กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
นางสาวพิมพ์พิมล แจ่มจำรัส นักวิทยาศาสตร์ ศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า จากกรณีที่ในช่วงเดือนที่ผ่านมามีข่าวตรวจพบข้าวสารบรรจุถุงบางยี่ห้อมีการตกค้างของสารเมทิลโบรไมด์ซึ่งเป็นสารที่ใช้รมควันเพื่อฆ่าเชื้อโรคในอาหารเพื่อการเก็บรักษา เช่น ผลไม้อบแห้ง แป้ง ถั่ว เมล็ดพืชและธัญญพืช เกินค่ามาตรฐาน ทำให้ประชาชนเกิดการกังวลและเกิดความไม่มั่นใจในข้าวสารที่ซื้อมาบริโภค โดยในส่วนของศูนย์เครื่องมือวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีภารกิจส่วนหนึ่งในการให้บริการตรวจสอบสารต่างๆ โดยบุคลากรและเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ ได้มีหน่วยงาน บุคลากรมหาวิทยาลัย และประชาชนทั่วไปในพื้นที่จังหวัดสงขลา ขอนำข้าวสารที่ซื้อมาเพื่อบริโภคมาตรวจสอบหาสารดังกล่าวเป็นประจำโดยที่ผ่านมาได้มีการตรวจสอบข้าวสารที่วางขายในจังหวัดสงขลากว่า 10 ยี่ห้อ ปรากฎผลว่าไม่พบสารตกค้างของ สารรมควันเมทิลโบรไมด์ แต่อย่างใด
สารเมทิลโบรไมด์เป็นสารที่ระเหยได้ง่าย ซึ่งหากหายใจเอาสารที่มีความเข้มข้นต่ำเข้าไป อาจมีอาการเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ ง่วงนอน เสียการทรงตัว สายตาพร่ามัว ทำลายปอดและไต เป็นอันตรายต่อทารกในครรภ์ ส่วนถ้าสัมผัสถูกผิวหนังโดยตรงจะทำให้แสบร้อนเป็นแผลไหม้
ในการทดสอบนั้น จะนำข้าวที่เป็นตัวอย่างมาชั่งแล้วใส่น้ำเกลือในปริมาณที่เหมาะสมเพื่อช่วยในการระเหยของสาร เนื่องจากเมทิลโบรไมด์เป็นสารที่ระเหยกลายได้ง่าย จากนั้นนำไปให้ความร้อนเพื่อให้สารระเหยเป็นไอ แล้วใช้กระบวนการ Solid-phase microextractionให้สารระเหยไปเกาะอยู่บนแท่งไฟเบอร์ที่มีความเหมาะสมในการดูดซับสารชนิดนี้ โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมง ต่อจากนั้น นำไปเข้าเครื่อง GC-MS เพื่อตรวจสอบว่ามีสารที่ต้องการอยู่หรือไม่ ซึ่งการตรวจสอบไม่ปรากฎว่าพบสารเมทิลโบรไมด์ในตัวอย่างข้าวสารแต่อย่างใด กระบวนการทั้งหมดใช้เวลาไม่เกิน 3 ชั่วโมงและไม่ใช่กระบวนการที่ยุ่งยาก เพียงแต่เครื่องมือในการทดสอบ เช่น เครื่อง GC-MS มีราคาสูงและเหมาะสำหรับใช้ในห้องปฏิบัติการที่มีการทดสอบสารอย่างอื่นร่วมอยู่ด้วย เพื่อความคุ้มค่าในการใช้งาน เช่น ตรวจสอบสารยาฆ่าแมลง น้ำมันหอมระเหย สารสะกัดจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ในการตรวจสอบครั้งนี้ มุ่งไปที่การตกค้างของ สารรมควันเมทิลโบรไมด์ ซึ่งอยู่ในความกังวลของผู้บริโภคในเวลานี้ แต่ไม่ได้รวมการตรวจสอบสารตกค้างชนิดอื่น เช่น ยาฆ่าแมลง ซึ่งจะต้องมีการแยกตรวจสอบต่างหากอีกครั้งหนึ่ง
ข่าวโดย นายทวาทศ สุวรรณโร นักประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์โทรศัพท์ 0-7428-2026
อีเมล tawatos.s@psu.ac.th