ความเสียหายจากการจองตั๋วเครื่องบินและธุรกิจท่องเที่ยว...ปัญหาที่ต้องเร่งแก้ไข

ข่าวท่องเที่ยว Wednesday September 11, 2013 10:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค จากปัญหาความเสียหายของผู้บริโภคที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กรณีไม่ได้รับสินค้าหรือบริการตามที่โฆษณาไว้ในธุรกิจท่องเที่ยวและจองตั๋วโดยสารเครื่องบิน นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกล่าวว่าได้รับรายงานจาก สคบ.ว่าตั้งแต่เดือนตุลาคม54 -มิถุนายน56 มีผู้บริโภคร้องเรียนเข้ามายังสคบ.เกี่ยวกับประเด็นนี้เป็นจำนวนมากถึง 565 ราย ซึ่งได้มอบหมายให้ทางสคบ.ดำเนินการดูแลเรื่องนี้แล้ว และในเบื้องต้น สคบ. มีรายงานเข้ามาว่าได้มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมการท่องเที่ยว กรมการบินพลเรือน สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ และสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา และช่วยเหลือผู้บริโภคให้ได้รับการเยียวยาที่รวดเร็วขึ้น พร้อมทั้งพยายามสร้างกรอบมาตรฐานในการดำเนินธุรกิจที่ดีและเป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจ โดยไม่สร้างภาระเกินกว่าที่จำเป็น เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจท่องเที่ยวสามารถดำเนินไปได้อย่างราบรื่น เป็นธรรม และไม่ละเมิดสิทธิผู้บริโภค ด้านนายจิรชัย มูลทองโร่ย เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกล่าวว่า การซื้อบริการท่องเที่ยวและจองตั๋วเครื่องบินในปัจจุบัน จะมีทั้งแบบซื้อและจ่ายเงินโดยตรงกับผู้ประกอบการและมีแบบการจองผ่านระบบอินเทอร์เน็ตและชำระเงินผ่านบัตรเครดิตซึ่งแบบหลังนี้มีปัญหาร้องเรียนเข้ามาตลอด เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ดำเนินการยากที่สุดรวมถึงธุรกิจอื่นๆที่อาศัยช่องทางออนไลน์ด้วย เนื่องจากขณะนี้มีผู้ประกอบธุรกิจจำนวนหนึ่งมีพฤติการณ์หลอกขายสินค้าและบริการต่างๆ โดยให้ผู้บริโภคโอนเงินให้ จากนั้นก็จะปิดช่องทางการสื่อสารทั้งหมด ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถติดตามทวงเงินคืนได้ ซึ่งผู้ประกอบธุรกิจเหล่านี้ไม่ได้จดทะเบียนเป็นผู้ประกอบธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ทำให้การติดตามข้อมูลและเบาะแส เพื่อดำเนินการทางกฎหมายทำได้ค่อนข้างยากและใช้เวลานาน ทาง สคบ.จึงมีนโยบายที่จะแยกผู้ประกอบการธุรกิจที่ดีออกจากผู้ประกอบธุรกิจที่มีเจตนาหลอกลวง ด้วยการกำหนดนโยบายส่งเสริมผู้ประกอบธุรกิจที่ดีและให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งมีนโยบายให้มีการมอบรางวัลและประกาศเกียรติคุณต่อสาธารณชนทั่วไป เพื่อที่จะจัดตั้งเป็นเครือข่ายผู้ประกอบธุรกิจที่ดีในอนาคต โดยกำหนดให้ธุรกิจการท่องเที่ยวจะต้องประกอบไปด้วยสิ่งที่จะอำนวยความสะดวกต่อผู้บริโภคหรือผู้ที่ท่องเที่ยวอยู่ 3 เรื่อง คือ 1.ในเรื่องของบริษัทนำเที่ยวจะต้องมีมาตรการที่ให้ความเป็นธรรมและสามารถยืนยันรับรองความปลอดภัยของนักท่องเที่ยวได้ 2.โรงแรมที่พักจะต้องมีการแจ้งถึงข้อมูลเบื้องต้นของราคาที่พัก รวมทั้งต้องมีการแจ้งและเปรียบเทียบราคาระหว่าง ไฮซีซั่น กับ โลว์ซีซั่นให้ชัดเจน 3.ร้านค้า ร้านจำหน่ายสิ่งของหรือบริการต่างๆ ต้องมีการแจ้งราคาที่ชัดเจน จัดทำฉลากสินค้าให้ถูกต้อง และต้องไม่ใช้วิธีการโฆษณาที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ซึ่งทาง สคบ.ได้มีการดำเนินการนำร่องเรื่องนี้ไปใน 4 ภาคของประเทศไทยแล้ว และได้มีการสรุปข้อมูลส่งต่อไปให้กับผู้ว่าราชการในแต่ละจังหวัดได้ดำเนินการเข้มงวดกวดขันในทั้ง 3 กรณีนี้ต่อไป ในส่วนของหน่วยราชการอื่นที่เกี่ยวข้องก็มีมาตรการเพื่อดูแลและป้องกันปัญหาด้านนี้เช่นกัน อาทิขณะนี้ ทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้มีการจัดทำเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือ DBD Verified ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองความน่าเชื่อถือในการประกอบพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ออกให้แก่ผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่จดทะเบียนพาณิชย์ และจัดทำเว็บไซต์ซึ่งเป็นร้านค้าออนไลน์ตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพธุรกิจพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากำหนด (สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า สายด่วน 1570 หรือ http://www.dbd.go.th) โดย สคบ.จะมีการเชิญกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยว ผู้ประกอบการสายการบิน รวมถึงส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง มาทำการประชุมหารือ เพื่อกำหนดมาตรการควบคุมดูแลและป้องกันปัญหาด้านนี้โดยเฉพาะ จะมีการกำหนดกติกากลางในเรื่องของการชดเชยค่าเสียหายจากการที่ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ เพราะในปัจจุบันนี้มีทั้งแบบจ่ายเงินค่าเสียหายเต็มจำนวน และจ่ายเงินค่าเสียหายตามเพดานที่มีการกำหนดไว้ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการกำหนดเรื่องนี้ให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคจนเกินไป”เลขาธิการ สคบ.กล่าวทิ้งท้าย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ