กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในงานแถลงข่าวเปิดตัวสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ภายใต้แนวคิด “สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ประตูสู่ความก้าวหน้าทางอาชีพ: TPQI … Gateway to Professional Success” ยกระดับสาขาอาชีพที่มุ่งเน้นเสริมสร้างคุณภาพชีวิตและความปลอดภัยในสังคมไทย สนับสนุนการพัฒนาประเทศ สร้างความก้าวหน้าทางอาชีพให้กับกำลังคน ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทคบางนา เมื่อเร็วๆ นี้
นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “นโยบายเร่งด่วนในปัจจุบัน คือ การกำหนดมาตรฐานอาชีพและให้คุณวุฒิวิชาชีพแก่กลุ่มคนในสาขาอาชีพที่มีผลกระทบกับชีวิตและความปลอดภัย โดยเฉพาะในกลุ่มอาชีพบริการสาธารณะ เช่น คนขับแท็กซี่ รถตู้ รถโดยสารสาธารณะต่างๆ และผู้ควบคุมเครื่องจักรกลหนักในการก่อสร้าง เนื่องจากถึงแม้ว่าจะมีคนทำงานในอาชีพเหล่านี้เพียงจำนวนหนึ่ง แต่มาตรฐานการปฏิบัติงานของบุคลากรเหล่านี้ส่งผลต่อความปลอดภัยของประชาชนจำนวนมาก ที่ผ่านมาประเทศไทยมีสถิติอุบัติเหตุสูงขึ้นเรื่อยๆ รายงานขององค์การอนามัยโลก ประจำปี 2013 ชี้ว่าประเทศไทยมีสัดส่วนการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน เป็นอันดับ 3 ของโลก การจัดทำมาตรฐานอาชีพของคนขับรถขนส่งสาธารณะจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชนที่เป็นผู้โดยสาร รวมถึงผู้ใช้รถใช้ถนนซึ่งมีเป็นจำนวนมาก”
พลเอกเลิศรัตน์ รัตนวานิช ประธานคณะกรรมการบริหารสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า “การจัดตั้งสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของประเทศไทยในการพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพ ตลอดระยะเวลาประมาณ 1 ปีที่ผ่านมา เราได้พัฒนากรอบคุณวุฒิวิชาชีพ ซึ่งเป็นกรอบที่กำหนดระดับและขอบเขตสมรรถนะที่ผู้ประกอบอาชีพต้องมีเพื่อใช้เป็นเครื่องวัดระดับความสามารถและทักษะทางอาชีพ เราได้ร่วมมือกับผู้ประกอบอาชีพและผู้เชี่ยวชาญจัดทำมาตรฐานอาชีพ ซึ่งกำหนดทักษะ ความสามารถ และความรู้ในการประกอบอาชีพ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะ นอกจากนี้ เรายังได้เริ่มอบรมและเตรียมความพร้อมให้กับสถาบันการศึกษาที่มีบุคลากร สถานที่และครุภัณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อผลักดันให้เป็นองค์กรที่รับรองสมรรถนะบุคคลตามมาตรฐานอาชีพและเตรียมการให้ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพ กลไกทั้ง 3 ประการ คือ กรอบคุณวุฒิวิชาชีพ มาตรฐานอาชีพ และการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพนี้นอกจากจะพัฒนากำลังคนแล้วยังส่งผลทางอ้อมต่อการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยทรัพยากรมนุษย์อีกด้วย”
ด้านนายวีระชัย ศรีขจร ผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า “เป้าหมายการดำเนินงานในปี 2556-2558 คือการส่งเสริมการจัดทำมาตรฐานอาชีพที่สามารถเทียบได้กับมาตรฐานสากล เพื่อให้ผู้มีคุณวุฒิวิชาชีพของไทยเป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ โดยภายหลังจากการเปิดดำเนินการเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2555 ที่ผ่านมา ทางสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ ก็ได้เร่งรัดพัฒนาระบบคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพ โดยตั้งเป้าหมายในการจัดทำมาตรฐานอาชีพสำหรับ 40 กลุ่มอุตสาหกรรมให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2558 ซึ่งจะครอบคลุมกว่า 400 สาขาอาชีพ ทางสถาบันฯ ได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษาและผู้ประกอบการ จัดทำมาตรฐานอาชีพและคุณวุฒิวิชาชีพแล้วจำนวน 8 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี, ก่อสร้าง, เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร, โลจิสติกส์, สปา, ผู้ประกอบอาหารไทย, กลุ่มพนักงานขับรถโดยสารต่างๆ, และกลุ่มผู้ควบคุมเครื่องจักรกลหนักในการก่อสร้าง อีกทั้งยังจะนำมาตรฐานไปปรับหลักสูตรการเรียนการสอนร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา”
“มาตรฐานอาชีพนับเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนากำลังคนให้มีสมรรถนะที่จำเป็นในการปฏิบัติงานในแต่ละอาชีพ แต่ละตำแหน่งงาน สถาบันฯ จึงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของตัวแทนอุตสาหกรรมหรือเจ้าของอาชีพในการกำหนดมาตรฐานอาชีพ โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนากำลังคนให้ได้คุณภาพตามต้องการ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและศักยภาพทางธุรกิจ ตลอดจนช่วยแก้ปัญหากำลังคนขาดทักษะ ซึ่งประเทศไทยประสบปัญหานี้มากที่สุดในอาเซียนจากการสำรวจของธนาคารโลก” นายวีระชัยกล่าว
“มาตรฐานอาชีพไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์กับภาคอุตสาหกรรม ธุรกิจ และเศรษฐกิจประเทศในภาพรวม แต่มาตรฐานของบางสาขาอาชีพยังสามารถเป็นประโยชน์กับสังคมในวงกว้าง เช่น ในกรณีของผู้ขับขี่รถขนส่งสาธารณะ เราจะเห็นได้ว่าอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะเป็นปัญหาของประเทศมาเป็นเวลานาน ภาพรวมอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 — ตุลาคม 2555 ปรากฏว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นมากที่สุด คือเกิดจากรถตู้สาธารณะ โดยนับเป็นร้อยละ 33 จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นทั้งหมด โดยกรมการขนส่งทางบกเองก็ได้ระบุว่าสาเหตุหลักของอุบัติเหตุ คือ ตัวผู้ขับนั่นเอง”
“ในด้านการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพสถาบันฯ ได้เตรียมการอบรมและสนับสนุนสถาบันการศึกษาที่มีความพร้อมให้เป็นองค์กรที่มีหน้าที่ทดสอบและรับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ โดยตั้งเป้าหมายร่วมกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ในการพัฒนาองค์กรเหล่านี้ให้เข้าสู่ระบบ ISO 17024 ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลกสำหรับองค์กรที่รับรองบุคคล เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเชื่อมั่นในคุณสมบัติของบุคลากรที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ เมื่อผู้ประกอบการเชื่อมั่นในกำลังคนที่ได้รับการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพ กำลังคนก็จะสามารถใช้ประกาศนียบัตรคุณวุฒิวิชาชีพและหนังสือรับรองมาตรฐานอาชีพเป็นใบเบิกทางสู่ความก้าวหน้าได้”