กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--ศาลแขวงนนทบุรี
ศาลที่ให้โอกาสจำเลยอย่างเต็มที่ในการกลับตัวเป็นคนดี ศาลที่เชื่อในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะมาศาลในฐานะจำเลย นักโทษ หรือฐานะอื่นใดก็ตาม
เมื่อวันที่ ๒๑ กันยายน ๒๕๕๖ เวลา ๑๐.๐๐ น.ผ่านมา ศาสตราจารย์พิเศษ ไพโรจน์ วายุภาพ ประธานศาลฎีกา เป็นประธานในพิธีเปิด คลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม คืนคนดีสู่สังคม ณ ที่ทำการชั้น ๒ อาคารศาลจังหวัดนนทบุรี และที่ทำการชั้น ๔ อาคารศาลแขวงนนทบุรี โดยมีอธิบดีผู้พิพากษาภาค๑ ผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัด ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงนนทบุรี อัยการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรนนทบุรี ผู้ประนีประนอม ข้าราชการและลูกจ้างในศาล สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ(สสส.) โรงพยาบาลศรีธัญญา โรงพยาบาลธัญญารักษ์ มูลนิธิสถาบันศึกษาและพัฒนาการจัดการความขัดแย้งด้วยสันติวิธี(ส.พ.ส.)และหน่วยงานภาคีซึ่งปฏิบัติหน้าที่เชื่อมโยงกับการดำเนินงานของคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมของศาลจังหวัดและศาลแขวงนนทบุรี ร่วมให้การต้อนรับ
คลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม (Psycho — social Clinic) อยู่ในสถานที่เดียวกับศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ของศาลจังหวัดนนทบุรีและศาลแขวงนนทบุรี มีเจ้าหน้าที่ประจำที่จะให้คำปรึกษา สำหรับผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ได้รับการประกันตัว โดยศาลกำหนดเงื่อนไขให้เข้ารับการปรึกษา ผู้ต้องหาหรือจำเลย รวมทั้งผู้เสียหายในคดีความรุนแรงภายในครอบครัว ผู้เสียหายในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ พ่อแม่หรือคู่สมรสของผู้ต้องหา หรือจำเลย โดยไม่มีพิธีรีตอง ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ
ซึ่งในช่วงแรกการทำงานโดยภาพรวมจะนำคดีที่เกี่ยวกับการเสพยาเสพติด หรือ มียาเสพติดให้โทษประเภท 1 ไว้ในครอบครองจำนวนเล็กน้อย หรือคดีความผิดรุนแรงในครอบครัว คดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ที่เข้าสู่ศาลจังหวัดนนทบุรีและศาลแขวงจังหวัดนนทบุรี ในแต่ละวันมีมากกว่า 30 คดีขึ้นไป แต่ศาลสามารถทำคดีได้เพียงวันละ 10 คดี ประกอบกับทั้ง 2 ศาล มีการอบรมผู้ประนีประนอม ของศาลให้เป็นผู้ให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม เพื่อทำหน้าที่ให้คำปรึกษาในคดีเป้าหมาย คือ คดีเสพ หรือมียาเสพติดให้โทษประเภท 1 หรือประเภทอื่น ๆ จำนวนเล็กน้อย เช่น ยาบ้า 1-14 เม็ด หรือให้คำปรึกษาแก่ผู้กระทำความผิดในคดีความรุนแรงในครอบครัว ผู้เสียหายในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ วิธีดำเนินงานหลังจากผู้พิพากษาที่ได้รับมอบหมาย คัดเลือกคดี ซึ่งมีหลักเกณฑ์เบื้องต้นคือ ผู้กระทำความผิดที่ได้รับการประกันตัว และไม่มีประวัติหลายคดี จากนั้นส่งสำนวนให้คลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม ผู้กระทำความผิดพบผู้ให้คำปรึกษาซึ่งเป็นผู้ประนีประนอมที่ผ่านการอบรมให้คำปรึกษาด้านจิตสังคม ให้คำปรึกษา ไม่ใช่การสอน ไม่ใช่การอบรม หากแต่เป็นการช่วยให้ผู้มาขอคำปรึกษา พบคำตอบที่จะคลี่คลายปัญหาชีวิตของตัวเอง เพื่อช่วยบำบัดฟื้นฟูหรือแก้ไขผู้กระทำความผิดไม่ให้กระทำความผิดอีกในระหว่างที่ถูกดำเนินคดี และช่วยให้ผู้กระทำผิดกลับตัวเป็นพลเมืองดี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในระยะยาวต่อกระบวนการยุติธรรม หากคนผิดสามารถกลับตัวมาทำประโยชน์ให้กับสังคมได้ งานของศาลก็จะลดลง
ส่วนนายมนต์ชัย ชนินทรลีลา ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลจังหวัดนนทบุรี กล่าวว่า ผู้กระทำความผิดที่มีคดีแล้วถูกนำมาฝากขังที่ศาลจังหวัดนั้นจะฝากขังได้สูงสุด 7 ฝาก หรือ 84 วัน โดยในช่วงเวลาดังกล่าวผู้กระทำความผิดสามารถขอรับคำปรึกษาที่คลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมได้ติดต่อกัน 3 ครั้ง เพื่อให้นำกลับไปทบทวน กลับตัวกลับใจ ไม่กลับไปทำความผิดซ้ำ
และนางสาววัจนาถ วังตาล ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลแขวงนนทบุรี กล่าวอีกว่า ผู้ที่เข้ารับคำปรึกษาของศาลแขวงนนทบุรีส่วนใหญ่จะเป็นผู้ต้องหาที่มีคำตัดสินออกมาแล้ว ซึ่งการให้คำปรึกษาเน้นฟื้นฟูบำบัดจิตใจ ดังนั้นเมื่อผู้ต้องหาพ้นโทษสามารถกลับเข้าไปอยู่ร่วมกับคนในครอบครัวและสังคมได้
ทั้งนี้โครงการจัดตั้งคลินิกให้คำปรึกษาด้านจิตสังคมในศาลจังหวัดนนทบุรีเป็นศาลที่ 3 ต่อจากศาลอาญาธนบุรี และศาลจังหวัดเชียงใหม่ ที่จัดทำโครงการนี้ ส่วนศาลแขวงนนทบุรี เป็นศาลแขวงแห่งแรกที่เข้าร่วมโครงการแนวคิดที่ว่า ผู้กระทำผิดเป็นอาชญากร ไม่สามารถกลับตัวเป็นคนดีได้ อาจเปลี่ยนไปเมื่อไปศาลจังหวัดนนทบุรีและศาลแขวงนนทบุรี