กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--มูลนิธิสยามกัมมาจล
“รักการอ่าน...เฮ้!!”เป็นเสียงแสดงความพร้อมเพรียงของนักเรียนในชุมชน ต.ท่างาม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ที่มารวมตัวกัน ณ อบต.ท่างาม เพื่อทำกิจกรรมต่อยอดสู่การเป็น “เยาวชนนักเชียร์อ่าน”ที่สามารถไปชักชวนให้เยาวชนคนอื่นๆ ให้อ่านหนังสือมากขึ้นได้ตามแผนงาน“หลักสูตรโรงเรียนเชียร์อ่านสร้างสุข”ของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)เพื่อสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านและขับเคลื่อน ต.ท่างาม ให้เป็น ตำบลรักการอ่าน พื้นที่นำร่องแห่งแรกในจังหวัด สิงห์บุรี เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
ที่มาของกิจกรรมเกิดขึ้นโดย “นักถักทอชุมชน” เจ้าหน้าที่ อบต.ท่างามประกอบด้วย นักวิชาการศึกษา นักพัฒนาชุมชน และครูผู้ดูแลเด็ก ใน ต.ท่างามจาก หลักสูตรนักถักทอชุมชนเพื่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน ครอบครัวมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)ทำหน้าที่ร่วมประสานงานแก่ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมนำกิจกรรมรักการอ่านนี้ มาร่วมพัฒนาศักยภาพของเยาวชนในชุมชน โดยมีกลุ่มภาคีสำคัญอย่าง“มะขามป้อม”ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่ทำงานด้านการส่งเสริมการอ่านได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นนักกระบวนการให้เยาวชนด้วยกิจกรรมที่เข้มข้นและสนุกสนาน
บรรยากาศภายใน อบต.ท่างามในวันนั้น เป็นไปอย่างคึกคัก เพราะนอกจากจะมีเด็กนักเรียนที่อยู่ในระดับชั้น ป.6-ม.3 ชุมชนท่างามแล้วยังมีคณะผู้ใหญ่ใจดี ประกอบด้วย คณะผู้บริหารโรงเรียน ครู นายก อบต. ปลัด ผู้นำท้องถิ่น เจ้าหน้าที่ อบต.ท่างาม รวมถึง นายก และเจ้าหน้าที่จาก อบต.ดอนมะสังข์ และ อบต.วัดดาว จ.สุพรรณบุรีมาคอยสังเกตการณ์เพื่อคอยนำทักษะดีๆ จากกิจกรรมไปปรับใช้ในแต่ละชุมชนร่วมด้วย
กลุ่มมะขามป้อมผู้จัดกระบวนการรักการอ่านในครั้งนี้ ได้เล่าถึงเป้าหมายของกิจกรรมกับเยาวชนที่ ต.ท่างาม ด้วยว่า “เพราะน้องๆมีความหลากหลายและโดยส่วนใหญ่เป็นน้องที่ไม่ได้ชอบการอ่านหนังสือมาก่อน บางกลุ่มเป็นเด็กเฮี้ยวหลังห้อง บางกลุ่มเป็นเด็กทั่วไปที่ติดกับกรอบจารีตการศึกษาในโรงเรียน หรือบางคนก็ยังอ่านหนังสือไม่คล่องจากเป้าหมายที่จะเน้นให้เด็กได้อ่าน คิด วิเคราะห์ และคิดต่อยอดกิจกรรมเพื่อไปเป็นแกนนำชวนเพื่อนอ่านในโรงเรียนของตัวเองเราจึงต้องปรับแผนและเปลี่ยนเป้าหมายทันที คือ ต้องมุ่งไปที่การให้เด็กๆอยากอ่านและมีความสุขกับการอ่านหนังสือแทน เพื่อเป็นเชื้อตั้งต้นในการพัฒนาเรื่องการอ่านต่อไป”
หลักสูตรปฏิบัติการรักการอ่านที่จะช่วยให้เด็กๆ ได้รู้จักความสุขจากการอ่านด้วยตนเองนั้น เริ่มต้นด้วยกระบวนการสันทนาการในเกมส์ละลายพฤติกรรมน้องๆ ที่มีความหลากหลาย ให้สนิทสนมกลมเกลียวกันมากขึ้น พร้อมกับการตั้งคำถามจากสิ่งใกล้ตัวให้เด็กๆ ได้ฝึกคิดตาม เช่น หากพูดถึงจ.สิงห์บุรี เด็กๆ นึกถึงอะไร หนังสือแบบไหนกันนะที่วัยรุ่นชอบอ่าน หนังสือที่เราเคยอ่านมามีชื่ออะไรบ้างนะ ชื่อหนังสือที่ชอบมากที่สุด เพราะอะไร เป็นต้น
หลายกิจกรรมจะเป็นการเปิดโอกาสให้เยาวชน ได้แสดงความรู้สึก และเจตคติที่มีต่อการอ่านหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นกิจกรรมการวิเคราะห์หนังสือเล่มโปรดด้วยจินตนาการพับกระดาษถ่ายทอดความรู้สึกแทนใจเป็นรูปทรงต่างๆ หรืออีกหนึ่งกิจกรรมที่สร้างสีสันได้ไม่น้อย คือ กิจกรรมวาดรูปจินตนาการถึงรูปร่างหน้าตา บุคลิกของคนที่อ่าน และไม่อ่านหนังสือ ที่ปรากฏออกมาเป็นรูปคนที่มีหน้าตาแปลกอย่าง “คนไม่อ่านหนังสือ” จะวาดตาเล็ก หัวเล็กๆ มีเขา ปากกว้าง ชอบพกของไม่ดีต่อร่างกาย เช่น อาวุธ หรือยาเสพติด ฯลฯ ด้วยเหตุผลที่มองโลกแคบ สมองน้อย หรืออื่นๆ ต่างกับ “คนที่อ่านหนังสือ” จะวาดเป็นคนหัวแหลม ใส่แว่น แต่งตัวดี เพราะมีความรู้ มีการศึกษา เป็นต้น
ด้าน ด.ช.ปฏิภาณ เพ็งสุวรรณ หรือน้องตูน จากโรงเรียนอินทร์บุรี ต.อินทร์บุรี อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี และเพื่อนเยาวชน ก็ได้ร่วมเล่าถึงความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมรักการอ่านนี้ด้วยว่า “กิจกรรมการอ่านในวันนี้ ทำให้คนอย่างผมอยากกลับไปอ่านหนังสือ เพราะผมคิดว่าการอ่านเป็นอีกอย่างหนึ่งที่เด็กไทยไม่ให้ความสำคัญ (รวมถึงผมด้วย) จากที่ผมชอบเล่นเกมส์ไม่สนใจอะไร ต่อไปผมก็จะสนใจอ่านหนังสือให้มากขึ้น”
กลุ่มมะขามป้อมยังเล่าถึงความประทับใจเพิ่มเติมด้วยว่า “สิ่งเหล่านี้ที่เด็กๆได้วาด เขียน อ่านและสื่อสารออกมา เกินความคาดหมายของเราพอสมควร และยิ่งกับบรรยากาศการอ่านหนังสือเป็นภาพที่น้องๆ ต่างเข้ามาช่วยกันจัดมุมหนังสือเวลาพักเบรกหรือพักเที่ยงก็จะรีบเข้ามาหยิบหนังสืออ่าน และทั้งสองวันที่อบรมก็เห็นได้ว่า น้องๆมีสมาธิอยู่กับหนังสือมากกว่าอยู่กับพี่วิทยากรเสียอีก จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า ไม่ว่าจะเป็นเด็กแบบไหนเขาก็มีความอยากอ่านหนังสืออยู่ในตัว”
ด้านนางจำเนียร ใจดี ครูโรงเรียนวัดตุ้มหู ต.ท่างาม อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี ที่ได้พานักเรียนมาร่วมกิจกรรมในวันนี้ก็ได้กล่าวด้วยว่า “กิจกรรมรักการอ่านนี้ เป็นการใช้เทคนิคให้เด็กรู้สึกรักการอ่าน ใช้ทีมละครมะขามป้อม ที่มีเทคนิคให้เด็กสนุก และได้เรียนแบบมีความสุข ทำให้เขามีเจตคติที่ดีต่อการอ่านหนังสือ เพราะที่ผ่านมาแม้โรงเรียนจะมีหนังสือให้อ่านอยู่มากมาย แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไรให้เด็กรู้สึกรักการอ่าน นอกจากนี้กิจกรรมรักการอ่านนี้จะเป็นกิจกรรมที่มากระตุ้นให้ทั้งครูเองได้เห็นความสำคัญของการอ่าน ทำให้ครูได้รู้จักหาแผนมาสอนเด็กให้เหมาะสมกับวัยมากขึ้น เสริมสร้างพัฒนาการเด็ก จนสามารถไปแข่งขันทักษะต่างๆ สร้างความภาคภูมิใจให้กับตนเองและโรงเรียนได้ต่อไปได้”
สำหรับนายประเทือง ติ่งคล้าย อดีตนายก อบต.ดอนมะสังข์ จ.สุพรรณบุรีหนึ่งในผู้ใหญ่ใจดีของชุมชน ผู้เข้าร่วมสังเกตการณ์ในโครงการได้กล่าวถึงความสำคัญของกิจกรรมรักการอ่านไว้ด้วยว่า “ผมว่ากิจกรรมรักการอ่านเป็นกิจกรรมที่ดีและมีความสำคัญมาก ทำให้ลูกหลานในชุมชนได้มีความรู้รอบตัวมากขึ้น ทำให้เด็กๆ มีความอยากเรียนรู้ อยากอ่าน จากการสังเกตกิจกรรมรักการอ่านที่ ต.ท่างาม เห็นว่าเด็กมีความกระตือรือร้น จากที่วิทยากรพูด เด็กส่วนใหญ่มีความอยากรู้ว่าวิทยากรจะพูดอย่างไร
ซึ่งหากเด็กทุกคนสามารถจับใจความและนำสิ่งที่วิทยากรพูดมาปรับใช้ประกอบกับการเรียนได้ ผลการเรียนของเด็กน่าจะดีมากขึ้นด้วย ตนเองอยากให้ผู้นำชุมชนทั้งหลายมาร่วมกันสานต่อโครงการที่เป็นประโยชน์เช่นนี้ไปยังเยาวชน ตำบลต่างๆ ต่อไป สำหรับตนเองคิดว่าใน ต.ดอนมะสังข์ แผนรักการอ่านที่อาจจะมีการสานต่อ คือ แผนการสร้างเยาวชนแกนนำในพื้นที่เป็นพี่สอนน้อง ในหลักสูตรโรงเรียนเชียร์อ่าน เป็นพี่ที่จะช่วยสอนน้องๆในชุมชน ให้เห็นความสำคัญของการอ่าน ซึ่งจะเป็น ประโยชน์ทั้งตัวเด็ก โรงเรียน และชุมชน”
นอกจากผลที่เกิดขึ้นจากเด็กๆ ยังปรากฏภาพความร่วมมือ ความสามัคคีกันของภาคส่วนต่างๆ ในชุมชนในการร่วมกันมองปัญหาเด็กและเยาวชนในชุมชน พร้อมกับร่วมสร้างกิจกรรมเพื่อแก้ปัญหาร่วมกัน ทั้งซึ่งหากเหล่าผู้ใหญ่ใจดีในชุมชน สามารถทำให้ ต.ท่างาม เป็นตำบลรักการอ่านแห่งแรกที่จะเป็นต้นแบบที่ดีสร้างกิจกรรมเพื่อเด็กและเยาวชนเช่นนี้ เผยแพร่ไปสู่ชุมชนอื่นๆ ได้เรื่อยๆ เมื่อนั้นคำพูดนับสิบปีที่ว่า “เด็กไทยอ่านหนังสือเพียงปีละ 8 บรรทัด” อาจใช้ไม่ได้อีกต่อไป