กรุงเทพฯ--13 ก.ย.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
นางสาวจุฬารัตน์ สุธีธร ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้แถลงผลการประชุม PDMO — Market Dialogue ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ในวันที่ 12 กันยายน 2556 ซึ่งเป็นการประชุมหารือแบบหลายฝ่ายระหว่าง สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) ผู้ค้าหลักของกระทรวงการคลัง (MOF Outright PD) และผู้ร่วมตลาดตราสารหนี้ จำนวน 150 ท่าน ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะตลาดตราสารหนี้ในปัจจุบันและความต้องการของนักลงทุน เพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำแผนการระดมทุนของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ตลอดจนแนวทางการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศในอนาคต โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
1. ประมาณการความต้องการระดมทุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557
ประมาณการความต้องการระดมทุนของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 วงเงินรวม 760,xxx ล้านบาท แบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้
1.1. การกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ (Rollover)
(ก) กู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้ พรบ. หนี้สาธารณะ (ขาดดุลฯ) 231,xxx ล้านบาท
(ข) กู้เพื่อปรับโครงสร้างหนี้ภายใต้ พ.ร.ก. FIDF 130,xxx ล้านบาท
1.2. การก่อหนี้ใหม่ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 (การกู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการกู้เงินภายใต้ พ.ร.ก. และ พ.ร.บ.)
(ค) กู้เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ 250,000 ล้านบาท
(ง) ร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนา 137,xxx ล้านบาท
โครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ....
1.3 ประมาณการเบิกจ่ายภายใต้วงเงินกู้ของ พ.ร.ก. บริหารจัดการน้ำ
(จ) พ.ร.ก. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการวางระบบ 9,xxx ล้านบาท
บริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ. 2555
รวม 1.1 + 1.2 + 1.3 760,xxx ล้านบาท
2. กลยุทธ์การระดมทุนของรัฐบาลประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557
2.1 การสร้างความต่อเนื่องของ Benchmark Bond
สบน.จะใช้พันธบัตร Benchmark เป็นเครื่องมือหลักในการระดมทุน โดยจะออกพันธบัตร Benchmark รุ่นอายุ 5 ปี 10 ปี 15 ปี 30 ปี และ 50 ปี รวมทั้งหมดประมาณ 375,000 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 50 ของปริมาณการระดมทุนทั้งหมด 760,xxx ล้านบาท โดย สบน. จะเร่งสร้างสภาพคล่องให้กับพันธบัตร Benchmark ที่จะออกในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 โดยจะเน้นการ Top-up บนพันธบัตรรุ่นเดิมที่มีอยู่แล้วในตลาด
นอกจากนี้ สบน. ได้กำหนดให้พันธบัตร Benchmark รุ่นอายุ 5 ปี ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 เป็นรุ่นที่มี Exclusivity โดยจำกัดให้เฉพาะ MOF Outright PD เท่านั้นที่สามารถเข้าร่วมการประมูลได้ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา สบน. ได้กำหนดให้พันธบัตร Benchmark รุ่น 5 ปี (LB196A) ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 เป็นรุ่นที่มี Exclusivity เป็นครั้งแรก ผลปรากฏว่า พันธบัตร Benchmark รุ่น 5 ปีดังกล่าว มีการเข้าประมูลครบตามจำนวนที่ต้องการ และมีต้นทุนจากการประมูลต่ำกว่าราคาตลาดทุกครั้ง รวมถึงมีการแข่งขันในการประมูลสูง เห็นได้จากผู้ที่ประมูลได้รับการจัดสรรรายแรกและรายสุดท้าย มีต้นทุนต่างกันเพียง 1 — 2 basis points เท่านั้น ซึ่ง สบน. ถือว่าการให้ Exclusivity กับ MOF Outright PD ในพันธบัตร Benchmark รุ่นอายุ 5 ปี ประสบความสำเร็จ และจะดำเนินในแนวทางนี้ต่อไป
2.2 การออกพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ (Inflation Linked Bond : ILB)
สบน. ได้ดำเนินการออก ILB มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาให้ ILB สามารถเป็นเครื่องมือการระดมทุนหลักของรัฐบาล และสร้างอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงให้กับตลาดตราสารหนี้ได้ โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2556 สบน. ได้เริ่มออก ILB รุ่นอายุ 15 ปี (ILB283A) อย่างสม่ำเสมอ เพื่อเพิ่มยอดคงค้างและสภาพคล่องของพันธบัตร ILB รุ่นนี้ โดยในปัจจุบัน ILB283A มียอดคงค้าง 55,000 ล้านบาท ดังนั้น สบน. จึงมีแผนที่จะทำการประมูลพันธบัตรดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีกในปีงบประมาณ 2557 อีก 45,000 ล้านบาท เพื่อให้พันธบัตรรุ่นดังกล่าวมียอดคงค้าง ประมาณ 100,000 ล้านบาท ตามเป้าหมายเพื่อสร้างสภาพคล่องให้กับพันธบัตรดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม จากสภาวะตลาดที่มีการปรับตัวของ Yield กระชากสูงขึ้นกว่า 115 basis points ในช่วงระยะเวลา 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา (16 ส.ค. 2556 — 10 ก.ย. 2556) ดังแสดงในรูปที่ 2 สบน. จึงจำเป็นต้องพิจารณาทบทวนการออก ILB ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดต่อไป
2.3 การระดมทุนสำหรับร่าง พ.ร.บ. ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. .... วงเงินรวมไม่เกิน 2 ล้านล้านบาท
สบน. วางแผนทยอยระดมทุนภายใต้กฎหมายดังกล่าวเป็นระยะเวลา 7 ปี โดย ร่าง พ.ร.บ. โครงสร้างพื้นฐานฯ ดังกล่าว อาจมีการเบิกจ่ายเงินเป็นวงเงินสูงในคราวเดียว (20,000 ล้านบาทขึ้นไป) ซึ่ง สบน. ก็จะพิจารณากู้เงินโดยการออกตราสารหนี้รัฐบาล โดยอาจจะไม่ต้องระดมทุนผ่าน Bank Loan อย่างไรก็ตาม สบน. จะมีการหารือกับผู้ร่วมตลาดอีกครั้ง
สบน. ประเมินสภาพคล่องในประเทศในปัจจุบันแล้วคาดว่าจะสามารถรองรับความต้องการระดมทุนของรัฐบาลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ได้ อย่างไรก็ตาม ร่าง พ.ร.บ. ฯ ดังกล่าว ให้อำนาจกระทรวงการคลังในการกู้เงินจากต่างประเทศด้วย ซึ่งกระทรวงการคลังมีนโยบายที่จะมีส่วนร่วมในตลาดการเงินต่างประเทศอย่างสม่ำเสมอเพื่อสร้าง Benchmark ให้กับนักลงทุนภาคเอกชนและเป็นการพัฒนาตลาดตราสารหนี้อย่างต่อเนื่อง โดย สบน. มีการติดตามสภาวะตลาดต่างประเทศอย่างใกล้ชิดเพื่อกำหนดกลยุทธ์การระดมทุนที่เหมาะสมต่อไป
2.4 การออกตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) อย่างเป็นระบบ
สบน. จะเริ่มออก T-Bill รุ่นอายุ 28 วัน อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง เพื่อช่วยรักษาระดับเงินคงคลังให้อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการเบิกจ่ายของหน่วยงานต่างๆ และรองรับการเข้าสู่งบประมาณสมดุลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 โดย สบน. จะออกตั๋วเงินคลังรุ่นอายุ 28 วัน วงเงิน 25,000 ล้านบาท อย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่องทุกสัปดาห์ และมีวงเงินเพียงพอต่อความต้องการของตลาดเพื่อให้มียอดคงค้างประมาณ 100,000 ล้านบาท ตลอดทั้งปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ทั้งนี้ สบน. ได้ประสานงานกับ ธปท. แล้ว โดย ธปท. จะงดการออกตั๋วเงินคลังรุ่นอายุเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดความสับสนขึ้นในตลาด
3. การแต่งตั้งผู้ค้าหลักสำหรับธุรกรรมประเภทซื้อขายขาดของกระทรวงการคลังเพิ่มเติม
กระทรวงการคลัง โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังประกาศแต่งตั้งให้ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ค้าหลักสำหรับธุรกรรมประเภทซื้อขายขาด ของกระทรวงการคลัง (MOF Outright PD) โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2556 เพื่อทำหน้าที่เป็น Market Maker ในการสร้างสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ และเป็นตัวกลางในการสื่อสารกับนักลงทุนเพื่อขยายฐานนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ
สบน. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า การเพิ่มสมาชิกของ MOF Outright PD จะช่วยส่งเสริมประสิทธิภาพในการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ไทยให้เป็นศูนย์กลางการลงทุนและการระดมทุนของภาครัฐและเอกชนสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือ ASEAN Economic Community (AEC) ในปี พ.ศ. 2558
4. แนวทางการทำ Bond Switching และ Bond Consolidation
สบน. ได้เตรียมพัฒนาธุรกรรม Bond Switching และ Bond consolidation เพื่อการบริหารหนี้ให้มีความคล่องตัว ลดความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้ และเพิ่มสภาพคล่องในตลาดรอง รวมถึงสอดคล้องกับแผนพัฒนาตลาดทุนไทยที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธาน โดยมีรายละเอียดของธุรกรรมดังกล่าว ดังนี้
4.1 Bond Switching — เพื่อลดความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้ของพันธบัตรที่มียอดคงค้างสูง โดย สบน. จะใช้ธุรกรรมนี้กับพันธบัตรที่ใกล้ครบกำหนดชำระ และมีความเสี่ยงในการปรับโครงสร้างหนี้ โดย สบน. จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถนำเอาพันธบัตรรุ่นที่ สบน. กำหนด มาแลกเป็นพันธบัตร Benchmark รุ่นที่เป็น On-the-Run ที่มีสภาพคล่องและมีอายุยาวกว่าได้
4.2 Bond Consolidation — เพื่อลดจำนวนรุ่นของพันธบัตรรัฐบาลในตลาด โดยเฉพาะพันธบัตรระยะยาวที่มีวงเงินเล็กและสภาพคล่องต่ำ โดย สบน. จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนสามารถนำพันธบัตรรุ่นที่ สบน. กำหนด มาแลกเป็นพันธบัตร Benchmark รุ่นที่เป็น On-the-Run ที่มีสภาพคล่องสูงกว่าได้
ทั้งนี้ สบน. จะให้ MOF Outright PD เป็นตัวกลางในการทำธุรกรรมดังกล่าว และจะหารือกับ PD ถึงวิธีปฏิบัติในการทำธุรกรรม Bond Switching และ Bond Consolidation อย่างละเอียดต่อไป
5. การกำหนดให้เงินกู้ประเภทดอกเบี้ยลอยตัวของรัฐบาลและของรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน ใช้อัตราดอกเบี้ย BIBOR 6 เดือน เป็นดอกเบี้ยอ้างอิง
กระทรวงการคลังและ ธปท. ได้มีการหารือร่วมกันถึงแนวทางการส่งเสริมและพัฒนาอัตราดอกเบี้ย Bangkok Interbank Offered Rate (BIBOR) ให้สามารถใช้เป็นอัตราอ้างอิงในตลาดการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพและแพร่หลายเช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยดอกเบี้ย LIBOR หรือ SIBOR ในระดับสากล
ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 กระทรวงการคลังมีแผนที่จะสนับสนุนการใช้อัตราดอกเบี้ย BIBOR สำหรับการระดมทุนสำหรับเงินกู้ของรัฐบาลภายใต้ พ.ร.บ. โครงสร้างพื้นฐานฯ และเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลค้ำประกัน ซึ่งสามารถกู้เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัวที่ใช้ BIBOR เป็นอัตราอ้างอิงได้ โดยกระทรวงการคลังพร้อมจะสนับสนุน ธปท. ในการพัฒนาอัตราดอกเบี้ย BIBOR ให้สามารถใช้เป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงระยะสั้นในตลาดการเงินต่อไป
6. สบน. นำข้อมูลและข้อเสนอแนะจากผู้ร่วมตลาดและข้อมูลอื่นประกอบการพิจารณาแนวทางการออกพันธบัตรรัฐบาลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2557
ในการกำหนดแผนการระดมทุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 นั้น สบน. จะทำการพิจารณาจากปัจจัยหลายประการ เช่น
ผลการจัดเก็บรายได้จริงเทียบกับประมาณการและการเบิกจ่ายงบประมาณของส่วนราชการ เพื่อวางแผนและวงเงินในการระดมทุนโดยไม่ให้ความผันผวนในด้านรายได้และรายจ่ายส่งผลกระทบต่อการออกพันธบัตร Benchmark
ความต้องการของตลาด โดย สบน. ได้สำรวจความคิดเห็นของ PD และผู้ร่วมตลาดอย่างสม่ำเสมอผ่านการจัดทำ Market Dialogue เป็นรายไตรมาส (การหารือแบบหนึ่งต่อหนึ่งกับ PD) และรายปี (การประชุมกับผู้ร่วมตลาดทั้งหมด)
แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยและความสอดคล้องกันระหว่างการออกพันธบัตรรัฐบาลและการออกพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทย โดย สบน. ได้มีการประชุมกับธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอ อาทิ การประชุมคณะทำงานเพื่อการกู้เงินและบริหารเงินกู้เพื่อชดเชยการขาดดุล การประชุมคณะทำงานพิจารณาการกู้เงินและบริหารเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุน FIDF เป็นต้น
ผลการวิเคราะห์ข้อมูลการระดมทุนด้วยเครื่องมือต่างๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาแนวทางการระดมทุนสบน. จะนำข้อมูลและข้อเสนอแนะที่ได้รับจากผู้ร่วมตลาดในวันนี้ ไปประกอบการพิจารณาแผนการระดมทุนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 และนำเสนอต่อคณะทำงานต่างๆ เพื่อให้ความเห็นชอบในการระดมทุน ซึ่ง สบน. จะประกาศตารางการประมูลพันธบัตรรัฐบาลประจำไตรมาสที่ 1 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 ณ สิ้นเดือนกันยายน 2556
ทั้งนี้ สบน. ขอขอบคุณ ธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมตลาดตราสารหนี้ MOF Outright PD และผู้ร่วมตลาดที่เข้าร่วมในการประชุม PDMO Market Dialogue ทุกท่าน โดย สบน. จะจัดการประชุม PDMO Market Dialogue อย่างสม่ำเสมอเพื่อรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับแผนการระดมทุน ตลอดจนแนวทางการพัฒนาตลาดตราสารหนี้ในประเทศต่อไป
สำนักพัฒนาตลาดตราสารหนี้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ
โทร. 02-271-7999 ต่อ 5816, 5812
www.pdmo.go.th