธี และหลังเดินทางกลับมาในช่วงเดือนตุลาคมและพฤศจิกายน โดยได้ตรวจสุขภาพ ฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่และไข้กาฬหลังแอ่น ให้คำแนะนำการดูแลสุขภาพ แจกเจลล้างมือ หน้ากากอนามัย และส่งหน่วยแพทย์พยาบาลไทยไปให้การดูแลรักษาที่ประเทศซาอุดิอาระเบียจำนวน 3 ชุด รวม 42 คน นายสุรชัย กล่าวต่อว่าในรอบ 14 เดือนที่ผ่านมาทั่วโลกพบผู้ป่วยโรคโคโรน่าไวรัสแล้ว 108 รายใน 9 ประเทศเสียชีวิต 50 ราย แม้ไทยยังไม่พบผู้ป่วย แต่เพื่อความไม่ประมาทกระทรวงสาธารณสุขได้ร่วมกับกระทรวงมหาดไทย จัดฝึกซ้อมแผนระดับชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมผู้บริหารระดับสูงจาก 11 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สาธารณสุข เกษตรและสหกรณ์ มหาดไทย ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต่างประเทศ คมนาคม ศึกษาธิการ ท่องเที่ยวและกีฬา กรมประชาสัมพันธ์ และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ประมาณ 200 คน เพื่อรับมือการระบาดของโรคติดเชื้อโคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2012 โดยสมมุติสถานการณ์การระบาดในประเทศที่มีความรุนแรง เริ่มจากมีการติดเชื้อในคนและตรวจพบเชื้อในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เชื้อแพร่กระจายในวงกว้างและกระจายไปทั่วโลก เป็นการฝึกซ้อมแผนชนิดฝึกปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ สร้างความพร้อมกลไกการประสานสั่งการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การบริหารจัดการทรัพยากร การสื่อสารระหว่างหน่วยงานและประชาชนในภาวะวิกฤติ ด้าน นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าการจัดซ้อมรับมือโรคไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ในครั้งนี้ เพื่อให้เกิดความพร้อมในการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บ ไม่ประมาท และเป็นไปตามบทบาทหน้าที่แผนแห่งชาติ เพราะโรคบางโรคกระทรวงสาธารณสุขไม่สามารถป้องกันควบคุมโรคได้เพียงหน่วยงานเดียว จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ สธ. ยังเตรียมการดูแลเรื่องสุขภาพของประชาชนที่ไปประกอบพิธีฮัจญ์ในประเทศซาอุดิอาระเบีย ที่มีประมาณหนึ่งหมื่นกว่าคน โดยแบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้ (1)ก่อนเดินทางต้องให้คำแนะนำและเตรียมความพร้อมให้ประชาชน โดยการตรวจสุขภาพประชาชน ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มปกติดี กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มเสี่ยงสูง โดยมีการเฝ้าติดตามและให้การดูแล และฉีดวัคซีนป้องกันโรค เช่น โรคไข้กาฬหลังแอ่นและไข้หวัดใหญ่ (2)ขณะที่อยู่ในต่างประเทศจะมีทีมแพทย์ติดตามทั้งหมดจำนวน 42 คน ประกอบด้วยหมอ 9 คน ซึ่งทำหน้าที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันตลอด ทั้งยังมีโรงพยาบาล เครื่องมือการดูแลเกี่ยวกับโรคหัวใจและยาต่างๆ ต้องพร้อมทั้งด้านการรักษาและป้องกัน (3)หลังจากเดินทางกลับจากการประกอบพิธีฮัจญ์ จะมีระบบดูแลทั้งหมด 53 จังหวัด คอยติดตามเฝ้าระวังต่อเนื่องอย่างน้อย 1 เดือน หลังจากกลับจากประเทศซาอุดิอาระเบีย และ (4)มีระบบข้อมูลของประชาชนที่เดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์เกี่ยวกับด้านสุขภาพ เช่น ระหว่างที่ประกอบพิธีฮัจญ์มีการเจ็บป่วย หรือมีโรคประจำตัวหรือไม่ เพื่อง่ายต่อการดูแลและติดต่อประสานงาน โดยหวังว่าโรคนี้คงไม่เกิดขึ้นกับประเทศไทย “ส่วนประชาชนที่จำเป็นต้องเดินทางไปยังพื้นที่ระบาดขอให้ป้องกันตัว โดยก่อนเดินทางให้ไปฉีดวัคซีนตามที่ประเทศนั้นๆกำหนด ระหว่างที่อยู่ต่างประเทศให้หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ที่เป็นหวัด ไอ จาม ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการเข้าไปอยู่ในสถานที่แออัด ผู้ที่มีโรคประจำตัวควรใส่หน้ากากอนามัยและเปลี่ยนบ่อยๆ หากป่วยอาการคล้ายไข้หวัดให้รีบไปพบแพทย์ และหลังเดินทางกลับมาถึงเมืองไทย ขอให้สังเกตอาการผิดปกติอีก 10 วัน หากมีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ขอให้พักผ่อนอยู่ที่บ้าน สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือบ่อยๆ หากอาการไม่ดีขึ้นใน 2 วัน หรือมีอาการไข้สูง หอบเหนื่อย หายใจลำบาก ขอให้ไปพบแพทย์และแจ้งประวัติการเดินทางไปต่างประเทศด้วย หากประชาชนมีข้อสงสัยโทรสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422 ตลอด 24 ชั่วโมง” อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ