กรุงเทพฯ--11 ก.ย.--สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสกรณ์
“ยุคล”สั่งกรมส่งเสริมการเกษตรเร่งขึ้นทะเบียนเกษตรกรสวนยาง หวังเร่งจ่ายเงินช่วยเหลือปัจจัยการผลิต ตามที่ครม.อนุมัติ 2,520 บาท/ไร่ รายละไม่เกิน 25 ไร่ พร้อมมอบอสย.เป็นพี่เลี้ยงกลุ่มเกษตรกรตั้งโรงงานแปรรูปยางที่เหมาะสมในพื้นที่ เชื่อมอุตสาหกรรมปลายน้ำ
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า หลังจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบโครงการแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ ปี 2557 ตามมติคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ที่ได้เสนอปรับปรุงมาตรการแก้ไขปัญหายางพาราระยะสั้นเร่งด่วน โดยอนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อการดำเนินงานตามแนวทางแก้ไขปัญหาระยะสั้นของโครงการ วงเงิน 21,248.95 ล้านบาท จากเดิมที่ได้อนุมัติไว้แล้วจำนวน 5,628.01 ล้านบาท โดยเพิ่มขึ้นจำนวน 15,620.94 ล้านบาท เพื่อจ่ายเงินช่วยเหลือในด้านปัจจัยการผลิตแก่เกษตรกรชาวสวนยางที่มีพื้นที่ยางเปิดกรีดไม่เกิน 25 ไร่ ตามพื้นที่เปิดกรีดจริง ส่วนเกษตรกรที่มีพื้นที่ยางเปิดกรีด 25 ไร่ ขึ้นไป จะได้รับความช่วยเหลือไม่เกิน 25 ไร่ ในอัตราไร่ละ 2,520 บาท
ซึ่งความคืบหน้าการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกยางที่จะเข้าร่วมโครงการจำนวน 991,717 ราย พื้นที่เป้าหมายประมาณ 8.97 ล้านไร่ ขณะนี้มีเกษตรกรมาแจ้งขึ้นทะเบียนแล้วประมาณ 5 หมื่นราย จึงได้กำชับกรมส่งเสริมการเกษตรเร่งประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรมาแจ้งขึ้นทะเบียนเพื่อให้กระบวนการตรวจสอบพื้นที่และการจ่ายเงินช่วยเหลือผ่านบัญชีธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เกิดความรวดเร็วมากขึ้น
นายยุคล กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ในด้านความคืบหน้าการดำเนินการในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ไม่มีเอกสิทธิ์นั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะหารือร่วมกันเพื่อหาแนวทางช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยางภายใต้ขอบเขตของกฎหมาย ซึ่งเบื้องต้นทางกรมป่าไม้ได้มีแนวทางและวิธีดำเนินการในพื้นที่ป่าอยู่แล้ว เมื่อได้ข้อมูลการแจ้งขึ้นทะเบียนเกษตรกรว่ามีจำนวนเกษตรกรที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์มีจำนวนเท่าใด และอยู่ที่ใดบ้าง ก็น่าจะมีแนวทางที่ชัดเจนในการให้ความช่วยเหลือในเร็วๆ นี้
สำหรับมาตรการระยะปานกลางที่รัฐจะเข้าไปสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยผ่อนปรนวงเงินสินเชื่อ 5,000 ล้านบาท เพื่อให้สถาบันเกษตรกรที่มีศักยภาพได้ใช้ประโยชน์จากโรงงานแปรรูปที่มีการสร้างไว้แล้วหรือลงทุนจัดสร้างโรงงานใหม่ โดยเสนอโครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนเงินสินเชื่อจาก ธ.ก.ส. นั้นได้มอบหมายให้องค์การสวนยาง (อ.ส.ย.)เป็นพี่เลี้ยงให้กลุ่มเกษตรกรที่มีความเข็งแข็งในการตั้งโรงงานขึ้นมาหรือปรับปรุงโรงงานที่มีโครงสร้างเดิมอยู่แล้ว โดยพิจารณาเรื่องการตลาดและเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น โรงผลิตน้ำยางข้น เพื่อป้อนโรงงานผลิตถุงมือยาง เป็นต้น
ขณะที่ส่วนของอุตสาหกรรมปลายน้ำซึ่งธนาคารออมสินจะเข้ามาดำเนินการสนับสนุนสินเชื่อให้แก่กลุ่มอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการรายใหญ่เพื่อสนับสนุนการขยายกำลังการผลิตและการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรการผลิต ในวงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาทนั้น จะดำเนินการโดยสภาอุตสาหกรรมฯที่จะเสนอโครงการเข้ามายังสถาบันการเงินที่จะเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ของโครงการ