กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย
สภาหอการค้าฯ ร่วมมือกับสมาคมค้าปลีก ผนึกกำลังห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ 5 แห่ง ผลักดันมาตรฐาน ThaiGAP เทียบชั้นมาตรฐานสากล ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของผักผลไม้ไทย สำหรับการส่งออกและจำหน่ายในประเทศ พร้อมแนะเกษตรกรปรับการผลิตเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ เพื่อลดต้นทุนและควบคุมมาตรฐานซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรในระยะยาว รองรับการแข่งขันในอนาคต
นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์การส่งออกของไทยในภาพรวมยังคงชะลอตัวลง โดยในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมามีมูลค่า 584,273.8 ล้านบาท ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.4 โดยเฉพาะสินค้าเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมการเกษตร ที่มียอดการส่งออกลดลงร้อยละ 8.8 อาทิ ยางพารา อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป ผักและผลไม้ ไก่สดแช่แข็งและแปรรูป และน้ำตาล ในขณะที่ข้าวและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังยังคงส่งออกได้เพิ่มขึ้น โดยสาเหตุหลักของการส่งออกที่ลดลง ยังคงมาจากปัญหาเศรษฐกิจโลกและภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญที่ชะลอตัว รวมทั้ง สถานการณ์ความไม่สงบในแอฟริกาและตะวันออกกลาง และการเปลี่ยนแปลงของค่าเงินบาท
จากการติดตามสถานการณ์ส่งออกสินค้าเกษตรของสภาหอการค้าฯ พบว่า ปัจจุบันประเทศคู่ค้าที่สำคัญของไทยได้นำเรื่องมาตรฐานสินค้าเข้ามามีส่วนสำคัญในการนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทย โดยเฉพาะสหภาพยุโรปหรืออียู
ซึ่งมาตรการนี้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรไทยอย่างมาก และเป็นสาเหตุสำคัญสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ให้มูลค่าการส่งออกผักของไทยไปยุโรปลดลง
“สภาหอการค้าฯ กำลังจับตาดูสถานการณ์การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยอย่างใกล้ชิด ซึ่งที่ผ่านมายังมีข่าวการพบสารปนเปื้อนอยู่เป็นระยะ อีกทั้งในหลาย ๆ ประเทศ เช่น สหภาพยุโรป (EU) ก็เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบมากขึ้น ซึ่งจะเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกของไทยเป็นอย่างมาก ดังนั้น ทางออกในการแก้ไขปัญหา
ในระยะยาว คือการเร่งยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรของไทยให้สูงขึ้น ไทยเราก็มี “มาตรฐาน Thai GAP” ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์วิทยาเขตกำแพงแสน และสถาบันอาหาร
ได้ร่วมกันพัฒนาขึ้นมา และเป็นมาตรฐานเอกชนที่มีคุณภาพเทียบเท่ามาตรฐาน GlobalGAP ซึ่งกำหนดโดยกลุ่มผู้ค้าปลีกในสหภาพยุโรปและได้รับการยอมรับจากสากลอยู่แล้ว น่าจะเป็นทางออกที่ดีของสินค้าเกษตร สำหรับการแข่งขันกับตลาดโลกได้อย่างยั่งยืนในอนาคต” นายอิสระกล่าว
อย่างไรก็ตาม ภาคเกษตรของไทยจำเป็นต้องปรับโครงสร้าง เน้นสร้างมาตรฐานทั้งกระบวนการผลิตจากระดับฟาร์มจนถึงการส่งออก และควรปรับการผลิตจากฟาร์มขนาดเล็กเป็นฟาร์มขนาดใหญ่ (plantation) โดยการรวมกลุ่มเกษตรกรผลิตพืชผักที่มีความหลากหลาย ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนการผลิต ลดต้นทุนในการรับรองมาตรฐานคุณภาพสินค้า และเพิ่มมูลค่าผลผลิตได้เพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกัน เพื่อเป็นการรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปี 2558 หากไทยปรับตัวได้เร็วมากเพียงใดก็จะมีความได้เปรียบทางการแข่งขันในกลุ่มอาเซียน ซึ่งขณะนี้ประเทศต่าง ๆ ในกลุ่มอาเซียนก็เริ่มรุกการส่งออกสินค้าเกษตรในกลุ่มดียวกับประเทศไทยมากขึ้น
สำหรับแนวทางในการยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตรไทยในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือจากเครือข่ายของ สภาหอการค้าฯ ประกอบด้วย สมาคมผู้ค้าปลีกไทยและห้างค้าปลีกสมัยใหม่ 5 แห่ง ได้แก่ บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) บริษัท เซ็นทรัล ฟู้ด รีเทล จำกัด บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอก-ชัย ดิสทริบิวชั่น ซิสเทม จำกัด และ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (มหาชน) จำกัด ที่จะร่วมมือกันพัฒนาผู้ประกอบการของไทยสู่ AEC ด้วยมาตรฐาน ThaiGAP โดยจะมีการจัดจำหน่ายผักผลไม้ที่ได้มาตรฐาน ThaiGAP ในห้าง ช่วยในด้านการขยายตลาด และสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรของไทย และที่สำคัญยังช่วยในด้านความปลอดภัยต่อผู้บริโภคอีกด้วย
นายธนภณ ตังคณานันท์ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่สภาหอการค้าแห่งประเทศไทยและห้างค้าปลีก ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ทั้ง 5 แห่ง จะร่วมมือพัฒนาผู้ประกอบการสู่ AEC ด้วยมาตรฐาน Thai GAP ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมมาตรฐานให้กับเกษตรกรของไทย ในการผลิตผัก ผลไม้ ให้มีมาตรฐาน มีความปลอดภัย โดยที่ห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ได้ให้ความสำคัญในการจัดจำหน่ายผักผลไม้ที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค และจะสนับสนุนให้มีการจัดจำหน่ายผักผลไม้ที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน ThaiGAP ภายในห้าง รวมถึงการสนับสนุนให้ผู้ผลิตสินค้าทางการเกษตรที่จัดจำหน่ายให้กับห้างฯ นำเกณฑ์มาตรฐาน ThaiGAP ไปใช้ พร้อมทั้งจะให้ความร่วมมือในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้มาตรฐาน ThaiGAP ให้เป็นที่ยอมรับต่อไป
สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย จัดตั้งสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย หรือที่เรียกกันว่า “สถาบัน ThaiGAP” ขึ้น เมื่อปี 2552 โดยร่วมมือกับสถาบันอาหาร และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมาตรฐาน ThaiGAP นี้ เป็นมาตรฐานเอกชนในการจัดการคุณภาพการผลิตผักและผลไม้ที่เน้นความปลอดภัยด้านอาหารแก่ผู้บริโภค และยังเป็นมาตรฐานระบบการผลิตที่คำนึงถึงสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติการและสิ่งแวดล้อม และยังเป็นมาตรฐานที่สากลให้การยอมรับเทียบเท่ากับมาตรฐาน GlobalGAP โดยแบ่งเป็น “มาตรฐาน ThaiGAP Level 1” สำหรับใช้กับผู้ผลิตที่ต้องการส่งออก และ “มาตรฐาน ThaiGAP Level 2” ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตเพื่อการขายภายในประเทศ