กรุงเทพฯ--16 ก.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี
เด็กไทยสร้างชื่อเสียงบนเวทีระดับโลก จากประกวดงานวิจัยภายในงาน Novel research and innovation competition 2013 จัดขึ้นโดย University Sains Malaysia ณ ปีนัง ประเทศมาเลเซีย ด้วยการคว้ารางวัลเหรียญเงินจากการประกวดงานวิจัย ประเภท Health and medical science ในหัวข้อเรื่อง A Novel whitening active ingredient from the extract of Hypoxis aurea Lour. Extracts entrapped in niosomes “ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อผิวขาวจากสารสกัดจากว่านตาลเดี่ยวที่กักเก็บในนีโอโซม” สมาชิกประกอบด้วย “แน็ก” นายธนาธิป รักแก้ว “ส้ม” นางสาวเกวลิน ยะถาคาร และ “เรย์” นางสาวกิตติยา สุทธิพรม นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาแพทย์แผนไทยประยุกต์วิทยาลัยการแพทย์แผนไทย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ธัญบุรี โดยมี ดร.กรวินท์วิชญ์ บุญพิสุทธินันท์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษางานวิจัยในครั้งนี้
สมาชิกทั้งสาม เล่าว่า ปัจจุบัน เครื่องสำอางเพื่อผิวขาวได้เป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในสังคมไทย เนื่องจากการที่มีผิวขาวจะทำให้ดูสะอาดและดูอ่อนกว่าวัย และสามารถสร้างความประทับใจแก่ผู้พบเห็น เครื่องสำอางเพื่อผิวขาวในท้องตลาดส่วนมากมักจะใช้กรดธรรมชาติ เช่น AHA หรือ BHA มาเป็นส่วนผสม ข้อเสียของกรดเหล่านี้คือ จะทำให้ผิวบาง แพ้แสงแดด อาจก่อให้เกิดฝ้าในระยะยาว และอาจก่อให้เกิดอาการระคายเคือง แพ้ บวมแดง ในบริเวณที่ทา นอกจากนี้ยังมีการใช้สารสกัดจากพืชมาใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อผลิตเครื่องสำอาง เช่น arbutin ซึ่งเป็นสารที่ได้จากพืชมีประสิทธิภาพในการต้านการสร้างเมลานินได้ดี แต่มักมีราคาแพง ทำให้คนที่มีรายได้น้อยไม่สามารถซื้อได้ อีกทั้งสารสกัดบางชนิดมีฤทธิ์น้อยกว่าสารเคมีที่ใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางทั่วไป เช่น วิตามินซี และอาจมีความคงตัวต่ำ สลายตัวได้ง่าย จึงทำให้ฤทธิ์ทางชีวภาพน้อยลงไปด้วย
จากเหตุผลและโทษของการใช้สารสกัดมาเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอาง ทีมงานผู้วิจัยจึงได้คิดและหาวิธีในการหาสารสกัดที่เป็นพืชสมุนไพรในท้องถิ่นนำมาสกัด สำหรับว่านตาลเดี่ยว เป็นพืชสมุนไพรที่พบได้ทั่วไปของทุกภาค โดยอดีตชาวบ้าน คนในสมัยโบราณ นำมาฝนเพื่อรักษาสิว ฝ้า จุดด่างดำ บำรุงผิวพรรณ จากสรรพคุณและมีความปลอดภัยในการใช้สูง ทีมผู้วิจัยจึงได้ทำการวิจัย และสามารถนำ พัฒนาเป็นเครื่องสำอางเพื่อผิวขาวที่มีประสิทธิภาพสูงได้
ในการวิจัยทีมงานได้แบ่งออกการวิจัยเป็นสองระยะ โดยระยะแรก จะเป็นการนำใบและรากว่านตาลเดี่ยวมาสกัดด้วยวิธีการต่างๆ จากนั้นนำสารสกัดที่ได้มาทดสอบฤทธิ์ทางชีวภาพต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดริ้วรอยและจุดด่างดำ ได้แก่ ฤทธิ์การต้านการสร้างเมลานินในเซลล์เพาะเลี้ยง (Anti-melanogenesis) ฤทธิ์ต้านเอนไซม์ไทโรซิเนสซึ่งเป็นเอนไซม์หลักที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเมลานิน (Tyrosinase inhibition) ซึ่งพบว่าสารสกัดดังกล่าวให้ฤทธิ์ดังกล่าวได้ดีกว่าวิตามินซีซึ่งเป็นสารที่นิยมใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางเพื่อผิวขาวใส และยังมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระซึ่งเป็นสาเหตุของริ้วรอยและสามารถกระตุ้นการสร้างเซลล์ต้นกำเนิดซึ่งจะการเปลี่ยนแปลงไปเซลล์ต่างๆ (Differentiation) รวมไปถึงเซลล์ผิวหนังได้อีกด้วย นอกจากนี้ยังได้ทดสอบความเป็นพิษต่อเซลล์ผิวหนังเพาะเลี้ยงซึ่งพบว่าสารสกัดว่านตาลเดี่ยวไม่มีความเป็นพิษต่อเซลล์ดังกล่าว ซึ่งแสดงให้ว่าสารสกัดนี้มีความปลอดภัยต่อการใช้ทางผิวหนัง ผลงานวิจัยนี้ได้ถูกนำเสนอในงานประชุมวิชาการ และยังอยู่ในระหว่างการเขียนบทความวิจัยเพื่อตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติและกำลังอยู่ในการดำเนินการจดสิทธิบัตรอีกด้วย
ส่วนระยะที่สอง ผู้วิจัยได้นำผลวิจัยที่ได้มาต่อยอด นำสารสกัดที่ได้จากว่านตาลเดี่ยวมากักเก็บในนีโอโซมที่มีขนาดอนุภาคนาโนด้วยอัตราส่วนที่เหมาะสม สำหรับการกักเก็บด้วยนีโอโซมเพื่อช่วยเพิ่มฤทธิ์ต้านเมลานิน เพิ่มประสิทธิภาพการนำส่งสารสกัดลงสู่ผิวหนังได้ดียิ่งขึ้น และยังเพิ่มความคงตัวของสารสกัดให้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย จากนั้นได้นำสารสกัดตาลเดี่ยวที่กักเก็บในนีโอโซมมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางเพื่อผิวขาวในรูปแบบต่างๆ เช่น ครีม โลชั่น เจล สบู่ สครับ และเซรัม เป็นต้น ซึ่งในขณะนี้ได้อยู่ในขั้นตอนการทดสอบความพึงพอใจและอาการแพ้ในอาสาสมัคร
ในครั้งวิจัยนี้ยังถือว่าเป็นการสร้างองค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อเป็นพื้นฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนและเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน และยังเป็นการอนุรักษ์และคุ้มครองภูมิปัญญาของประเทศไทย เนื่องจากว่านตาลเดี่ยวเป็นพืชสมุนไพรของไทย ซึ่งหาได้ง่ายทั่วทุกภาคของประเทศผลงานวิจัยนี้จะทำให้ได้สารสำคัญอีกชนิดหนึ่งที่มีประสิทธิภาพสูงและสามารถใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางเพื่อผิวขาวได้เป็นอย่างดี โดยสามารถช่วยให้ผิวขาวขึ้น ลดจุดด่างดำ ลดริ้วรอย บำรุงผิวพรรณ และมีความปลอดภัยสูง อีกทั้งยังมีราคาไม่แพงอีกด้วย ผู้ที่สนใจในสารสกัดจากว่านตาลเดี่ยวที่กักเก็บในนีโอโซม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ดร.กรวินท์วิชญ์ 088-2667266
ชลธิชา ศรีอุบล
กองประชาสัมพันธ์ มทร.ธัญบุรี 02-549-4994