กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--ไอแอม พีอาร์
“สสค.” ร่วมกับ “มูลนิธิร่มฉัตร” เดินหน้าขยายผลโครงการ “พัฒนาต้นแบบสาธิตชุมชนวัดไตรมิตรวิทยารามฯ” ลงสู่ระดับภูมิภาค เปิดศูนย์ศึกษาอาเซียนภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่จังหวัดอุบลราชธานี นำ “บวร” โมเดลมาขยายผล ดึงเยาวชนและผู้ประกอบการในท้องถิ่นร่วมศึกษาเรียนรู้ภาษาเวียดนาม เพื่อเตรียมความของชุมชนในการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่จะมาถึงในปี 2558
สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) ร่วมกับ มูลนิธิร่มฉัตร จัดทำ “โครงการการขยายผลชุมชนต้นแบบและการสื่อสารการเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ต่อยอดความสำเร็จจาก “โครงการพัฒนาต้นแบบสาธิตชุมชนวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร” ภายใต้แนวทางการดำเนินงาน “บวรโมเดล” ดึงพลังความร่วมมือจากภาครัฐ ชุมชน สังคม และศาสนา สู่ความร่วมมือทั้งในมิติสังคม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ พร้อมเปิด “ศูนย์ศึกษาอาเซียน จังหวัดอุบลราชธานี” เพื่อสร้างแหล่งเรียนรู้เพื่อเปิดประตูทำความรู้จักกับ 10 ประเทศอาเซียนให้กับเยาวชน และประชาชนในพื้นที่
พระธรรมภาวนาวิกรม ประธานมูลนิธิร่มฉัตร ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เปิดเผยว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนนับเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะต้องเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ ในการที่ทั้ง 10 ประเทศจะรวมกันเป็นหนึ่ง โดยโครงการที่ทาง มูลนิธิร่มฉัตร และ สสค. ได้ร่วมกันดำเนินงานนั้น เป็นการนำ 2 ทฤษฎีขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ คือ “บ-ว-ร” และ “เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา” มาใช้ในการเตรียมความพร้อมกับให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ รวมไปถึงการเตรียมความพร้อมของชุมชนในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน
“การเรียนรู้ภาษาเพื่อนบ้านสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ในทุกๆ เรื่อง เพราะภาษาเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงในด้านต่างๆ ทั้ง การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ชุมชน ศิลปวัฒนธรรม ของไทยและเพื่อนบ้าน และยังเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข ซึ่งปัจจุบันทาง มูลนิธิร่มฉัตร ได้ร่วมกับ สสค. เตรียมความพร้อมของชุมชนโดยเริ่มต้นจากชุมชนเล็กๆ เริ่มต้นจากทีละหมู่บ้าน ก่อนที่จะขยายไปในระดับตำบล ระดับอำเภอ และจังหวัด โดยกระจายลงไปใน 4 ภูมิภาค เพื่อพัฒนาให้เกิดเป็นชุมชนต้นแบบของการขยายผลการดำเนินงานในพื้นที่” ประธานมูลนิธิร่มฉัตรกล่าว
ดร.อุบล เล่นวารี ที่ปรึกษาโครงการฯ กล่าวถึงการดำเนินงานโครงการการขยายผลชุมชนต้นแบบฯ ว่า จัดทำขึ้นเพื่อขยายผลการดำเนินงานและความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับชุมชนต้นแบบวัดไตรมิตรฯ ออกไปสู่ระดับภูมิภาค เพื่อกระตุ้นและจุดประกายให้สังคมหรือชุมชนตื่นตัวในเรื่องของ AEC ด้วยการสร้างชุมชนต้นแบบขึ้นใน 4 ภาคประกอบไปด้วย ภาคเหนือ โรงเรียนบ้านแม่จัน จังหวัดเชียงราย, ภาคกลาง โรงเรียนเอกชัย จังหวัดสมุทรสาคร, ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โรงเรียนเทศบาล 2 พิบูลวิทยาคาร จังหวัดอุบลราชธานี และภาคใต้ โรงเรียนบ้านน้ำกระจาย จังหวัดสงขลา
“เป้าหมายของการดำเนินโครงการนี้เพื่อให้เกิดการขยายผลแนวคิดและการดำเนินงานออกไปยังชุมชน ตำบล หรืออำเภออื่นๆ ในพื้นที่ของทั้ง 4 จังหวัด และต้องการที่จะจุดประกายให้ทุกภาคส่วนในชุมชนที่ประกอบด้วย ‘บ ว ร’ ช่วยกันคิด วางแผน และดำเนินการในการเตรียมความพร้อมของชุมชนตนเองในการก้าวสู่ประชาคมอาเซียน ให้ครอบคลุมทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม เพื่อขับเคลื่อนและสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชน จนสามารถเป็นตัวอย่างหรือต้นแบบให้แก่ชุมชนอื่นๆ ในการนำไปใช้เพื่อเตรียมความพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน เพื่อก่อให้เกิดการพัฒนาในด้านต่างๆ ควบคู่กันไปอย่างยั่งยืนพร้อมกันทั้งประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีเป้าหมายที่แท้จริงของประชาคมอาเซียนก็คือการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข” ดร.อุบล ระบุ
ดร.เรวัติ สิงห์เรือง ผู้อำนวยการโรงเรียนเทศบาล 2 พิบูลวิทยาคาร จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนโครงการชุมชนต้นแบบสู่ AEC ของจังหวัดอุบลราชธานี และจัดตั้ง “ศูนย์ศึกษาอาเซียน” ขึ้นเป็นแห่งแรกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือเปิดเผยว่า ประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อเยาวชนในพื้นที่เมื่อเกิดศูนย์เรียนรู้อาเซียนขึ้น คือเด็กและเยาวชนเกิดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และสามารถนำสิ่งที่ได้เรียนรู้ไปใช้ต่อยอดในการเรียนต่อไปในอนาคต และทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ซึ่งกันและกันระหว่างสถาบันการศึกษาในทุกระดับที่มาร่วมให้ความรู้ทางด้านวิชาการเพื่อเตรียมความพร้อมของจังหวัดอุบลฯ สู่ AEC
“ซึ่งผลดีของโครงการนี้ ได้ทำให้เด็กและเยาวชนในพื้นที่เกิดความรู้เกี่ยวกับเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนว่าเป็นอย่างไร มีกระบวนการเป็นอย่างไร และเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางด้านภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณีวัฒนธรรมของเพื่อนบ้านที่อยู่ในอาเซียนด้วยกัน และมีความรู้มีความเข้าใจในประเทศเพื่อนบ้านได้ดีมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม และในส่วนของผู้ประกอบการและประชาชน เริ่มตระหนักและเข้าใจว่าการที่จะติดต่อค้าขาย หรือทำธุรกิจการค้านั้น จะต้องมีความรู้ที่หลากหลายโดยเฉพาะในด้านภาษา เพื่อไม่เสียโอกาสเชิงธุรกิจ และที่สำคัญการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ภายใต้โครงการนี้ยังช่วยทำให้คนไทยเชื้อสายเวียดนามที่อยู่ในพื้นที่มีบทบาทในสังคมมากยิ่งขึ้นขึ้น เกิดความภาคภูมิใจในชาติพันธุ์ และภาษาของตนเอง และพร้อมที่จะเป็นส่วนหนึ่งของชาวอุบลราชธานีในการร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชนในการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน” ผอ.เรวัติกล่าว
นายสมคิด ธนาพรพาณิชย์กุล ตัวแทนคนไทยเชื้อสายเวียดนามเปิดเผยว่า การก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนของชาวอุบลฯ และของคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศนั้นปัจจุบันถือว่ายังน่าเป็นห่วง เพราะมีผลสำรวจพบว่าคนไทยรู้เรื่องของอาเซียนรั้งท้ายเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเรื่องของภาษา ดังนั้นหากเปิดอาเซียนคนไทยก็อาจจะถูกแย่งอาชีพไปจนหมดเพราะขาดศักยภาพที่เพียงพอ “การเสริมสร้างทักษะของเด็กไทยจึงมีความจำเป็นมาก โดยจะต้องเริ่มจากเรื่องของภาษา ไม่ว่าจะเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาของอาเซียนในประเทศเพื่อนบ้านที่จังหวัดของตนเองอยู่ใกล้ นอกจากนี้ยังต้องมีการเตรียมศักยภาพของแรงงานไทยให้มีความพร้อม เพราะเวลาที่ชาวต่างชาติจะมาลงทุนในบ้านเราก็จะต้องใช้แรงงานในประเทศ ดังนั้นจึงต้องมีการจัดอมรมทักษะอาชีพขั้นพื้นฐานในเรื่องของการบริการอย่างเป็นระบบ เพื่อดึงดูดชาวต่างชาติให้เข้ามาลงทุน และก็เป็นการเพิ่มศักยภาพของคนไทยให้ได้มีโอกาสไปทำงานในประเทศเพื่อนบ้านได้” นายสมคิดระบุ
“เพราะภาษาเป็นเครื่องมือที่จะช่วยทำให้การพัฒนาเป็นหนึ่งเดียวกันของ 10 ประเทศอาเซียน เป็นไปได้ด้วยดีและประสบความสำเร็จ ดังนั้นเมื่อทุกคนในชุมชนมีความรู้ภาษาเพื่อนบ้าน ก็เกิดความเข้าใจในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เมื่อนั้นปัญหาความขัดแย้งในด้านต่างๆ ก็จะหมดไป สิ่งเหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยเกิดความเข้มแข็ง พร้อมที่จะรองรับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างเข้าใจ เข้าถึง และสามารถพัฒนาประเทศไทยให้มีคุณภาพที่ดีในอาเซียน และนำประเทศไทยไปสู่เวทีโลกได้อย่างสง่างาม” พระธรรมภาวนาวิกรม กล่าวสรุป.