กรุงเทพ--19 ต.ค.--กรมการค้าต่างประเทศ
กรมการค้าต่างประเทศ สรุปผลการขอใช้สิทธิ GSP ของสินค้าไทยไปสหภาพยุโรป (EU) ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2541 ( มค. - มิ.ย. ) ที่ผ่านมา ซึ่งรวบรวมจากสำเนา ฟอร์ม เอ ปรากฎว่า มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 1,872.58 ล้านเหรียญสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 64.19 ของมูลค่ารวมที่มาขอใช้สิทธิไปยังทุกระบบ แยกเป็นสินค้าเกษตรมูลค่าประมาณ 472.64 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าอุตสาหกรรมประมาณ 1,399.94 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งหากเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2540 ที่ผ่านมา สินค้าเกษตรมุมูลค่าการขอใช้สิทธิ GSP เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.02 สินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่าลดลงร้อยละ 35.98 ส่งผลให้มูลค่าการขอใช้สิทธิไป EU โดยรวมลดลงร้อยละ 26.65 ทั้งนี้เนื่องจากว่าสินค้าอุตสาหกรรม 6 กลุ่มสินค้า ได้แก่ กลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์พลาสติกและยาง ผลิตภัณฑ์ทำจากหนัง เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ และกลุ่มสินค้าเบ็ดเตล็ด ถูกตัดสิทธิ 100 % เมื่อต้นปี 2541
สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการขอใช้สิทธิไป EU สูงในครึ่งปีแรกนี้ ได้แก่ ส่วนประกอบของเครื่องประมวลผลข้อมูล กุ้งแช่แข็ง หน่วยรับข้อมูลหรือหน่วยแสดงข้อมูล รถบรรทุกชนิดแวนและชนิดปิกอัพ น้ำหนักไม่เกิน 5 ตัน และสับปะรดปรุงแต่ง มูลค่าส่งออกประมาณ 202.50, 118.13, 75.28, 61.56 และ 61.24 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ ตลาดส่งออกที่สำคัญใน EU จำนวน 5 ลำดับแรกได้แก่ อังกฤษ เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และอิตาลี โดยมีมูลค่าประมาณ 368.27, 358.51, 298.82, 206.23 และ 205.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตามลำดับ
ถึงแม้ว่าการถูกตัดสิทธิ GSP ในกลุ่มสินค้าสำคัญจะส่งผลให้การขอใช้สิทธิ GSP ไป EU ของไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2541 ลดลง แต่อย่างไรก็ดีแม้ว่าการขอใช้สิทธิ GSP จะลดลงก็ตาม แต่มูลค่าการส่งออกทั่วไปโดยรวม ยังคงเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อย สำหรับสินค้าส่งออกที่มีมูลค่าสูงได้แก่ สินค้าเครื่องประดับ เสื้อผ้า ผลิตภัณฑ์พลาสติกและยาง ทั้งนี้ อาจเนื่องจากผู้ส่งออกไทยสามารถปรับตัวได้ระดับหนึ่งในสินค้าที่ถูกตัดสิทธิ GSP ทำให้สามารถส่งออกไปยังตลาด EU ได้ ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่า GSP ยังไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการส่งออก หากผู้ส่งออกไทยเร่งปรับปรุงรูปแบบของผลิตภัณฑ์และพัฒนาด้านคุณภาพสินค้า จะทำให้คงความสามารถและมีศักยภาพในการขยายตลาดต่อไปได้
สอบถามรายละเอียดและข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ โทร. 225 1315--จบ--