กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--โฟร์ฮันเดรท
บริษัท ซอลทเวิร์คส จำกัด ทุ่ม 900 ล้านบาท เตรียมผุดโครงการเหมืองเกลือหินใต้ดินเชิงอนุรักษ์ สิ่งแวดล้อมแห่งแรกในเอเชียอาคเนย์ เน้นความปลอดภัยของชาวบ้านต้องมาก่อน มั่นใจได้รับใบอนุญาตประทานบัตรตามระเบียบกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ โดยผ่านมาตรฐานทุกด้าน ทั้งด้านธรณีวิทยา วิศวกรรมศาสตร์ สิ่งแวดล้อม และความปลอดภัย พร้อมตรวจสอบทุกขั้นตอน ย้ำทำเหมืองรูปแบบอุโมงค์ใต้ดินแบบห้องสลับเสาค้ำยันความลึก 170-200 เมตร ไร้ปัญหาหลุมยุบ ไม่มีการใช้น้ำ ไม่ใช้ระเบิด ไม่เกิดการสั่นสะเทือน เพราะใช้วิธีขุดเกลือใต้ดินด้วยรถขูดแร่ พร้อมเดินหน้ากิจกรรมเพื่อชุมชนจัดโครงการร้านค้าชุมชน, ปลูกป่า และอบรมเกษตรทฤษฎีใหม่สร้างอาชีพ หนุนดันแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ใช้พื้นที่ดำเนินโครงการ 600 ไร่ กำลังการผลิตเกลือปีละ 5 แสนตัน
นายกิตติพงศ์ พุทธพรมงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซอลทเวิร์คส จำกัด เปิดเผยว่า เกลือเป็นทรัพยากรที่มีความสำคัญต่อชีวิตของมวลมนุษยชาติ ซึ่งนอกจากจะสามารถนำไปใช้ในการประกอบอาหารแล้ว เกลือยังเป็นส่วนประกอบสำคัญขั้นพื้นฐานในหลายอุตสาหกรรมทั้ง อาหาร เคมี ปิโตรเคมี ประปา ฟอกย้อม รักษาความเย็น เครื่องสำอาง ยา ฯลฯ โดยประเทศไทยเกลือเป็นทรัพยากรที่มีปริมาณมากในภาคอีสาน และสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้หลายอย่าง แต่หากไม่นำมาใช้ประโยชน์ทรัพยากรเกลือก็จะไร้ค่า ในปัจจุบันมีวิธีในการทำเกลือด้วยการทำเหมืองแร่เกลือหินใต้ดินมาใช้ประโยชน์ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และมีความปลอดภัยสูง ซึ่งในต่างประเทศมีการทำเหมืองแร่เกลือหินใต้ดินกันมาช้านานป็นร้อยปีจนถึงปัจจุบัน ในหลายประเทศแถบยุโรป เมื่อสิ้นสุดโครงการเหมืองเกลือใต้ดินสามารถพัฒนา เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ อาทิ เช่น พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเกลือหรือชุมชนท้องถิ่น คลินิกบำบัดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ สถานที่จัดเก็บเอกสารสำคัญของหน่วยงานราชการ โดยในส่วนของพิพิธภัณฑ์ บริษัทยินดีมอบรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายให้กับชุมชน (อบต.ในพื้นที่)
ครั้งนี้ บริษัท ซอลทเวิร์คส จำกัด ผู้เป็นเจ้าของโครงการดำเนินการพัฒนาโครงการเหมืองเกลือหินใต้ดิน เชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ได้รับสิทธิ์ในการสำรวจธรณีวิทยา ครอบคลุมพื้นที่เขตปกครองท้องที่ อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งบริษัทฯ ได้ยื่นขอประทานบัตรเหมืองเกลือหินใต้ดินเลขที่ 3/2555 และ 4/2555 ในเขตพื้นที่ตำบลหนองสรวง และตำบลพันดุง อำเภอขามทะเลสอ จังหวัดนครราชสีมา แห่งแรกในเอเชียอาคเนย์ เพื่อสร้างเป็นโครงการเหมืองเกลือหินใต้ดิน เชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ประชาชนและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศชาติ และสนับสนุนให้มีโครงการ Salt Lamps อีกทั้งโครงการอื่นๆ เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชนในพื้นที่
และเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบรอบด้านเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม บริษัท ซอลทเวิร์คส จำกัด จึงได้จัดตั้งคณะที่ปรึกษาที่มีความชำนาญ เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และน่าเชื่อถือ เพื่อร่วมเป็นหนึ่งในโครงการสำคัญนี้ ได้แก่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เป็นที่ปรึกษาด้านวิศวกรรมการสร้างอุโมงค์ใต้ดิน และผู้เชี่ยวชาญ ภาคกลศาสตร์ของดินและหิน มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี โดย รศ.ดร. กิตติเทพ เฟื่องขจร และดร.แฮโรว์ เว็คเนอร์ ที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมอุโมงค์ใต้ดิน, บริษัท กรีนเนอร์ คอนซัลแทนท์ จำกัด ดูแลด้านสิ่งแวดล้อม, วิศวกรโครงการผู้ออกแบบและก่อสร้าง จากบริษัท ไร้ท์ทันเน็ลลิ่ง จำกัด ซึ่งได้รับความไว้วางใจในการก่อสร้างอุโมงค์ต่าง ๆ จากกรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมถึงภาคเอกชน โดยมีโครงการแรกคืออุโมงค์ขนาด 3.0 เมตร ในโครงการก่อสร้างเขื่อนคลองท่าด่าน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครนายก ความยาวรวมทั้งสิ้น 1,910 เมตร และโครงการอุโมงค์อื่นๆ อีกมากมายทั่วประเทศ
นายกิตติพงศ์ กล่าวต่อไปว่า การทำเหมืองเกลือหินใต้ดิน จะเป็นรูปแบบการทำอุโมงค์ลงไปถึงระดับความลึกประมาณ 170 — 200 เมตร จากผิวดิน หรือเทียบเท่าประมาณตึก 61 ชั้น และมีขนาดปากอุโมงค์ทางเข้าในแนวดิ่งความกว้างเพียง 6-8 เมตร เพื่อทำการขุดเกลือขนาดช่องกว้างประมาณ 10 x 10 เมตร และสูง 10 — 15 เมตร ลักษณะของห้องจะสลับกับเสาค้ำยัน (Room & Pillar ) พร้อมตรวจวัดการทรุดตัวของชั้นดินด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย จึงมั่นใจได้ว่าอุโมงค์จะไม่มีการทรุดหรือพังเสียหาย ประกอบกับการทำเหมือง ไม่มีการใช้ระเบิด และใช้เครื่องจักรแบบหัวขูดขูดเอาแร่ออกมา จึงไม่มีแรงสั่นสะเทือนที่จะทำให้เกิดการทรุดตัวของพื้นดิน
นอกจากนี้ ในการทำงานจะไม่ทำให้เกิดการปนเปื้อน หรือก่อให้เกิดผลกระทบต่อแหล่งน้ำใต้ดินก่อนการทำงาน จะต้องมีการสำรวจ ถ้าพบตาน้ำจะอุดด้วยซีเมนต์หรือไม่ขูดบริเวณนั้น เพราะการผลิตใช้ระบบแห้ง ดังนั้น น้ำธรรมชาติที่ไหลผ่านโครงการจะไม่มีการปนเปื้อนเด็ดขาด ไร้เสียง และฝุ่นละออง เพราะเป็นการทำงานใต้ดิน จึงไร้ผลกระทบด้านเสียง และฝุ่นละออง ส่วนการขนส่ง ก็มีการปรับปรุงถนนเป็นลาดยาง ลดการเกิดอุบัติเหตุ ทางโครงการจะกำหนดความเร็วรถ 40 ก.ม./ช.ม. ในเขตชุมชน และหลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางในช่วงเวลาเร่งด่วน ทั้งเส้นทางหลวงและเส้นทางชนบท
ในการลงทุนในครั้งนี้ บริษัทฯ จะใช้งบประมาณ 900 ล้านบาท และถือเป็นแห่งแรกในเอเชียอาคเนย์ เพื่อสร้างเป็นโครงการเหมืองเกลือใต้ดินเชิงอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชน ประชาชนและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศชาติ และสนับสนุนให้มีโครงการ Salt Lamps อีกทั้งโครงการอื่นๆ เพื่อส่งเสริมอาชีพให้กับชุมชนในพื้นที่ ทั้งนี้ทางบริษัทฯ คาดว่าหากได้ประทานบัตรแล้ว จะสามารถลงมือก่อสร้างได้ทันทีใช้เวลาประมาณ 1 ปีครึ่ง และสามารถผลิตเกลือบริสุทธิ์ 99 %ได้ปีละ 500,000 ตันโดยขายทั้งในและต่างประเทศโดยส่งให้อุตสาหกรรมประเภท อาหาร, เคมี, ปิโตรเคมี,ประปา,ฟอกย้อม, รักษาความเย็น เครื่องสำอาง และยา เป็นต้น โดยใช้เวลาในการดำเนินการในพื้นที่กว่า 600 ไร่ รวม 25 ปีจากนั้นจะส่งคืนให้ท้องถิ่นเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวต่อไป
และมีสิ่งปลูกสร้างบนพื้นดิน จะมีสำนักงาน โรงซ่อมบำรุง คลังสำรองเกลือก่อนจัดส่ง ที่พัก และโรงอาหารบนพื้นที่ประมาณ 50 ไร่ โดยก่อสร้างบนพื้นที่สูง ไม่มีปัญหาเรื่องการขัดขวางทางน้ำธรรมชาติ ซึ่ง พื้นที่ส่วนใหญ่ยังคงสภาพธรรมชาติ หรือมีการพัฒนาพื้นที่เพื่อกิจกรรมอื่นๆ เช่น สวนป่า ลานกีฬา หรือปรับปรุงเป็นพื้นที่สีเขียว
และทางบริษัทฯ ยังสร้างความมั่นใจต่อประชาชนด้วยหากเกิดกรณีความเสียหายจากการดำเนินการของโครงการจนประชาชนในพื้นที่ได้รับความเดือดร้อน หรือความเสียหาย สามารถเรียกร้องค่าเสียหายได้ที่ “กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และ บริษัท ซอลทเวิร์คส จำกัด” ตามกฎหมายเหมืองแร่
ผลประโยชน์ที่ชุมชนจะได้รับ
- ผลประโยชน์สำหรับหมู่บ้านพื้นที่ที่ตั้งประทานบัตร เมื่อบริษัทได้รับประทานบัตรและชุมชนในพื้นที่ตั้งของประทานบัตรเห็นด้วยกับโครงการ บริษัทจะสนับสนุนกองทุนหมู่บ้านให้บ้านหนองหัวแหวน หมู่ 6 ตำบลพันดุง, บ้านหนองกก หมู่ 4 และบ้านโคกพัฒนา หมู่ 8 ตำบลหนองสรวง โดยการจัดประชาคมหมู่บ้านแต่ละหมู่บ้านต้องเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ หมู่บ้านละ 1,000,000 บาท
- มีการจ้างงานในท้องถิ่น บริษัทจะเปิดรับพี่น้องในชุมชนเข้าร่วมงาน จำนวน 200 กว่าอัตรา ให้เศรษฐกิจของชุมชนหมุนเวียนดีขึ้น โดยจะเริ่มทยอยรับเมื่อบริษัทได้รับประทานบัตรและดำเนินการก่อสร้าง และดำเนินการผลิตเกลือได้
- องค์การปกครองท้องถิ่น (อบต.พื้นที่ที่บริษัทขอประทานบัตร ต.พันดุง และต.หนองสรวง) มีรายได้จากค่าภาคหลวงแร่ บริษัทผลิตเกลือปีละ 500,000 ตัน
- อบจ. 20% ประมาณปีละ 4,400,000 บาท
- 20% ประมาณปีละ 4,400,000 บาท
- อบต. ในจังหวัด 10% ประมาณปีละ 2,200,000 บาท
ปัจจุบันค่าภาคหลวงแร่เกลือที่ผู้ประกอบการจะต้องจ่ายให้รัฐ ตันละ 44 บาท และ อบต.ของที่ตั้งโครงการได้รับส่วนแบ่งจากภาษีเงินได้นิติบุคคล (15% ของภาษีเงินได้นิติบุคคลที่รัฐเรียกเก็บได้) ขึ้นอยู่กับผลประกอบการของบริษัทฯ
- สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ ที่อาจจะมีขึ้นในท้องถิ่น ตำบลละ 500,000 บาทต่อปี (ต.พันดุง และต.หนองสรวง) เช่น จัดหาวิทยากรมาฝึกอาชีพโคมไฟเกลือ และการเกษตร มีทั้งการเพาะเห็ด การปลูกผักปลอดสารพิษ ทำปุ๋ยหมักชีวภาพ ขุดบ่อเลี้ยงปลา จัดกิจกรรมเพื่อชุมชน และสิ่งแวดล้อม กับ 3 โครงการ ร้านค้าชุมชน, ปลูกป่า และอบรมเกษตรทฤษฎีใหม่หนุนแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง พร้อมทั้งสนับสนุนด้านประปา ถนน ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี สถานีอนามัยและอื่นๆ ให้กับชุมชน
- ทุนการศึกษาและกองทุนด้านการศึกษา ตำบลละ 500,000 บาท ต่อปี (ต.พันดุง และ ต.หนองสรวง)
- ฟื้นฟูปรับปรุงภูมิทัศน์ หลังจากที่มีการทำเหมืองเสร็จแล้ว ทางบริษัทจะปรับปรุงภูมิทัศน์ให้สวยงาม เมื่อสิ้นสุดโครงการเหมืองเกลือใต้ดิน จะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ เช่น พิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับเกลือ หรือชุมชนท้องถิ่น คลินิกบำบัดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ สถานที่จัดเก็บเอกสารสำคัญของหน่วยงานราชการ โดยในส่วนของพิพิธภัณฑ์ บริษัทยินดีมอบรายได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายให้กับชุมชน (อบต.ในพื้นที่)
นายกิตติพงศ์ กล่าวปิดท้ายว่า การทำเหมืองเกลือหินใต้ดินของบริษัท ซอลทเวิร์คส ในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทยเลยก็ว่าได้ ที่จะมีเหมืองเกลือหินใต้ดินแห่งแรกในเอเชียอาคเนย์ ในเชิงอนุรักษ์ และไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งจะนำทรัพยากรธรรมชาติขึ้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่ รวมถึงจังหวัดนครราชสีมา และประเทศให้มีความเข้มแข็งขึ้น ด้วยฝีมือคนไทยที่ใช้ความรู้ความสามารถที่ได้ศึกษามาให้ทัดเทียมกับต่างประเทศ