รมว.สธ. นำทีมผู้บริหารกระทรวงฯลงพื้นที่ชุมชนบางบัว

ข่าวทั่วไป Tuesday September 17, 2013 11:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ก.ย.--กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขนำทีมโดยนายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขพร้อมด้วยนายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้บริหารและเจ้าหน้าที่จากกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ชุมชนบางบัว ซอยพหลโยธิน 46 เขตบางเขน ร่วมรณรงค์และเชิญชวนประชาชนในพื้นที่จัดการสิ่งแวดล้อมทั้งที่อยู่ในบ้าน รอบบ้านและในชุมชน ไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ต้นเหตุของโรคไข้เลือดออกเป็นการแก้ปัญหาตรงต้นเหตุและสามารถเอาชนะไข้เลือดออกอย่างได้ผล นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออกของประเทศไทยระหว่างลงพื้นที่ชุมชนบางบัว เขตบางเขน กทม.เพื่อร่วมรณรงค์รวมพลังเอาชนะไข้เลือดออกว่า ล่าสุดพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 4,564 ราย ทำให้ขณะนี้มีผู้ป่วยทั่วประเทศ 120,404 รายเสียชีวิต 108 ราย อัตราป่วยสูงสุดอยู่ที่ภาคอีสาน 39,341 ราย รองลงมาคือภาคเหนือ 36,296 ราย ภาคกลาง 23,751 ราย และภาคใต้ 21,016 รายตามลำดับ กระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องช่วยกันเร่งรณรงค์กำจัดลูกน้ำยุงลายตามแหล่งชุมชนต่างๆเพื่อไม่ให้ไข่ยุงมีโอกาสฟักเป็นตัวยุง ให้ชุมชนมีความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคไข้เลือดที่ถูกต้อง มีการจัดการขยะที่ดี ไม่ให้มีแหล่งน้ำขังเพราะจะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ที่สำคัญต้องป้องกันการถูกยุงกัดโดยเฉพาะในเด็กๆการนอนกลางวันควรให้นอนในมุ้ง มีการฉีดพ่นยาฆ่ายุง และการทายากันยุง ฯลฯ สำหรับการลงพื้นที่ครั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขได้มอบถุงของขวัญเอาชนะไข้เลือดออกที่บรรจุทรายทีมีฟอส ยาทากันยุง หนังสือ นวัตกรรม และไฟฉาย นอกจากนี้ยังได้มอบมุ้ง เจลล้างมือ และเอกสารความรู้เกี่ยวกับวิธีการกำจัดยุง ซึ่งชุมชนบางบัวมีประชาชนอาศัยอยู่ 113 หลังคาเรือน มีประชากร 640 คน อสม. 4 คน ชุมชนพหลโยธิน 46 มี 112 หลังคาเรือน ประชากร 445 คน อสม. 11 คน โดยข้อมูลล่าสุดพบมีผู้ป่วยไข้เลือดออกในเขตจตุจักร 347 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 214.98 ต่อประชากรแสนคน ผู้ป่วยใน 4 สัปดาห์สุดท้าย 43 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 26.64 ต่อประชากรแสนคน ทางด้าน นายแพทย์โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าวว่าประชาชนในแหล่งชุมชนและพื้นที่เสี่ยงควรยึดปฏิบัติการป้องกันโรคไข้เลือดออกโดยการกำจัดยุงลาย จัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทั้งที่อยู่ในบ้านหรือที่อยู่รอบบ้านไม่ให้มีน้ำขัง เช่น ยางรถยนต์ กระป๋อง ถัง หรือขวดพลาสติกต่าง ๆ ใช้วิธีขุดหลุมฝัง หรือทำลายทิ้งด้วยวิธีอื่น ๆ เป็นการกำจัดลูกน้ำยุงก่อนที่จะกลายเป็นยุงลาย เป็นสิ่งที่แก้ปัญหาตรงต้นเหตุและได้ผลดีกว่า ส่วนการควบคุมยุงตัวเต็มวัยโดยการฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดแมลงชนิดถูกตัวตายก็เป็นวิธีที่จะช่วยควบคุมการและลดการแพร่กระจายของโรคไข้เลือดออกได้ ส่วนการ “ทายากันยุง” ก็เป็นอีกวิธีที่ช่วยป้องกันโรคไข้เลือดอออกได้เช่นกันเพราะการทายากันยุงจะออกฤทธิ์ได้ ตั้งแต่ 6-8 ชั่วโมง ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ยุงที่มีเชื้อไข้เลือดออกมากัดเรา และยังช่วยป้องกันไม่ให้ยุงไปกัดคนที่มีเชื้อไข้เลือดออกแล้วไปกัดคนอื่นต่อ ที่สำคัญขอแนะนำให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง ป้องกันไม่ให้ลูกๆถูกยุงลายกัด ด้วยการครอบมุ้งให้ลูก ๆ เวลาให้นอนตอนกลางวัน หรือจุดยากันยุง ทายากันยุงให้ลูกๆ” เนื่องจากไข้เลือดออกระบาดโดยมียุงเป็นตัวแพร่พันธุ์ดังนั้นเมื่อมีคนในบ้านหรือข้างบ้านเป็นไข้เลือดออก ควรจะบอกคนในบ้านหรือ ข้างบ้านว่า มีคนเป็นไข้เลือดออกด้วย และแจ้งสาธารณสุขให้มาฉีดหมอกควันเพื่อฆ่ายุง รวมถึงดูแลให้สมาชิกในครอบครัวป้องกันการถูกยุงกัด สำรวจภายในบ้าน รอบบ้าน รวมทั้งเพื่อนบ้านว่ามีแหล่งแพร่พันธุ์ยุงหรือไม่ หากมีให้รีบจัดการและทำลายแหล่งแพร่พันธุ์นั้นเพื่อป้องกันการเป็นไข้เลือดออก รวมทั้งต้องคอยระวังเฝ้าดูอาการของสมาชิกในบ้านหรือข้างบ้านว่าจะป่วยเป็นไข้เลือดออกหรือไม่ เพราะปัจจุบันไม่เฉพาะเด็กๆเท่านั้นที่ป่วยเป็นไข้เลือดออก ผู้ใหญ่ที่อายุเยอะแล้วก็สามารถป่วยหรือเสียชีวิตจากไข้เลือดออกได้เช่นกัน ทั้งนี้เราสามารถสังเกตการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกได้จากมีอาการไข้ หากกินยาลดไข้แล้ว ไข้ยังลอยไม่ลด 2-3 วัน คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร หน้าแดง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ซึ่งเป็นอาการเบื้องต้นของไข้เลือดออก ไม่ต้องรอให้เกิดจุดเลือดใต้ผิวหนัง ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเจาะเลือดตรวจและรับการรักษาให้ทันท่วงที หากประชาชนท่านใดมีข้อสงสัยเกี่ยวกับอาการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกสามารถสอบถามได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422” อธิบดีกรมควบคุมโรคกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ