ข้อคิดจาก 'โดนอล' เมืองใหม่ของเวียนนา

ข่าวอสังหา Thursday September 19, 2013 17:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ก.ย.--เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส เมืองโดนอล (Donau City: DC) เป็นเมืองใหม่ของกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ที่ตั้งอยู่ข้าง ๆ กันในอีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำดานูบ มีชื่อเรียกอีกชื่อว่า Vienna DC ทั้งนี้ ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการบริหาร ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (AREA) ได้มีโอกาสไปเยี่ยมเยียนในครั้งที่พาคณะอสังหาริมทรัพย์ไทยเดินทางไปดูงานอสังหาริมทรัพย์ในยุโรปในห้วงวันที่ 6-14 กันยายน 2556 ซึ่งเป็นงานระดมทุนเพื่อกิจกรรมสาธารณประโยชน์ของมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินแห่งประเทศไทย นครแห่งนี้สร้างขึ้นในปี 2538 มีขนาดเล็กเพียง 110 ไร่ แต่มีพื้นที่ก่อสร้างถึง 500,000 ตารางเมตร พื้นที่สองในสามได้เปิดใช้แล้ว โดยพื้นที่ส่วนใหญ่ 70% ใช้เพื่อกิจการสำนักงานและการค้า 20% ใช้เพื่อการอยู่อาศัย และอีก 10% ใช้เพื่อกิจการอื่น ๆ ขณะนี้มีประชากรประมาณ 7,500 คน ทำงานและอยู่อาศัยในเมืองแห่งนี้ นอกจากนี้ยังมีระบบรถไฟฟ้าเชื่อมต่อกับใจกลางกรุงเวียนซึ่งอยู่อีกฝั่งหนึ่งของแม่น้ำดานูบได้โดยง่าย สำหรับอาคารขนาดใหญ่ในเมืองนี้มีนับสิบแห่ง เป็นอาคารสมัยใหม่เช่นที่ปรากฎในมหานครทั่วโลก โดยอาคารที่สูงที่สุดคืออาคาร DC Tower 1 สูง 220 เมตร และสร้างเสร็จในปี 2556 นี้เอง โดยจะใช้เป็นสำนักงานและโรงแรม นอกจากนี้ยังมีอาคารสูงอื่น ๆ รวมทั้งอาคารชุดพักอาศัยหลายอาคารสูงประมาณ 145 เมตร เพื่อให้มีการอยู่อาศัยที่หนาแน่น (High Density) แต่ไม่แออัด (Over Crowdedness) ในเมืองแห่งนี้ การพัฒนาเมืองโดนอลเป็นแนวคิดการวางผังเมืองที่เรียกว่าเมืองในเมือง (City in the City) ซึ่งพบเห็นได้โดยทั่วไปในมหานครใหญ่ เช่น ปารีส และอื่น ๆ ทั้งนี้เพราะในเขตใจกลางเมืองซึ่งมีขนาดเล็กแต่มีอาคารสถาปัตยกรรมดั้งเดิมอายุประมาณ 100-500 ปีตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก นักผังเมืองจึงมีแนวคิดที่จะอนุรักษ์เมืองเดิมแต่โดยที่มีความจำเป็นต้องใช้อาคารสมัยและอาคารสูง จึงกำหนดพื้นที่ให้ตั้งเมืองใหม่ในพื้นที่ที่ไม่มีสถาปัตยกรรมดั้งเดิม เช่นในตัวอย่างเมืองแห่งนี้ แต่ในขณะเดียวกันในเขตใจกลางเมืองเดิมก็จำกัดความสูง แต่ไม่จำกัดระยะร่นเพื่อยังคงกิจกรรมเชิงพาณิชย์ให้รวมศูนย์อยู่ในใจกลางเมือง ส่วนการสร้างอาคารแบบโปร่ง-โล่ง มักดำเนินการในเขตนอกเมือง การสร้างเมืองใหม่เช่นนี้ เป็นสิ่งที่นักผังเมืองไทยไม่นำมาใช้ในเขตใจกลางเมืองที่ควรได้รับการพัฒนาเพื่อการใช้ที่ดินอย่างเข้มข้น เพื่อไม่ให้เมืองเติบโตกระจัดกระจายอย่างไร้ขอบเขตและขาดการวางแผน จนกลายเป็นการสร้างปัญหาให้กับเมืองในอนาคต เช่นปัญหาการจราจร การขนส่ง และมลภาวะจากการเดินทาง เป็นต้น การพัฒนาของกรุงเทพมหานครจึงควรศึกษาแบบอย่างการพัฒนาเมืองใหม่แบบ City in the City นี้มาปรับใช้ในกรุงเทพมหานครและเมืองอื่น ๆ ต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ