กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--สถาบันอาหาร
สถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม แนะผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทยเจาะตลาดอาหารฮาลาลกลุ่มประเทศ GCC 6 ประเทศ ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรต บาห์เรน คูเวต โอมาน และกาตาร์ให้มากขึ้น เพราะผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงมาก พบรายได้ต่อหัวต่อคนในปี 2556 ของประชากรในกลุ่ม GCC อยู่ที่ประมาณ 34,837 เหรียญสหรัฐ และคาดว่าในปี 2560 จะเพิ่มขึ้นเป็น 36,839 เหรียญสหรัฐ เฉพาะในกาตาร์นั้นสูงกว่าสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และเยอรมนี 2 เท่าตัว เชื่อบรรยากาศการค้า การลงทุนในกลุ่ม GCC โดยภาครัฐและเอกชนทั้งด้านพลังงาน ก่อสร้าง ขนส่ง การปรับปรุงสนามบิน และสาธารณูปโภคต่างๆ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการบริโภคให้สูงขึ้น เฉลี่ยเศรษฐกิจเติบโตร้อยละ 3 - 5 ต่อปี ยกเว้นอิรัก โตสูงถึงร้อยละ 8 - 9 ต่อปี โดยอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีของมูลค่านำเข้าอาหารของ GCC ในระหว่างปี 2553-2555 อยู่ที่ร้อยละ 16.98 คาดเนื้อสัตว์และผลไม้จะมีสัดส่วนความต้องการสูงขึ้น โดยเฉพาะไก่สด และไก่สุกแปรรูป
นายอมร งามมงคลรัตน์ รองผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยรายงานจาก ศูนย์อัจฉริยะเพื่ออุตสาหกรรมอาหาร สถาบันอาหาร ถึงทิศทางและแนวโน้มสินค้าอาหารฮาลาลไทย และตลาดฮาลาลโลกว่า ในปี พ.ศ. 2563 ประเมินว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 7.7 พันล้านคน โดยจะมีประชากรมุสลิมร้อยละ 24.9 หรือประมาณ 1.9 พันล้านคน และในปี 2573 จะเพิ่มขึ้นเป็น 2.2 พันล้านคน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 26.4 ของประชากรโลก ประเมินว่าเป็น 1 ใน 4 ของประชากรโลก และหากรวมถึงกลุ่มประชากรที่ไม่นับถือศาสนาอิสลาม แต่มีความเชื่อมั่นว่าอาหารฮาลาลนั้นสะอาด ปลอดภัย ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าแฝง ก็เชื่อได้ว่าตลาดอาหารฮาลาลนั้นน่าจะมีมูลค่ามากกว่า 1 ใน 3 ของตลาดอาหารโลก
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการส่งออกอาหารของไทยในภาพรวมค่อนข้างพึ่งพิงตลาดเก่าอย่างสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลียอย่างมาก เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจหรือปัญหาการกีดกันทางการค้าจึงส่งผลกระทบมาก จึงขอแนะนำตลาดใหม่ซึ่งจะเป็นตลาดอาหารฮาลาลที่มีศักยภาพสูง ซึ่งเป็นโอกาสของฮาลาลไทยในวันนี้ ได้แก่กลุ่มประเทศ GCC คือ กลุ่มความร่วมมือของอ่าวอาหรับ (the Cooperation Council for the ArabStates of the Gulf : GCC) ประกอบด้วยสมาชิก 6 ประเทศในคาบสมุทรอาหรับ ได้แก่ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรต บาห์เรน คูเวต โอมาน และกาตาร์
ปัจจุบันจำนวนประชากรในกลุ่ม GCC มีประมาณ 45.5 ล้านคน อัตราขยายตัวของประชากรในช่วง 5 ปีผ่านมา ประมาณร้อยละ 3.3 ต่อปี และคาดว่าในปี 2560 จะมีประชากรรวมประมาณ 50 ล้านคน ถึงแม้จะเป็นตลาดที่มีขนาดไม่ใหญ่มากแต่ผู้บริโภคก็มีกำลังซื้อสูงมาก โดยอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก GCC ในช่วง 2-3 ปีนี้อยู่ในอัตราร้อยละ 3-5 ยกเว้น อิรัก ที่มีอัตราเติบโตร้อยละ 8-9 ต่อปี เนื่องจากการฟื้นตัวภายหลังสงคราม บรรยากาศการค้าการลงทุนในอิรักเริ่มดีขึ้นเพราะกระแสการลงทุนต่างชาติเริ่มหลั่งไหลเข้าไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคพลังงาน การก่อสร้าง และขายปลีก รัฐบาลอิรักผลักดันการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่สำคัญหลายโครงการ เช่น โรงผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้า สร้างเขื่อน พัฒนาและฟื้นฟูการกสิกรรม ขุดเจาะหาแหล่งน้ำมันเพิ่มเติม
“ที่สำคัญรายได้ต่อหัวต่อคนในปี 2554 ของประเทศในกลุ่ม GCC เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ จะเห็นได้ว่ารายได้ของประชากรกาตาร์นั้นสูงมาก สูงกว่าสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และเยอรมนี มากกว่า 2 เท่าตัว รองลงมาคือ UAE คูเวต ส่วนบาห์เรน โอมาน ซาอุดิอาระเบีย จะมีรายได้ใกล้เคียงกัน โดยรายได้ต่อหัวต่อคนในปี 2556 ของประชากรในกลุ่มประเทศ GCC อยู่ที่ประมาณ 34,837 เหรียญสหรัฐ และคาดว่าในปี 2560 จะเพิ่มขึ้นเป็น 36,839 เหรียญสหรัฐ” นายอมร กล่าว
การผลิตและการบริโภคอาหารใน GCC เมื่อพิจารณาสัดส่วนด้านการผลิตและนำเข้าอาหารของ GCC จากข้อมูลที่มีการวิเคราะห์ล่าสุดปี 2553 พบว่า โดยรวม GCC นำเข้าอาหารมากกว่าอาหารที่ผลิตได้ในประเทศเกือบ 3 เท่า ประมาณ 27.5 ล้านตัน โดยประเทศผู้นำเข้ารายใหญ่ คือ ซาอุดิอาระเบีย มีสัดส่วนถึงร้อยละ 62 ของอาหารที่นำเข้าทั้งหมด ส่วน UAE นำเข้าอาหารมากเป็นอันดับ 2 มีสัดส่วนร้อยละ 20 ของปริมาณอาหารที่นำเข้าสู่ GCC รองลงมาคือ โอมาน คูเวต กาตาร์ และบาห์เรน ตามลำดับ โดยอัตราเติบโตเฉลี่ยต่อปีของมูลค่านำเข้าอาหารของ GCC ในระหว่างปี 2553-2555 อยู่ที่ร้อยละ 16.98 โดยลักษณะของอาหารที่มีปริมาณบริโภคมากที่สุดของภูมิภาค คือ กลุ่มข้าวและธัญพืช รองลงมาคือ ผัก และผลไม้ อย่างไรก็ตาม ด้วยรายได้ต่อหัวที่เพิ่มมากขึ้นจะทำให้ปริมาณบริโภคข้าวและธัญพืชมีสัดส่วนลดลง ขณะที่การบริโภคเนื้อสัตว์และผลไม้จะมีสัดส่วนสูงขึ้น
นอกจากนี้ การที่สายการบินชั้นนำใน GCC เช่น Emirates Airlines, Qatar Airways and Etihad Airways มีแผนปรับโครงสร้างธุรกิจสายการบิน โดยจะมีการปรับปรุงสนามบินและขยายการให้บริการมีเป้าเพิ่มจำนวนผู้โดยสารจาก 50 ล้านคน เป็น 200 ล้านคนภายในปี 2563 เชื่อว่าจะทำให้รองรับนักท่องเที่ยวได้อีกมาก ทำให้มีความต้องการบริโภคอาหารมากขึ้นตามไปด้วย
นายอมร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันไทยมีการส่งออกอาหารไปยังประเทศใน GCC ทุกประเทศ โดยปี 2555 ที่ผ่านมา มีมูลค่าส่งออกรวมเกือบ 4 หมื่นล้านบาท มีส่วนแบ่งในตลาดนำเข้าอาหารของ GCC ประมาณร้อยละ 3.28 และแนวโน้มมีการนำเข้าจากไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สินค้านำเข้าที่สำคัญจากไทย ได้แก่ ข้าวนึ่ง ข้าวหอมมะลิ ทูน่ากระป๋อง สับปะรดกระป๋อง น้ำตาลทราย ข้าวโพดหวานแปรรูป ไก่แช่แข็ง ปลาน้ำจืดแช่แข็ง ครีมเทียม ประเทศที่เป็นตลาดหลักของไทยใน GCC อันดับ 1 คือ อิรัก มีสัดส่วนร้อยละ 52.7 ของมูลค่าการส่งออกไป GCC
รองลงมาคือ ซาอุดิอาระเบีย ร้อยละ 21.8 UAE สัดส่วนร้อยละ 17.8 และคาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวในอนาคตเพิ่มขึ้นอีกมาก เนื่องจากบาห์เรนอนุญาตนำเข้าไก่สดจากไทยตั้งแต่ ปี 2552 และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อนุญาตให้นำเข้าไก่สดจากไทยได้ตั้งแต่ปี 2554 ล่าสุดในปี 2555 การส่งออกไก่สุกแปรรูปของไทยในประเทศมุสลิมที่โดดเด่นมีเพียงตลาดเดียวได้แก่ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยมีสัดส่วนส่งออกมากกว่าร้อยละ 90 ของปริมาณส่งออกไก่สุกแปรรูปที่ไทยส่งออกไปยังประเทศมุสลิมทั้งหมด
อย่างไรก็ตามเพื่อให้การส่งออกไปกลุ่ม GCC มีความสะดวกรวดเร็ว ผู้ส่งออกและผู้ผลิตของไทย ควรมีการตั้งสำนักงานตัวแทน หรือตัวแทนจำหน่ายในดูไบ นอกจากนี้สินค้าระดับกลางถึงระดับสูง ควรตั้งราคาให้ใกล้เคียงกับสินค้าจากเกาหลีใต้ ไต้หวัน และสิงคโปร์ เพราะไทยไม่สามารถแข่งขันด้านราคากับสินค้าจากจีนได้