สภาพัฒน์เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสโครงการ GMS ครั้งที่ 8

ข่าวทั่วไป Friday June 26, 1998 14:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพ--26 มิ.ย.--สศช.
นายสรรเสริญ วงศ์ชะอุ่ม รองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เปิดเผยว่าสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส โครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ หรือ Greater Mekong Subregion (GMS) ครั้งที่ 8 ในระหว่างวันที่ 2-3 กรกฎาคม 2541 ณ โรงแรม JW Marriott ถนนสุขุมวิท ซอย 2 กรุงเทพมหานคร
สำหรับโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ อันประกอบด้วยประเทศสมาชิก 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย กัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนประเทศลาว (สปป.ลาว) พม่า เวียดนาม และจีนตอนใต้ (มณฑลยูนาน) ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการขยาายตัวด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การค้า การลงทุนและบริการเพื่อให้เกิดการจ้างงานและยกระดับการครองชีพ รวมทั้งให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยี่และการศึกษาร่วมกัน ตลอดจนให้มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งเสริมกันอย่างมีประสิทธิภาพในอันที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสการแข่งขันในเวทีการค้าโลก
ในการดำเนินงานตามโครงการ GMS ดังกล่าว ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ได้มห้การสนับสนุนทางวิชาการเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการพัฒนาความร่วมมือในกรอบ GMS ใน 7 สาขาหลัก ได้แก่ สาขาคมนาคมขนส่งสาขาสื่อสารโทรคมนาคม สาขาพลังงาน สาขาท่องเที่ยว สาขาการค้าการลงทุน สาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และสาขาสิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ปัจจุบันอยู่ในระหว่างการศึกษาการจัดทำวิสัยทัศน์ความร่วมมือในกรอบ GMS จนถึงปี 2563 หรือ GMS 2020 ทั้งนี้โดยจะนำเสนอผลการศึกษาต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในเดือนกันยายน 2541 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์
สศช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการโครงการ GMS ร่วมกับ ADB จึงได้จัดการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 8 นี้ขึ้น เพื่อพิจารณาแผนงาน/โครงการและแนวทางการดำเนินงานเพื่อเตรียมเสนอต่อที่ประชุมระดับรัฐมนตรีดังกล่าว โดยจะพิจารณาในรายละเอียดเกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจที่มีต่อแผนงาน/โครงการ รวมทั้งพิจารณาทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาความร่วมมือภายใต้ภาวะวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ เพื่อนำไปสู่ปรับกรอบแผนงาน/โครงการที่มีลำดับความสำคัญสูงใน 7 สาขาหลักดังกล่าว ตลอดจนเพื่อติดตามความก้าวหน้าในการดำเนินงาน
รองเลขาธิการฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้เข้าร่วมประชุมจะประกอบด้วยเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสของ 6 ประเทศ อาทิกระทรวงวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงคมนาคม กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงการท่องเที่ยว ฯลฯ และผู้บริหารระดับสูงของ ADB สำหรับกำหนดการประชุมในวันที่ 2 ก.ค. จะเริ่มเวลา 8.30 น. เป็นพิธีเปิดการประชุมโดยนายศุภชัย พานิชภักดิ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นผู้กล่าวต้อนรับและปาฐกถาพิเศษ โดยมีผู้อำนวยการโครงการฝ่ายตะวันตกของ ADB นาย Geert van de Linden เป็นผู้กล่าวเปิดการประชุม จากนั้นจะเป็นการนำเสนอภาพรวมสถานะความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงของทั้ง 6 ประเทศ โดยหัวหน้าคณะของแต่ละประเทศ ถัดจากนั้นจะเป็นการนำเสนอภาพรวมวิกฤติการณ์เศรษฐกิจและแนวทางดำเนินงานโดย ADB ซึ่งจะแบ่งออกเป็นรายสาขา คือ สาขาคมนาคมขนส่ง ภาคบ่ายต่อด้วยสาขาสื่อสารและโทรคมนาคม สาขาพลังงาน สาขาท่องเที่ยว สาขาสิ่งแวดล้อม
ส่วนในวันที่ 3 ก.ค. จะเป็นการนำเสนอ ในสาขาการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์สาขาการค้าและการลงทุน จากนั้นจึงเป็นการสรุปผลการประชุมรายสาขา ระเบียบกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในความร่วมมือ การรวบรวมแผนชาติและแผนงาน/โครงการความร่วมมือในอนุภูมิภาคแนวทางการพัฒนาความร่วมมือในอนุภูมิภาค วิสัยทัศน์การพัฒนาความร่วมมือในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง จนถึง ค.ศ. 2020 แผนปฏิบัติการความร่วมมือในอนุภูมิภาค และการจัดเตรียมวาระการประชุมสำหรับการประชุมระดับรัฐมนตรีในเดือนกันยายนต่อไป--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ