สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ประจำสัปดาห์ 9 - 13 ก.ย. 2556 และแนวโน้มในสัปดาห์ที่ 16- 20 ก.ย. 2556

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 16, 2013 12:23 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--ปตท. ฝ่ายกลยุทธ์ และแผนธุรกิจหน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สรุปรายงานสถานการณ์น้ำมันดิบในสัปดาห์ที่ผ่านมาเมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อน ราคาน้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูปเฉลี่ยปรับลดลงทุกชนิด โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent)ลดลง 2.88เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 112.38 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลอยู่ที่ 108.26 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ลดลง0.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ระดับ 109.46เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาเฉลี่ยน้ำมันเบนซิน 95 ลดลง 4.59 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 116.84 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลลดลง 1.21 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 124.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ปัจจัยที่ส่งผลกระทบมีดังต่อไปนี้ : ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงลบ - รัฐมนตรีว่าการกระทรวงน้ำมันของซาอุดีอาระเบียนาย Ali al-Naimiกล่าวว่าประเทศมีความพร้อมในการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบเพื่อชดเชยปริมาณน้ำมันดิบในตลาดที่ขาดหายไปจากเหตุการณ์ความไม่สงบในภูมิภาคต่างๆ ทั้งนี้ซาอุดีอาระเบียผลิตน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 2556 เฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 10.19 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ - Thomson Reuters/University of Michigan รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคของสหรัฐฯ ในเดือน ก.ย. 2556 ลดลงจากเดือนก่อน 5.3 จุด มาอยู่ที่ 76.8 จุด ต่ำสุดในรอบ 6 เดือน ขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯ รายงานยอดขายปลีกในเดือน ส.ค. 2556 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.2% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ - Bloomberg รายงาน Bank of America (BofA) ธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับที่สองของสหรัฐฯ มีแผนลดจำนวนพนักงานกว่า 2,100 คน หลังอัตราดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้นและความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยลดลง ทั้งนี้ BofAได้แจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้าแล้ว เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2556 และจะดำเนินการเรียบร้อยภายในวันที่ 31 ต.ค. 2556 สร้างความวิตกกังวลต่อผู้ลงทุนว่าการฟื้นตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์มีสภาวะซบเซา - สำนักงานสถิติแห่งสหพันธรัฐของเยอรมนีรายงานยอดส่งออกในเดือน ก.ค. 2556 ลดลงจากเดือนก่อน 1.1% ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ก.ค. 56 ลดลงจากเดือนก่อน และลดลงมากที่สุดในรอบปีกว่าอยู่ที่ระดับ 1.7% - สภาที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายกรัฐมนตรีอินเดียปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของอินเดียในปีงบประมาณ 2556 (สิ้นสุดในเดือน มี.ค. 2557) มาอยู่ที่ 5.3% ลดลงจากการคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 6.4% - นาย SlimanQajamคณะกรรมาธิการด้านพลังงานของรัฐบาลลิเบีย แถลงแหล่งผลิตน้ำมันดิบและท่าส่งออกน้ำมันของลิเบียจะสามารถกลับมาดำเนินการได้และลิเบียจะสามารถผลิตน้ำมันได้ 600 KBD ในช่วงกลางสัปดาห์นี้ ภายหลังรัฐบาลลิเบียสามารถบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มผู้ประท้วงได้ ทั้งนี้ ณ วันที่ 3 ก.ย. 56 บริษัทน้ำมันแห่งชาติลิเบีย(National Oil Corp.) รายงานลิเบียสามารถผลิตน้ำมันดิบได้ 240,000 บาร์เรลต่อวัน โดยเดือน เม.ย. 2556 ก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ไม่สงบขึ้นลิเบียผลิตน้ำม้ำมันดิบที่ระดับ 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวันและเหตุประท้วงส่งผลให้ลิเบียสูญเสียรายได้กว่า 140 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อวัน ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันในเชิงบวก - National Hurricane Center ของสหรัฐฯ รายงานพายุเฮอร์ริเคน Ingrid เคลื่อนตัวเข้าสู่อ่าวเม็กซิโกและชายฝั่งแปซิฟิก บริษัท Pemex ของเม็กซิโกประกาศอพยพคนงานออกจากแท่นขุดเจาะน้ำมันดิบ 3 แห่งและปิดหลุมขุดเจาะน้ำมันดิบ 24 หลุม - กรมศุลกากรจีนรายงานยอดส่งออกในเดือน ส.ค. 2556 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 7.2% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ โดยยอดส่งออกสู่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของจีน 2 อันดับแรก) เพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน หลังจากก่อนหน้านี้ลดลงต่อเนื่อง 4 เดือน - สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (Industrial Output) เดือน ส.ค. 2556 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 10.4% ปรับตัวสูงขึ้นมากที่สุดในรอบ 17 เดือน ทั้งนี้ยอดสินค้าขายปลีก (Retail Sales) เดือน ส.ค. 2556 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 0.2% อยู่ที่ 13.4% - กรมศุลกากรของจีนรายงานจีนนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน ส.ค. 2556 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 16.5% อยู่ที่ระดับ 5.07 ล้านบาร์เรลต่อวันทั้งนี้จีนนำเข้าน้ำมันดิบในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2556 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.9% - สำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นรายงานอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ของญี่ปุ่นในไตรมาสที่ 2/56 ครั้งที่ 2 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ระดับ 3.8% ขณะเดียวกัน กรุงโตเกียวของญี่ปุ่นได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2563 เชื่อว่าจะเป็นการสร้างคุณูปการอย่างใหญ่หลวงให้กับเศรษฐกิจของญี่ปุ่น โดยเฉพาะการกระตุ้นภาคการก่อสร้าง และการท่องเที่ยวทำให้เกิดการจ้างงาน และสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภค แนวโน้มราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ NYMEX WTI ลดลงจาก Commodity Futures Trading Commission (CFTC) รายงานว่ากลุ่มผู้จัดการกองทุนลดสถานะการถือครองสัญญาซื้อสุทธิ (Net Long Position) น้ำมันดิบ WTI ในตลาดซื้อขายล่วงหน้า NYMEX ที่นิวยอร์กและ ICE ที่ลอนดอน ลงเป็นสัปดาห์ที่ 2 ติดต่อกัน เฉพาะสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 10 ก.ย. 56 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 12,468 สัญญา มาอยู่ที่ 335,025 สัญญา เนื่องจากความกังวลต่อสงครามในซีเรีย ซึ่งเป็นปัจจัยหลักที่สนับสนุนราคาน้ำมันดิบผ่อนคลายลงภายหลังสถานการณ์คลี่คลายไปในทางสันติ จากผลการเจรจาสันติภาพที่กรุงเจนีวา ระหว่างนาย จอห์น แครรี่ย์ และ นาย เซอร์ไก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ และรัสเซียเสนอทางออกทางการทูตด้วยการให้ซีเรียส่งมอบอาวุธเคมีให้กับนานาชาติ ล่าสุดซีเรียยื่นเจตจำนงขอเข้าร่วม Organisation for the Prohibition of Chemical Weapons นับเป็นสัญญาณที่ดี อย่างไรก็ตามให้จับตาการสรุปรายงานผลการตรวจสอบอาวุธเคมีที่นาย บัน คีมุน เลขาธิการสหประชาชาติจะแถลงในวันนี้ ทางด้านเทคนิคความเคลื่อนไหวราคาน้ำมันดิบ ICE Brent และ WTI NYMEX ในสัปดาห์นี้มีแนวรับแนวต้านอยู่ที่ $110 - $115/เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ $105 - $110/เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ตามลำดับ สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน ราคาน้ำมันเบนซินปรับตัวลดลงจากผู้นำเข้ารายใหญ่ของภูมิภาคลดปริมาณการซื้อ โดย Pertaminaของอินโดนีเซียลดปริมาณการนำเข้าเดือน ต.ค. 56 ลงอยู่ที่ 8-9 ล้านบาร์เรล จาก 11-12 ล้านบาร์เรล ในเดือน ก.ค. และ ส.ค.2556 เนื่องจากความต้องการภายในประเทศลดลง นอกจากนี้ผู้ค้าคาดว่า Vietnam National Petroleum Import - Export Corp. (Petrolimex) ผู้นำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปอันดับ 1 ของเวียดนามอาจงดออกประมูลซื้อ Gasoline สำหรับส่งมอบในไตรมาส 4/2556 เนื่องจากอุปทานภายในประเทศอยู่ในระดับสูง สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาราคาน้ำมันดีเซลปรับตัวลดลงเนื่องจากอุปสงค์ภายในภูมิภาคเบาบาง ขณะที่อุปทานอยู่ในระดับสูง ปริมาณสำรอง Middle Distillate ของภูมิภาคเอเซียอยู่ในระดับสูงสุดของปี อาทิ สิงค์โปร์ และเกาหลีใต้อยู่ที่ระดับ 10.8 ล้านบาร์เรล และ 11 ล้านบาร์เรลตามลำดับ ขณะเดียวกันตลาดคาดว่าอุปทานดีเซลจะเพิ่มขึ้นจากการส่งออกของซาอุดิอาระเบีย และจีน โดยหน่วยกลั่นน้ำมันดีเซลหน่วยใหม่ที่แล้วเสร็จของโรงกลั่น Jubailของซาอุดีอาระเบียจะเริ่มผลิตดีเซลออกสู่ตลาดในช่วงเดือน ต.ค. นี้ กอปรกับปริมาณสำรอง Gas Oil เชิงพาณิชย์ของยุโรปบริเวณ ARA สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ก.ย. 2556 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.7 ล้านบาร์เรลหรือ 4.4 % อยู่ที่ 15.7 ล้านบาร์เรล

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ