กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตรฯ จัดฝึกอบรม”หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์และเศรษฐกิจพอเพียง” หวังให้ประเทศสมาชิก CIRDAP ได้เรียนรู้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมนำไปประยุกต์ใช้พัฒนาชนบทและขจัดความยากจนในประเทศของตน
นายชลิต ดำรงศักดิ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานกล่าวเปิดการฝึกอบรมเรื่อง หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์และเศรษฐกิจพอเพียง ให้แก่ผู้แทนประเทศสมาชิกศูนย์พัฒนาชนบทแบบผสมผสานสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (Centre for Integrated Rural Development for Asia and the Pacific:CIRDAP) ว่า ประชากรในภูมิภาคเอเชียมีมากกว่า 2 ใน 3 ของประชากรโลก ซึ่งส่วนใหญ่ยากจนและอาศัยอยู่ในชนบท โดยเฉพาะประชากรของประเทศสมาชิก CIRDAP จำนวน 15 ประเทศได้แก่ ไทย ลาว พม่า เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย บังคลาเทศ ศรีลังกา ปากีสถาน เนปาล อิหร่าน อัฟกานิสถาน และฟิจิ ซึ่งรัฐบาลของประเทศสมาชิกได้พยายามหาแนวทางแก้ไขปัญหาด้วยวิธีที่แตกต่างกัน สำหรับประเทศไทย ได้ใช้แนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นแนวทางในการดำเนินงานพัฒนาชนบทและขจัดความยากจน จนเป็นที่ประจักษ์และยอมรับของนานาประเทศและองค์การระหว่างประเทศ และโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมาก เนื่องจากเป็นแนวทางหนึ่งที่จะสร้างความเจริญแก่ชุมชนให้สามารถยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของคนในชุมชนให้ดีขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งการผลิตหรือจัดการทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้กลายเป็นสินค้าที่มีคุณภาพ และสอดคล้องกับวัฒนธรรมในแต่ละท้องถิ่น
ดังนั้น การจัดฝึกอบรมในครั้งนี้ จึงเป็นการนำเสนอแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอพียงและหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ให้ประเทศสมาชิกได้นำไปประยุกต์ใช้ รวมถึงการศึกษาวิธีการในการดำเนินงานของโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ อีกทั้งยังเป็นเวทีให้ผู้แทนจากประเทศสมาชิกมีส่วนร่วมในการเสนอแนวทางของแต่ละประเทศ ร่วมกันเสนอความคิด และวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจนในประเทศของตนได้ โดยจัดการฝึกอบรมในระหว่างวันที่ 16 -20 กันยายน 2556 ณ กรุงเทพมหานคร สระบุรี และปทุมธานี โดยมีผู้แทนประเทศสมาชิก CIRDAP จำนวน 15 ประเทศ เข้าร่วมการฝึกอบรมดังกล่าว
“ประเทศสมาชิกจะได้เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ รวมถึงประสบการณ์ความสำเร็จในการพัฒนาชนบทและขจัดความยากจนของประเทศต่างๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ในประเทศของตน รวมถึงนำไปใช้เพื่อปรับนโยบาย แนวคิด โครงการ และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกได้” นายชลิตกล่าว