กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า เศรษฐกิจไทยใกล้จะถึงจุดต่ำสุดในไตรมาสที่สามและจะกลับมาเริ่มฟื้นตัวได้ในไตรมาสที่สี่จากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวอย่างเปราะบาง คาดเศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่สภาวะการเติบโตที่ช้าลงกว่าก่อนจากปัญหาหนี้ครัวเรือนและสภาพคล่องที่ตึงตัวอันส่งผลกดดันอุปสงค์ในประเทศ
สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย จำกัด (มหาชน) โดย ดร.บันลือศักดิ์ ปุสสะรังษี ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ และ ดร.อมรเทพ จาวะลา หัวหน้าส่วนวิจัยเศรษฐกิจและตลาดการเงิน สายบริหารความเสี่ยง สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ระบุว่า เศรษฐกิจโลกเริ่มมีสัญญาณของการฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะเศรษฐกิจของ G3 และจีนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวในครึ่งหลังของปี 2556 อย่างไรก็ตาม มีเพียงสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวอย่างค่อนข้างมั่นคง ขณะที่ประเทศอื่นมีความเสี่ยงที่จะประสบปัญหาการชะลอตัวลงในครึ่งหลังของปี 2557 นอกจากนี้ เศรษฐกิจของ G3 และจีนมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่าระดับปกติเมื่อเทียบกับอดีต ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีผลต่อการส่งออกของไทยน้อยกว่าที่เคยเป็นมา ทั้งนี้ คาดว่า “เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะขยายตัวช้า ซึ่งจะส่งผลทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวในอัตราที่ต่ำในอีก 2-3 ปีข้างหน้า”
โดยผู้บริหารสำนักวิจัย ระบุว่า สหรัฐฯ มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นจากค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นในอัตราที่ต่ำ ราคาพลังงานที่ถูกลง และประสิทธิภาพการผลิตที่สูงขึ้น ทำให้มีความเป็นไปได้สูงว่า ในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯครั้งนี้ การบริโภคจะขยายตัวในอัตราที่ต่ำ และการส่งออกจะขยายตัวสูงขึ้นจากการความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น ทำให้การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง อีกทั้งรัฐบาลจะไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก เนื่องจากหนี้สาธารณะยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องลดการใช้จ่าย เพื่อลดการขาดดุลงบประมาณ ยุโรป แม้ว่าเศรษฐกิจยุโรปจะหลุดพ้นจากสภาวะถดถอย แต่ปัญหาโครงสร้างยังไม่ได้รับการแก้ไข กล่าวคือประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันที่ต่างกันมากแต่ใช้เงินสกุลเดียวกันและขาดกลไกในการปรับตัว นอกจากนี้ ยังมี Austerity Measures ทำให้เศรษฐกิจยุโรปยังขยายตัวช้าและอ่อนแอ ตลอดจนยังมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาที่จะสร้างความผันผวนทางการเงินได้จากกรีซและสเปน ญี่ปุ่น มีแนวโน้มฟื้นตัวแค่ชั่วคราว จากการขยายตัวของการส่งออกและการลงทุน คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเติบโตในอัตราที่ลดลงหลังการบริโภคชะลอตัว เนื่องจากการลดลงของรายได้ การปรับเพิ่มภาษีการค้า นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังต้องเผชิญปัญหาสังคมคนชรา หนี้ภาครัฐสูง ทำให้เศรษฐกิจมีศักยภาพที่จะขยายตัวในอัตราต่ำ ซึ่งขึ้นอยู่กับมาตรการลูกศร 3 ดอกของนายอาเบะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น (Abenomics’ 3 Arrows) ว่าจะสามารถปรับโครงสร้างเศรษฐกิจได้สำเร็จหรือไม่ จีน มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่สูงขึ้น จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น การฟื้นตัวของ G3 และสภาพคล่องที่ยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม จีนยังมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ความสามารถในการแข่งขันที่ลดลง ปัญหาเศรษฐกิจฟองสบู่ ปัญหาสถาบันการเงินและแรงงานที่ลดลง รวมถึงการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการทดแทนการลงทุนและการส่งออกโดยผ่านการบริโภค
พร้อมกันนี้ ดร. อมรเทพ ได้ระบุว่า เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับปัญหาที่สำคัญสองประการ ปัญหาประการแรกคือไทยจะเข้าสู่ช่วงแห่งการเติบโตที่ช้าลงกว่าก่อน อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการบริโภคที่จะชะลอตัวลง หลังจากที่ได้เร่งตัวขึ้นมากในปีก่อนหน้า โดยการใช้จ่ายภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นสูงในปีที่ผ่านๆ มาได้ส่งผลให้หนี้ครัวเรือนเร่งตัวสูงขึ้น ทั้งนี้ครัวเรือนจะเหลือเงินเพื่อการบริโภคลดลงหลังจากหักค่าเงินผ่อน ดอกเบี้ยเงินกู้ รวมทั้งค่าใช้จ่ายพื้นฐานอื่นๆ เมื่อการบริโภคลดลง ธุรกิจก็จะปรับลดการลงทุน ซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ช้าลง โดยคาดว่าภาวะการชะลอตัวของการบริโภคจะดำเนินอยู่อีกราว 2 ปีเป็นอย่างน้อย ก่อนที่จะฟื้นตัวขึ้นมาเติบโตได้เหมือนช่วงก่อนหน้าตามภาวะหนี้ที่คาดว่าจะลดลง นอกจากนี้ เศรษฐกิจต่างประเทศคาดว่าจะช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยได้อย่างจำกัด เนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่เข้าสู่สภาวะการเติบโตที่ช้า โดยเฉพาะจีนที่อาจต้องใช้เวลาปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ อีกทั้งสหรัฐฯ ที่แม้เศรษฐกิจจะโตได้แต่ก็ยังคงเปราะบางในด้านตลาดแรงงานและอาจกลายมาเป็นผู้ส่งออกที่สำคัญที่กระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของไทย อย่างไรก็ดี การส่งออกที่คาดว่าจะฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 จะช่วยหนุนการเติบโตของเศรษฐกิจได้ในปีนี้และปีหน้า ปัญหาประการที่สองคือ ตลาดการเงินไทยจะเผชิญกับปัญหาสภาพคล่องที่ตึงตัว อันจะมีผลเชิงลบต่อการลงทุนของไทย โดยเงินทุนจากต่างชาติที่ไหลเข้ามายังไทยนับตั้งแต่ปี 2551 ที่มีส่วนช่วยเสริมสภาพคล่องในอดีตและสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยเร่งการปล่อยสินเชื่ออย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาธนาคารพาณิชย์ได้เปลี่ยนสินทรัพย์สภาพคล่องหรือเงินทุนไหลเข้า มาเป็นสินทรัพย์ที่ขาดสภาพคล่องหรือสินเชื่อที่ปล่อยกู้ หากเงินทุนหยุดไหลเข้าหรือมีการไหลออกมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการปรับลดหรือถอนมาตรการ QE ของเฟด สภาพคล่องในตลาดเงินอาจเกิดภาวะตึงตัวได้ ทั้งนี้เมื่อการออมมีแนวโน้มลดลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือน ขณะที่การลงทุนภาครัฐเพิ่มขึ้นซึ่งจะแย่งชิงแหล่งเงินออมจากภาคเอกชน อย่างไรก็ดี คาดว่าเงินทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาสู่ตลาดเอเชียชั่วคราวภายหลังจากที่มีความชัดเจนในมาตรการ QE ในปีนี้ แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือในอนาคต สหรัฐฯ จะขึ้นดอกเบี้ย (คาดว่ากลางปี 2558) ซึ่งจะกดดันให้เงินไหลออกอีกครั้งในปีหน้า และส่งผลให้สภาพคล่องของตลาดเงินในประเทศตึงตัวมากขึ้นได้
สำหรับเศรษฐกิจไทยในปีนี้ คาดว่าจะชะลอตัวลงและมีอัตราการเติบโต 2.8% โดยเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 จะหดตัวลงอีกเล็กน้อยเทียบกับไตรมาสที่ 2 ซึ่งจะเป็นจุดต่ำสุดของปีนี้ ก่อนที่จะปรับขึ้นมาเติบโตในไตรมาสสุดท้าย อย่างไรก็ดี คาดว่าเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายที่แม้จะเติบโตจากไตรมาสที่ 3 แต่จะหดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งมาจากฐานที่สูงในปีก่อนจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยทางสำนักวิจัยคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจปี 2557 จะยังคงอยู่ในภาวะการเติบโตช้าๆ จากการบริโภคที่ยังคงอ่อนแอ คาดว่าจะปรับขึ้นไปที่ 3.4%
ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยนโยบายนั้น สำนักวิจัยมองว่าเศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวและภาวะเงินเฟ้อที่ลดลงนับเป็นปัจจัยสำคัญที่ทางคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะนำมาพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก 0.25% สู่ระดับ 2.25% ในปีนี้ เพื่อกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน และคงดอกเบี้ยในระดับนี้ต่อไปในปีหน้าเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
ในส่วนของทิศทางค่าเงินนั้น สำนักวิจัยมองว่าค่าเงินบาทคาดว่าจะแข็งค่าได้อีกระยะหนึ่งหลังมาตรการ QE มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น เงินลงทุนจะไหลกลับมาในภูมิภาคนี้ได้ชั่วคราวและส่งผลให้เงินบาทมาแตะอยู่ที่ระดับ 31.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงสิ้นปีนี้ แต่กระแสเงินทุนจะไหลออกในอีกหนึ่งถึงสองปีข้างหน้าเมื่อเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เริ่มฟื้นตัว และขึ้นดอกเบี้ยในปี 2558 ซึ่งจะกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าได้ โดยคาดว่าจะแตะอยู่ที่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในสิ้นปีหน้า
ติดต่อ:
ด้านสื่อสารองค์กร
ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย
โทร. 02-638-8268