กรุงเทพฯ--12 ก.ย.--สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี
ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี ชี้ โรคหัวใจและหลอดเลือดสามารถป้องกันได้ด้วยการเลือกแนวทางปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง โดยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่ดี ลดหวาน มัน เค็ม ไม่สูบบุหรี่ และตรวจหาความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจอย่างสม่ำเสมอ เนื่องในวันรณรงค์หัวใจโลก 29 กันยายน นี้
โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นสาเหตุการเสียชีวิตที่สำคัญของประชากรทั่วโลก และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนาและในสังคมเมือง โดยที่ปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุของการเกิดโรคส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมสุขภาพของปัจเจกบุคคล ซึ่งโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ร้อยละ 80 และถ้าทุกคน ทุกฝ่าย มีความตระหนักและร่วมมือกันอย่างจริงจัง ที่จะปกป้องหัวใจของตนเองและบุคคลที่เรารักให้มีสุขภาพดีอย่างยั่งยืน ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงที่จะนำไปสู่การเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในชีวิตประจำวัน
นายแพทย์ศรายุธ อุตตมางคพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 7 อุบลราชธานี กล่าวว่าปัจจัยหลักที่ทำให้อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ คือ การใช้ชีวิตอยู่บนความเสี่ยง และละเลยการดูแลสุขภาพเท่าที่ควร โดยเฉพาะการพักผ่อนไม่เพียงพอ การไม่ค่อยสนใจออกกำลังกาย เผชิญกับความเครียดไม่เลือกเวลาและสถานที่ และที่สำคัญคือ การเลือกรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ซึ่งอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมา เช่น โรคอ้วน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น หากเราดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรคหัวใจอย่างเคร่งครัด ก็จะช่วยยืดชีวิตได้มากกว่าการรักษาโรคถึง 4 เท่า โดยมีวิธีการง่ายๆ ดังนี้
1. การออกกำลังกาย โดยกิจกรรมเคลื่อนไหวร่างกาย 30นาที 5 ครั้ง ต่อสัปดาห์ ให้ร่างกายได้มีกิจกรรมเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน เช่น การเล่นกิจกรรมกลางแจ้งกับเด็กๆ เตะฟุตบอล การทำสวนที่บ้าน การทำงานบ้านและเรียกให้ลูกๆมีส่วนร่วมในการทำงานบ้านด้วย การขี่จักรยานไปทำงาน การใช้บันไดขึ้น-ลงแทนการใช้ลิฟท์ เป็นต้น
2. รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพหัวใจการรับประทานผักและผลไม้สามารถป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ หลีกเลี่ยงการบริโภคขนมหวาน ขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม ที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกาย และบริโภคเกลือไม่เกิน 1ช้อนชาต่อวัน
3. งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการสูดดมควันบุหรี่มือสอง สามารถลดปัจจัยเสี่ยงการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
4. รู้ค่าความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดของตนเองโดยการตรวจสุขภาพกับผู้เชี่ยวชาญ เพื่อตรวจวัด ความดันโลหิต โคเลสเตอรอล ระดับน้ำตาลในเลือด น้ำหนักตัวและค่าดัชนีมวลกาย (BMI)
ทั้งนี้ สมาพันธ์หัวใจโลก (World Heart Federation) ได้กำหนดให้ วันที่ 29 กันยายน ของทุกปี เป็นวันรณรงค์หัวใจโลก สำหรับประเด็นสารในปีนี้ คือ “Take the road to a healthy heart” แปลเป็นภาษไทย โดยกระทรวงสาธารณสุข และมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ คือ “เลือกแนวทางปฏิบัติตัวเพื่อหัวใจที่แข็งแรง”นพ.ศรายุธ กล่าว.