กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--สามารถคอร์ปอเรชั่น
“สามารถ จับมือ สวทช.และซิป้า” ยกทัพ 9 ผลงานด้านนวัตกรรมสุดล้ำ มาโชว์ความพร้อมและแนวคิดธุรกิจที่ชัดเจน ให้แก่เหล่านักลงทุนได้ยลโฉม ในงาน “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี พบนักลงทุน” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่โครงการ “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี” จัดขึ้น เพื่อนำไปสู่การเจรจาต่อรองเชิงพาณิชย์ระหว่างนักลงทุน กับเหล่านวัตกรคนไทย
นายเจริญรัฐ วิไลลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สามารถคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การจัดงาน “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี พบนักลงทุน” (Business Matching) ครั้งนี้มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการพบปะกันเพื่อการเจรจาต่อรองทางธุรกิจระหว่างนักลงทุนกับเจ้าของผลงานที่ผ่านเข้ารอบและมีความพร้อมในเชิงพาณิชย์จากโครงการ “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี” ซึ่งนอกจากจะเป็นกิจกรรมที่สานต่อความมุ่งมั่นของกลุ่มสามารถที่ต้องการให้โครงการ “SAMART Innovation Award” ได้มีส่วนในการสร้างและผลักดันให้เกิดนักพัฒนาด้านเทคโนโลยีได้จริงโดยไม่มีเงื่อนไขหรือข้อผูกมัดใดๆจากบริษัทฯแล้ว ยังช่วยปลุกกระแสให้ทุกภาคส่วนหันมาเห็นความสำคัญของการสร้างผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีใหม่ๆให้เกิดขึ้น เพราะนับเป็นครั้งแรกของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีที่ภาครัฐอันได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA กับภาคเอกชน (SAMART) ร่วมมือกันส่งเสริมและผลักดันให้เกิดกิจกรรมระยะยาว เพื่อให้เกิดผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีอย่างเป็นรูปธรรม
“เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยีพบนักลงทุน” นอกจากจะเป็นเวทีให้เจ้าของผลงานได้พบปะกับนักลงทุนโดยตรงเพื่อสร้างโอกาสต่อยอดในเชิงพาณิชย์แล้ว นักลงทุน ยังมีโอกาสได้พิจารณา หลายๆผลงานที่มีศักยภาพเพื่อนำไปต่อยอดทางธุรกิจของตน โดยไม่จำเป็นต้องซื้อเทคโนโลยีจากต่างประเทศที่มีราคาแพงกว่า เป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในภูมิภาคมากขึ้น ด้วยการสร้างผู้ประกอบการให้มีอำนาจต่อรองในตลาดอาเซียนมากขึ้น จากข้อได้เปรียบด้านราคาซอฟต์แวร์ไทยที่ต่ำกว่าบริษัทข้ามชาติ
นางสุวิภา วรรณสาธพ รักษาการผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ เป็นการแสดงผลงานและแผนธุรกิจของผู้เข้าร่วมโครงการเถ้าแก่น้อย โดยนำความรู้และประสบการณ์จากการร่วมกิจกรรมตั้งแต่ต้นปี มาประยุกต์ใช้กับผลงาน และนำกลับมาแสดงศักยภาพให้กับนักลงทุน นักธุรกิจ และบุคคลทั่วไปที่สนใจร่วมลงทุนได้รับฟัง โดย “เงินทุน” ในช่วงเริ่มต้นธุรกิจนั้น ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการ นอกเหนือจากความมุ่งมั่นและความเฉียบแหลมด้านแนวคิดธุรกิจแล้ว
ทั้งนี้ได้รับความสนใจจากนักลงทุนและผู้ประกอบการชาวไทยมากมาย ที่มีศักยภาพทั้งประสบการณ์ความรอบรู้ในด้านเทคโนโลยีและการตลาด , มีพันธมิตรทางธุรกิจ (connection) และมีความต้องการที่จะเสาะหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่มีโอกาสเติบโตมาต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ หรือนำไปขยายตลาดต่อทั้งในและต่างประเทศ
ด้านผลงานที่เข้าร่วมนำเสนอมีทั้งสิ้น 9 ผลงาน ซึ่งรวมถึงผลงานของเถ้าแก่น้อยปี 1 โดยคัดเลือกจากผลงานที่มีแนวคิดธุรกิจที่ชัดเจนและมีศักยภาพสูงพร้อมต่อยอดทางธุรกิจได้ทันที (Ready to market) ซึ่งล้วนแล้วแต่อยู่ในกลุ่มที่มีความต้องการในตลาด และเป็นกลุ่มที่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจในระดับประเทศ อันได้แก่
1. กลุ่มธุรกิจโมบายซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content& Mobile Application) ได้แก่
Rate it! เป็น Movie Social Network แรกของคนไทยบนระบบปฏิบัติการ iOS
Mad Teacher เกมส์คุณครูจอมโหด กับตัวเลขมหัศจรรย์
2. กลุ่มธุรกิจ ซอฟต์แวร์ช่วยในการบริหารจัดการทั่วไป (Enterprise Software) ได้แก่
Localalike เทคโนโลยีที่เชื่อมต่อระหว่างนักท่องเที่ยวและชุมชนท้องถิ่น
V.School (Virtual School) ระบบบริการจำลองโรงเรียนบนโลกออนไลน์
3. กลุ่มธุรกิจวัสดุ , เครื่องจักร และเทคโนโลยีทางการแพทย์ (Machinery, Material & Medical Technology) ได้แก่ผลงาน
Super Quadrotor อากาศยานไร้คนขับสู่การนำไปใช้งาน
SHIELD2 (shield square) ) ผลิตภัณฑ์สีและสารเคลือบที่ใช้ในอุตสาหกรรมและครัวเรือนที่มีคุณสมบัติพิเศษ
LookME พาหนะอัจฉริยะสารพัดประโยชน์
Vertical Axis Wind Turbine กังหันลมแกนตั้ง
Smart Lab นวัตกรรมทางการแพทย์จากวัสดุชนิดพิเศษ ที่เรียกว่า โลหะผสมจำรูป
“จากนี้ไป เราจะได้เห็นการเจรจาทางธุรกิจเกิดขึ้น และยังคงอยู่ภายใต้การดูแลของสวทช. โดย “ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ” ที่ยังคงเป็นที่ปรึกษาให้กับผู้ประกอบการใหม่ให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างเป็นระบบ และยั่งยืน ด้านซิป้า จะคอยช่วยส่งเสริมและผลักดันให้ผลงานออกสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศ ด้านบริษัท สามารถ ในฐานะภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญในการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ ก็ยังพร้อมให้คำปรึกษา สนับสนุนด้านเงินทุน และแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ร่วมโครงการ”
นายเจริญรัฐ กล่าวทิ้งท้ายว่า “การสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการใหม่คงไม่หยุดเพียงแค่การจัดงาน “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี พบนักลงทุน” เท่านั้น บริษัทฯ ยังมอบเงินรางวัลจำนวนถึง 200,000 บาทแก่ “สุดยอดนักคิดนักพัฒนานวัตกรรมต้นแบบ” หรือ Samart Innovation Award 2013 พร้อมกับรางวัลทัศนศึกษาต่างประเทศ แก่ทีมที่ได้รับคะแนนสูงสุด 3 อันดับแรก รวมทั้งสนับสนุน “ทุนเถ้าแก่น้อย” (Business Startup Funds) ให้แก่ผลงานที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ทุนละ 20,000 บาท จำนวนไม่ต่ำกว่า 20 ทุน รวมมูลค่าการสนับสนุนกว่า 700,000 บาท ซึ่งทั้งหมดนี้เพื่อส่งเสริมและผลักดันให้เกิด “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี” ตัวจริงต่อไป”
สำหรับผู้สนใจ สามารถดูความเคลื่อนไหวของโครงการฯได้ที่ www.nstda.or.th/bic/ หรือ www.samartsia.com