กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--มหาวิทยาลัยขอนแก่น
อีสานโพล (E-Saan Poll) ศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน (ECBER) คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เผยผลสำรวจเรื่อง “ความเห็นชาวอีสานต่ออัตราการเกิดที่ลดลงและสังคมผู้สูงอายุ” ผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานเกือบครึ่งไม่กังวลที่คนรุ่นใหม่นิยมเป็นโสดและไม่มีบุตร และส่วนใหญ่ไม่สนับสนุนให้ให้เก็บภาษีคนโสดและคนไม่มีลูก โดยสนับสนุนมาตรการจูงใจอื่นๆ แทน เพื่อกระตุ้นให้คนมีลูกมากขึ้นอย่างมีคุณภาพ
ดร.สุทิน เวียนวิวัฒน์ หัวหน้าโครงการอีสานโพล เปิดเผยว่า การสำรวจนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจความคิดเห็นของชาวอีสาน ต่อกรณีที่มีนักวิชาการเสนอแนวคิดให้เก็บภาษีคนโสด เพื่อกระตุ้นให้คนมีครอบครัวและชะลอการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยทำการสำรวจระหว่างวันที่ 7-8 กันยายน 2556 จากกลุ่มตัวอย่างคนอีสานอายุ 18 ปีขึ้นไป 1,074 ราย ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน 20 จังหวัด ได้แก่ นครราชสีมา ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ หนองคาย ชัยภูมิ เลย อุบลราชธานี อุดรธานี นครพนม หนองบัวลำภู สุรินทร์ บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร มุกดาหาร ยโสธร อำนาจเจริญ และบึงกาฬ
ในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีกระแสที่เป็นที่กล่าวถึงในสื่อและสังคมออนไลน์เกี่ยวกับการที่มีนักวิชาการเสนอแนวความคิดให้เก็บภาษีประชากรที่มีสถานภาพโสด ไม่มีบุตร เพราะต้องการประชากรมีการขยายตัวและเป็นการชะลอการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุนั้น อีสานโพลจึงได้สอบถามความเห็นของกลุ่มตัวอย่างชาวอีสานต่อประเด็นดังกล่าว โดยได้สอบถามเกี่ยวกับความกังวลของกลุ่มตัวอย่างว่า ปัจจุบันคนไทยมีบุตรน้อยลง ซึ่งส่งผลให้ในอนาคตประเทศไทยอาจขาดประชากรวัยแรงงาน และเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 45.5 ไม่กังวลต่อปัญหาดังกล่าว รองลงมาร้อยละ 38.7 รู้สึกกังวลเล็กน้อย และอีกร้อยละ 15.9 รู้สึกกังวลมาก
เมื่อสอบถามว่า มีมาตรการและนโยบายใดบ้างที่รัฐควรนำมาใช้เพื่อกระตุ้นให้คนไทยมีลูกมากขึ้นอย่างมีคุณภาพ ผลปรากฏว่า นโยบายที่ควรนำมาใช้มากที่สุดคือการสนับสนุนค่าเล่าเรียน/เรียนฟรี ร้อยละ 97.7 รองลงมาคือนโยบายให้ฝากครรภ์และทำคลอดฟรี ร้อยละ 91.1 นโยบายเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กฟรี ร้อยละ 87.1 นโยบายเพิ่มอัตราการลดหย่อนภาษีให้ผู้มีบุตร ร้อยละ 81.0 นโยบายให้พ่อ/แม่ ลาคลอดและเลี้ยงลูกได้นานขึ้น ร้อยละ 79.9 และ นโยบายจ่ายโบนัสสำหรับผู้มีบุตร ร้อยละ 68.4
ส่วนมาตรการที่กลุ่มตัวอย่างชาวอีสานเห็นว่าไม่ควรนำมาใช้ ได้แก่ นโยบายเก็บภาษีคนโสด/คนไม่มีลูกโดยมีผู้เห็นว่าไม่ควรนำมาใช้ถึงร้อยละ 79.8 และนโยบายให้ยกเว้นการเกณฑ์ทหารผู้ที่มีบุตร โดยมีผู้เห็นว่าไม่ควรนำมาใช้ ร้อยละ 68.8
จากแนวโน้มที่คนรุ่นใหม่ในปัจจุบันจะนิยมอยู่เป็นโสดมากขึ้นและไม่ต้องการมีบุตรนั้น มีนักวิชาการออกมากล่าวว่าแนวโน้มดังกล่าวจะส่งผลให้ในอนาคตข้างหน้าประเทศไทยอาจอยู่ในสภาวะขาดแคลนประชากรวัยแรงงานและกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ จึงได้มีการเสนอแนวคิดให้มีมาตรการส่งเสริมให้คนมีบุตร รวมถึงมาตรการเก็บภาษีคนโสดและผู้ไม่มีบุตร ซึ่งกลายเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์อย่างมากในสื่อและสังคมออนไลน์ โดยจากการสำรวจของอีสานโพลพบว่า ชาวอีสานเกือบครึ่งไม่ได้รู้สึกกังวลต่อปัญหาดังกล่าว และมีกลุ่มตัวอย่างส่วนน้อยที่สนับสนุนให้เก็บภาษีคนโสดและผู้ที่ไม่มีลูก ดังนั้นแนวทางแก้ปัญหาโครงสร้างประชากร ควรต้องใช้มาตรการส่งเสริมและจูงใจต่างๆ แทนการลงโทษ นอกจากนี้ควรขยายอายุวัยเกษียณออกไปเป็น 65-70 ปี แล้วแต่ประเภทของงาน และควรเน้นการผลิตทรัพยากรมนุษย์โดยเน้นเชิงคุณภาพมากกว่าเชิงปริมาณ " ดร.สุทิน กล่าวตอนท้าย
หมายเหตุ: นอกเหนือจากผลสำรวจ ซึ่งนำเสนอข้อมูลตามวิธีทางสถิติแล้ว ความคิดเห็นอื่นๆ ในผลสำรวจนี้เป็นความเห็นของผู้รับผิดชอบโครงการ ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของศูนย์วิจัยธุรกิจและเศรษฐกิจอีสาน คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยขอนแก่น
ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง มีความเชื่อมั่นในการพยากรณ์ 99.99% และคลาดเคลื่อนได้บวกลบ 6.0% ประกอบด้วย เพศหญิง ร้อยละ 50.7 เพศชาย ร้อยละ 49.3 ส่วนใหญ่อายุ 46-60 ปี ร้อยละ 29.2 รองลงมาอายุ 36-45 ปี ร้อยละ 22.1, อายุ 26-35 ปี ร้อยละ 25.9, อายุ 18-25 ปี ร้อยละ 16.9 และอายุมากกว่า 60 ปี ร้อยละ 6.0 โดยอาศัยอยู่ในเขตเทศบาล (เขตเมือง) ร้อยละ 36.4 และอยู่นอกเขตเทศบาล (เขตชนบท) ร้อยละ 63.6
ส่วนระดับการศึกษาของผู้ตอบส่วนใหญ่จบการศึกษาระดับประถมศึกษา/ต่ำกว่า ร้อยละ 36.8 รองลงมาปริญญาตรี ร้อยละ 23.5, มัธยมศึกษาตอนปลาย/ปวช. ร้อยละ 14.2, มัธยมศึกษาตอนต้นร้อยละ 11.1, อนุปริญญา /ปวส. ร้อยละ 11.8 และสูงกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 2.5
ด้านอาชีพส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 34.1 รองลงมาอาชีพรับจ้างทั่วไป/ลูกจ้างร้านค้าและโรงงานร้อยละ 14.5 อาชีพพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 13.5 อาชีพรับราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 9.6 นักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 7.0 อาชีพพ่อบ้าน/แม่บ้าน ร้อยละ 5.6 และอื่นๆ ร้อยละ 1.8
ด้านรายได้เฉลี่ยต่อเดือนส่วนใหญ่รายได้อยู่ที่ 5,001-10,000 บาท ร้อยละ 42.7 รองลงมารายได้ไม่เกิน 5,000 บาท ร้อยละ 19.9, รายได้ 10,001-15,000 บาทร้อยละ 16.8, รายได้ 15,001-20,000 บาท ร้อยละ 10.7, รายได้ 20,001-40,000 บาท ร้อยละ 8.4 และ 40,001 บาทขึ้นไป ร้อยละ 1.4