เจาะลึก Sector ETF ปรับพอร์ตลงทุนครึ่งหลังปี 56

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 20, 2013 13:44 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.ย.--บล.เอเซีย พลัส โดยคุณนฤมล อาจอำนวยวิภาส กรรมการผู้จัดการ บล. เอเซีย พลัส จำกัด (มหาชน) ตอนที่ 1 : Sector ETF ให้กำไรชนะตลาดได้ยังไง ? การลงทุนในตลาดหุ้นยังคงมีมนต์เสน่ห์ดึงดูดให้เราเข้ามาแสวงหาผลตอบแทนจากการลงทุน เห็นได้จากจำนวนนักลงทุนที่เข้ามาเปิดพอร์ตใหม่ และมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันที่สูงขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งทุกคนก็หวังจะได้รับผลตอบแทนที่น่าพอใจ แม้ไม่เท่าระดับเซียนตลาดหุ้น ขอแค่มากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากหรือพันธบัตรรัฐบาล แต่จะให้ดีก็ขอให้ชนะผลตอบแทนโดยรวมของตลาดหุ้นด้วยละกัน แนวคิดแบบนี้เอง ทำให้นักลงทุนบางส่วนเห็นโอกาสเอาชนะตลาดด้วย Sector ETF โดยจัดพอร์ตและเพิ่มน้ำหนักการลงทุนใน Sector ที่มองว่าจะให้ผลตอบแทนสูงสุดในช่วงเวลานั้นๆ เนื่องจากบริษัทที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน มักมีลักษณะและความเสี่ยงจากการประกอบธุรกิจที่คล้ายคลึงกัน จึงทำให้ราคาหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันมีทิศทางการเคลื่อนไหวคล้ายกัน ในขณะที่ราคาหุ้นต่างกลุ่มอุตสาหกรรม อาจมีทิศทางการเคลื่อนไหวแตกต่างกันออกไป ตัวอย่างเช่นในช่วง ม.ค.-ก.ค. 56 ดัชนีหมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT ให้ผลตอบแทนที่ 33.81% มากกว่าดัชนีหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค หรือ Energy ให้ผลตอบแทนที่ -7.46% ซึ่งค่าสัมประสิทธิสหสัมพันธ์ (Correlation) ที่ -0.55 แสดงให้เห็นว่าดัชนีทั้ง 2 เคลื่อนไหวไม่สัมพันธ์กัน และเคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้าม กลยุทธ์การลงทุนด้วย Sector ETF จึงเป็นเครื่องมือในการบริหารพอร์ตลงทุนให้มีประสิทธิภาพและสะดวกมากขึ้น โดยนักลงทุนควรเริ่มจากการวิเคราะห์วงจรเศรษฐกิจในปัจจุบันว่าอยู่ในช่วงใด จากนั้นจึงเพิ่มน้ำหนักลงทุนใน Sector ที่คาดว่าจะ Outperform และลดน้ำหนักลงทุนใน Sector ที่คาดว่าจะ Underperform ในช่วงเวลาดังกล่าว โดยทั่วไป สัญญาณเศรษฐกิจที่อยู่ในช่วงขยายตัว หรือที่เรียกง่ายๆว่า “เศรษฐกิจขาขึ้น” คือ อัตราดอกเบี้ยต่ำ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสูง อัตราว่างงานน้อย สาเหตุอาจเกิดจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ โดยการลดดอกเบี้ยทำให้มีการกู้เงินมาลงทุนเพิ่มขึ้น เกิดการจับจ่ายใช้สอยและจ้างงานมากขึ้น สินค้าฟุ่มเฟือยต่างๆ เช่น รถยนต์ เสื้อผ้าแฟชั่น โรงแรม และ อุปกรณ์สื่อสาร ได้รับความนิยมส่งผลให้ราคาหุ้นของบริษัทที่ผลิตสินค้าฟุ่มเฟือยโตตาม ในทางตรงกันข้าม สัญญาณเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในช่วงหดตัว หรือ “เศรษฐกิจขาลง” คือ อัตราดอกเบี้ยสูง ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคต่ำ อัตราคนว่างงานมาก ผู้คนจึงซื้อสินค้าเฉพาะที่จำเป็นเท่านั้น เช่น อาหาร และ ยารักษาโรค เมื่อเรารู้ว่าเศรษฐกิจปัจจุบันอยู่ในช่วงใด และ Sector ใดที่คาดว่าจะ Outperform หรือ Underperform ในช่วงดังกล่าว เราจึงเลือกลงทุนใน Sector ETF ที่ตรงกับมุมมองการลงทุนของเรา ซึ่งขณะนี้มี Sector ETF อ้างอิงกับ 5 หมวดธุรกิจที่มีมูลค่าตลาด (Market Cap) มากเป็นอันดับต้นๆ และได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยการเคลื่อนไหวของ Sector ETF จะเป็นไปตามกลุ่มหุ้นที่มีอยู่ภายใต้หมวดธุรกิจนั้นๆ สิ่งหนึ่งที่เราควรทราบ คือ หมวดธุรกิจที่มีมูลค่าตลาด (Market Cap) สูงนั้น มักมีการเคลื่อนไหวใกล้เคียงกับตลาด SETโดยรวม เนื่องจากการให้น้ำหนักของ SET ส่วนใหญ่จะถูกเทไปที่หมวดธุรกิจดังกล่าว ทำให้การเคลื่อนไหวของหมวดธุรกิจนั้นสอดคล้องกับ SET มากกว่าหมวดธุรกิจอื่นๆ เพื่อให้เห็นภาพชัดมากยิ่งขึ้น ขอยกตัวอย่างการลงทุนด้วย Sector ETF ของนักลงทุน 3 ประเภท ที่มีเป้าหมายผลตอบแทนต่างกัน แต่มีมุมมองเศรษฐกิจคล้ายกัน คือ เศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้น และหมวดธุรกิจที่คาดว่าจะได้รับผลประโยชน์มากที่สุด คือ ICT ตามลำดับ “Sector ETF” นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้นักลงทุนจัดกลยุทธ์และปรับพอร์ตลงทุนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องวิเคราะห์หุ้นรายตัว และสามารถสร้างผลตอบแทนตามต้องการและเอาชนะตลาดโดยรวมได้ในท้ายที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ