กรุงเทพ--26 พ.ย.--สปส.
เผยสถิติการเจ็บป่วยจากงานของลูกจ้างพบว่าเป็นโรคปวดหลังกันมากที่สุด ตัวเลขปี 39-ต้นปี 40 มีกว่า 20,000 ราย ส่วนใหญ่เกิดจากยกของหนักเกินกำลังหรือยกผิดท่า
นายจำลอง ศรีประสาธน์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม เผยตัวเลขกองทุนเงินทดแทนปี 39-ต้นปี 40 มีการแจ้งการเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานของลูกจ้างที่เป็นโรคปวดหลังสูงสุดถึงกว่า 20,000 ราย สาเหตุส่วนใหญ่ เนื่องจากการยกของหนักเกินกำลัง การยกของผิดท่าทาง หรือการทำงานที่ต้องก้ม ๆ เงย ๆ เป็นประจำ ทั้งนี้ในการวินิจฉัยโรคปวดหลังที่ผ่านมา มักพบปัญหาว่ามีสาเหตุที่เนื่องมาจากการทำงานหรือไม่เนื่องจากการทำงาน เพราะจะใช้สิทธิต่างกองทุนกัน หากการปวดหลังมีสาเหตุเนื่องจากการทำงานจะใช้สิทธิจากกองทุนเงินทดแทน แต่ถ้าเป็นโรคปวดหลังที่ไม่เนื่องจากการทำงาน ก็จะใช้สิทธิจากกองทุนประกันสังคม ดังนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้น สำนักงานฯ มีข้อแนะนำสำหรับลูกจ้างที่เป็นโรคปวดหลังดังนี้
1. เมื่อลูกจ้างปวดหลัง ไม่ว่าจะเนื่องหรือไม่เนื่องจากการทำงานก็ตาม ควรเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลตามบัตรรับรองสิทธิฯ ก่อน โดยแสดงบัตรรับรองสิทธิฯ ต่อเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หากเจ้าหน้าที่วินิจฉัยในภายหลังแล้วพบว่าลูกจ้างเป็นโรคปวดหลังที่มีสาเหตุจากการทำงานก็สามารถนำใบเสร็จรับเงินจากโรงพยาบาลไปเบิกค่ารักษาคืนจากกองทุนเงินทดแทนได้ในภายหลัง แต่ถ้าหากวินิจฉัยแล้วพบว่าสาเหตุไม่เนื่องจากการทำงาน ก็ใช้สิทธิตามบัตรรับรองสิทธิฯ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ
2. กรณีที่สงสัยว่าลูกจ้างเป็นโรคปวดหลังจากการทำงาน ให้นายจ้างหรือลูกจ้างแจ้งการประสบอันตรายตามแบบ กท.16 ต่อสำนักงานประกันสังคมในเขตพื้นที่รับผิดชอบก่อนโดยเร็ว เจ้าหน้าที่จะได้ทำการวินิจฉัยว่าเป็นโรคปวดหลังจากการทำงานหรือไม่ เพื่อดำเนินการให้ลูกจ้างได้รับสิทธิอย่างถูกต้องต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีผ่าตัด ควรให้เจ้าหน้าที่วินิจฉัยก่อนทุกครั้ง
ทั้งนี้หากนายจ้าง ลูกจ้าง มีข้อสงสัยเกี่ยวกับสิทธิที่จะได้รับสามารถสอบถามได้ที่ฝ่ายประโยชน์ทดแทนของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดทุกจังหวัด หรือสำนักงานเขตพื้นที่ หรือสายด่วน 1506 ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการ--จบ--