กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--ไอแอม พีอาร์
“สสค.” ร่วมกับ “มูลนิธิร่มฉัตร” เดินหน้าขยายผลโครงการ “พัฒนาต้นแบบสาธิตชุมชนวัดไตรมิตรวิทยารามฯ” ลงสู่ระดับภูมิภาค เปิดศูนย์ศึกษาอาเซียนภาคเหนือที่จังหวัดเชียงรายนำ “บวร” โมเดลมาขยายผล ดึงเยาวชนและผู้ประกอบการในท้องถิ่นร่วมศึกษาเรียนรู้ภาษาพม่า เพื่อเตรียมความของชุมชนในการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ มูลนิธิร่มฉัตร จัดทำ “โครงการการขยายผลชุมชนต้นแบบและการสื่อสารการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ต่อยอดความสำเร็จจาก “โครงการพัฒนาต้นแบบสาธิตชุมชนวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร” ภายใต้แนวทางการดำเนินงาน “บวรโมเดล” ดึงพลังความร่วมมือจากภาครัฐ ชุมชน สังคม และศาสนา สู่ความร่วมมือทั้งในมิติสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ พร้อมเปิด “ศูนย์ศึกษาอาเซียน จังหวัดเชียงราย” สร้างแหล่งเรียนรู้เพื่อเปิดประตูทำความรู้จักกับ 10 ประเทศอาเซียน
พระธรรมภาวนาวิกรม ประธานมูลนิธิร่มฉัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เปิดเผยว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนับเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ในการที่ทั้ง 10 ประเทศจะรวมกันเป็นหนึ่ง โดยโครงการที่ทางมูลนิธิร่มฉัตร และ สสค. ได้ร่วมกันดำเนินงานนั้น เป็นการนำ 2 ทฤษฎีขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ คือ “บ-ว-ร” และ “เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา” มาใช้ในการเตรียมความพร้อมกับให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมของชุมชนในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน
“การเรียนรู้ภาษาเพื่อนบ้านสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในทุกๆ เรื่อง เพราะภาษาเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงในด้านต่างๆ ทั้ง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ชุมชน ศิลปวัฒนธรรม ของไทยและเพื่อนบ้าน และยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ซึ่งปัจจุบันทาง มูลนิธิร่มฉัตร ได้ร่วมกับ สสค. เตรียมความพร้อมของชุมชนโดยเริ่มต้นจากชุมชนเล็กๆ เริ่มต้นจากทีละหมู่บ้าน ก่อนที่จะขยายไปในระดับตำบล ระดับอำเภอ และจังหวัด โดยกระจายลงไปใน 4 ภูมิภาค เพื่อพัฒนาให้เกิดเป็นชุมชนต้นแบบของการขยายผลการดำเนินงานในพื้นที่” ประธานมูลนิธิร่มฉัตรกล่าว
ดร.อุบล เล่นวารี ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวถึงการดำเนินงานโครงการการขยายผลชุมชนต้นแบบฯ ว่า จัดทำขึ้นเพื่อขยายผลการดำเนินงานและความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับชุมชนต้นแบบวัดไตรมิตรฯ ออกไปสู่ระดับภูมิภาค เพื่อกระตุ้นและจุดประกายให้สังคมหรือชุมชนตื่นตัวในเรื่องของ AEC ด้วยการสร้างชุมชนต้นแบบขึ้นใน 4 ภาคประกอบไปด้วย ภาคเหนือ โรงเรียนบ้านแม่จัน จังหวัดเชียงราย, ภาคกลาง โรงเรียนเอกชัย จังหวัดสมุทรสาคร, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรงเรียนเทศบาล 2 พิบูลวิทยาคาร จังหวัดอุบลราชธานี และภาคใต้ โรงเรียนบ้านน้ำกระจาย จังหวัดสงขลา
“เป้าหมายของการดำเนินโครงการนี้เพื่อให้เกิดการขยายผลแนวคิดและการดำเนินงานออกไปยังชุมชน ตำบล หรืออำเภออื่นๆ ในพื้นที่ของทั้ง 4 จังหวัด และต้องการที่จะจุดประกายให้ทุกภาคส่วนในชุมชนที่ประกอบด้วย ‘บ ว ร’ ช่วยกันคิด วางแผน และดำเนินการในการเตรียมความพร้อมของชุมชนตนเองในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ให้ครอบคุลมทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เพื่อขับเคลื่อนและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน จนสามารถเป็นตัวอย่างหรือต้นแบบให้แก่ชุมชนอื่นๆ ในการนำไปใช้เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ ควบคู่กันไปอย่างยั่งยืนพร้อมกันทั้งประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีเป้าหมายที่แท้จริงของประชาคมอาเซียนก็คือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข” ดร.อุบล ระบุ
นายสว่าง มโนใจ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่จัน จังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนโครงการชุมชนต้นแบบสู่ AEC ของจังหวัดเชียงราย และจัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาอาเซียน” ขึ้นเป็นแห่งแรกของภาคเหนือเปิดเผยว่า อำเภอแม่จันเป็นจุดศูนย์กลางของการคมนาคมเพื่อเชื่อมต่อไปยังอำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ ซึ่งเป็นพื้นที่การค้าขายชายแดนที่สำคัญกับประเทศเพื่อนบ้านอย่างพม่าและลาว ทุกฝ่ายจึงเห็นตรงกันว่า “ภาษาพม่า” นั้นมีความสำคัญเพราะเราไม่รู้เขาแต่เขากลับรู้เราหรือรู้มากกว่า จึงได้จัดให้มีการอบรมภาษา “พม่า” ให้กับเยาวชนและผู้ประกอบการในพื้นที่เพื่อเพิ่มศักยภาพของชุมชนให้ “รู้เขา-รู้เรา” ที่จะนำมาซึ่งการพัฒนาที่ยั่งยืน
“การเกิดศูนย์ศึกษาอาเซียนขึ้นที่อำเภอแม่จัน ได้ก่อให้เกิดความตื่นตัวขึ้นในพื้นที่ โดยชุมชนเริ่มเกิดการเรียนรู้ว่าอาเซียนคืออะไร ทำไมจึงมีอาเซียน และอาเซียนจะมีประโยชน์หรือมีผลกระทบกับเขาอย่างไร เกิดการเตรียมตัวเตรียมใจสู่การเป็นประชาคมอาเซียนว่าเราจะอยู่กับอาเซียนอย่างไร และเมื่อชุมชนเริ่มตื่นตัว ก็จะเกิดการเรียนรู้ในเรื่องต่างๆ ของประเทศเพื่อน ตรงนี้ได้ทำให้เกิดการเตรียมความพร้อมของชุมชนที่จะเข้าสู่การเป็นประชาคมอาเซียน โดยเฉพาะในเรื่องของภาษาพม่า เพราะที่ผ่านมาเราไม่รู้เขา แต่เขารู้ทั้งภาษาไทย ภาษาจีน ภาษาอังกฤษ หรือแม้แต่ภาษาล้านนา ดังนั้นเราจึงเสียเปรียบเพื่อนบ้านในจุดนี้ เพราะฉะนั้นเรื่องของภาษาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องทำให้คนในทุกระดับของทั้งเด็ก เยาวชน หรือผู้ประกอบการ เราสามารถสื่อสารกับเพื่อนบ้านของเราได้ เพราะถ้าเรารู้เขารู้เรา พูดจากันได้แล้ว ก็จะเกิดประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ความมั่นคง ไม่เพียงแต่จังหวัดเชียงรายเท่านั้น แต่ยังส่งผลดีรวมไปถึงในระดับประเทศอีกด้วย” ผอ.สว่างระบุ
พ.ต.อ.วีระวุธ ชัยชนะมงคล ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรแม่จัน เปิดเผยว่า ได้ส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 30 รายเข้าอบรมภาษาพม่า เพราะด่านตรวจของอำเภอแม่จันเป็นจุดที่มีชาวพม่าเข้าออกเป็นจำนวนมาก เนื่องจากเป็นจุดศูนย์กลางในการเดินทางไปอำเภอเชียงแสน อำเภอแม่ฟ้าหลวง และอำเภอเชียงของ จึงต้องมีการเตรียมพร้อมให้เจ้าหน้าที่ตำรวจมีความพร้อมในการให้บริการทั้งในด้านความปลอดภัย และเพื่อการป้องกันปัญหายาเสพติด
“เนื่องจากด่านของแม่จันมีอัตราการจับกุมยาเสพติดจำนวนมากที่สุด ดังนั้นการอบรมภาษาพม่าก็จะทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถสื่อสารกับชาวพม่าได้อย่างเข้าใจ เพราะการตรวจค้นผู้ต้องสงสัยจะต้องสื่อสารด้วยความเข้าใจเพื่อให้เกิดความร่วมมือ และในกรณีที่เป็นผู้ต้องหาก็สามารถรู้เท่าทันเมื่อมีการสื่อสารระหว่างกัน” ผกก.สภ.แม่จัน ระบุ
“เพราะภาษาเป็นเครื่องมือที่จะช่วยทำให้การพัฒนาเป็นหนึ่งเดียวกันของ 10 ประเทศอาเซียน เป็นไปได้ด้วยดีและประสบความสำเร็จ ดังนั้นเมื่อทุกคนในชุมชนมีความรู้ภาษาเพื่อนบ้านก็เกิดความเข้าใจในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เมื่อนั้นปัญหาความขัดแย้งในด้านต่างๆ ก็จะหมดไป สิ่งเหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยเกิดความเข้มแข็ง พร้อมที่จะรองรับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ เข้าถึง และสามารถพัฒนาประเทศไทยให้มีคุณภาพที่ดีในอาเซียน และนำประเทศไทยไปสู่เวทีโลกได้อย่างสง่างาม” พระธรรมภาวนาวิกรม กล่าวสรุป.