"THAI REFER" นวัตกรรมพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วย ช่วยผู้ป่วยวิกฤติมีโอกาสรอดมากขึ้น เลขา สพฉ. ชู "รพ.ลำปาง" ต้นแบบ หนุนพัฒนาต่อทั่วประเทศ

ข่าวทั่วไป Friday September 20, 2013 10:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เลขา สพฉ. ชู “รพ.ลำปาง” ต้นแบบระบบส่งต่อผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพ ส่งผลให้ผู้ป่วยวิกฤติมีโอกาสรอดมากขึ้น เหตุรพ.ปลายทางได้เตรียมพร้อมและรู้ระยะเวลาที่ผู้ป่วยจะมาถึง หนุนพัฒนาต่อทั่วประเทศ ขณะที่ รพ.ลำปาง ระบุทำให้การทำงานเป็นระบบมากขึ้น ย้ำมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมาก เพิ่มช่องทางด่วนสำหรับผู้ป่วยฉุกเฉิน ชี้ช่วยลดขั้นตอนและความผิดพลาดในการส่งต่อผู้ป่วย นพ.อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวถึง การพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วยด้วย "โปรแกรมไทยรีเฟอร์ (Thai Refer)" ของโรงพยาบาลลำปางว่า ถือเป็นระบบที่เสริมการทำงานของระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพราะระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่ดีและมีประสิทธิภาพ นอกจากจะต้องได้มาตรฐานและให้การรักษาอย่างทันท่วงทีแล้ว ระบบการนำส่งผู้ป่วยฉุกเฉินไปรักษาในโรงพยาบาลก็ถือว่ามีความสำคัญมาก ซึ่งหากมีความพร้อมมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมีโอกาสรอดชีวิตมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้แนวทางต่อไปคือจะนำเสนอและสนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงและพัฒนาให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะในห้องฉุกเฉินเพื่อทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินมีโอกาสรอดชีวิตมากยิ่งขึ้น ขณะที่ นพ.ธานินทร์ โลเกศกระวีกลุ่มงานเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รพ.ลำปาง กล่าวว่า แต่เดิมที่รพ.ลำปางค่อนข้างมีปัญหาเรื่องระบบส่งต่อ เนื่องจากไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วย ขาดการประสานงาน อีกทั้งสถานพยาบาลปลายทางขาดการเตรียมพร้อมทำให้ผู้ป่วยวิกฤติบางรายมีอาการแย่ลง จึงได้มีแนวคิดพัฒนาระบบส่งต่อโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยหนุนเสริมการทำงานขึ้น ซึ่งได้ทดลองใช้จริงร่วมกับโรงพยาบาลทั่วประเทศแล้วตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.2555 ที่ผ่านมา ผลปรากฏว่าทำให้ระบบส่งต่อผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น คือ 1. มีการเชื่อมโยงข้อมูลของผู้ป่วยเป็นระบบเดียวกัน ส่งผลให้ผู้ป่วยได้ รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง 2. มีการเตรียมพร้อมรับผู้ป่วยล่วงหน้า โดยเฉพาะกรณีผู้ป่วยหนัก หรือ ผู้ป่วยช่องทางด่วนโรคสำคัญ อาทิ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง 3. การประสานงานการส่งต่อผู้ป่วยเป็นไปอย่างราบรื่น ลดข้อขัดแย้งระหว่างผู้ให้บริการสถานพยาบาลต่างๆ ทำให้ระยะเวลาการประสานงานสำเร็จภายใน 30 นาที เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 99.59 4. มีระบบรายงานผลที่สามารถดึงข้อมูลได้อย่างง่าย สามารถนำไปพัฒนาวางแผนงานต่อได้ 5. ลดการทำงานที่ซ้ำซ้อน โดยข้อมูลที่ป้อนเข้าสู่ระบบ สามารถเก็บใน ฐานข้อมูล และพิมพ์เป็นใบส่งต่อได้อย่างรวดเร็ว 6. ลดความผิดพลาดในการส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยที่สำคัญ เช่น ข้อมูลพื้น ฐาน อาการสำคัญ ผลตรวจทางห้องปฎิบัติการ และการวินิจฉัย และ 7. ลดความแออัดในสถานพยาบาลระดับตติยภูมิ เนื่องจากมีการ ประสานงานล่วงหน้าผ่านโปรแกรม หากไม่จำเป็นต้องทำการส่งต่อผู้ป่วย จะให้คำแนะนำแก่แพทย์โรงพยาบาลต้นทางเพิ่มเติม สำหรับโปรแกรม Thaireferเป็นโปรแกรมที่ใช้งานออนไลน์ผ่านอินเตอร์เน็ต โดยโปรแกรมจะเชื่อมต่อกับข้อมูลของสถานพยาบาล ซึ่งเมื่อติดตั้งโปรแกรมแล้วหากต้องการส่งต่อผู้ป่วยก็เพียงแค่ป้อนหมายเลขประจำตัวของผู้ป่วย ซึ่งข้อมูลจะส่งมายังโรงพยาบาลปลายทางอัตโนมัติ ทำให้โรงพยาบาลปลายทางสามารถวางแผนรองรับผู้ป่วยได้ สามารถคำนวนระยะเวลาที่ผู้ป่วยจะมาถึงได้ ซึ่งจะทำให้ระบบส่งต่อมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากกับผู้ป่วยฉุกเฉิน หรือผู้ป่วยวิกฤติ อย่างไรก็ตามปัจจุบัน โปรแกรมดังกล่าวได้พัฒนาขึ้นเรื่อยๆ โดยมีการเพิ่มช่องทางด่วนสำหรับส่งต่อผู้ป่วยโรคสำคัญด้วย เช่น โรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันในระยะเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันในระยะเฉียบพลัน มีระบบการค้นหาทะเบียนส่งต่อย้อนหลัง ระบบตอบกลับการรักษาจากสถานพยาบาลปลายทาง ระบบปฏิเสธการส่งต่อพร้อมรายงาน การประเมินคุณภาพการส่งต่อ
แท็ก นวัตกรรม  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ