กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้
ครูโรงเรียนสงขลาเลือกใช้การแสดงศิลปะวัฒนธรรม ดิเกฮูลู และมโนราห์ เพื่อเป็นสื่อในการเรียนรู้ เล็งเห็นคุณค่าของภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการสานสัมพันธ์เยาวชน พุทธ-มุสลิม ให้แน่นแฟ้นกลมเกลียว
แม้จะเป็นสถานศึกษาที่มีรั้วเป็นกำแพงวัดล้อมรอบ แต่สำหรับโรงเรียนวัดทรายขาว แห่ง ต.ทุ่งหวัง อ.เมือง จ.สงขลา กลับมีนักเรียนมุสลิมนับร้อยชีวิต แบกกระเป๋ามานั่งเล่าเรียนร่วมกับเพื่อนไทยพุทธด้วยกันอย่างปกติ ชนิดไร้ซึ่งความรู้สึกแตกต่างทางศาสนา
ไม่เพียงแค่กางตำราเรียนร่วมกัน ในอาคารซีเมนต์กลางวัดทรายขาวด้วยกันเท่านั้น เด็กพุทธและมุสลิมยังร่วมกันสืบสานศิลปะ ภูมิปัญญาท้องถิ่นด้วยกันอย่างไม่ขัดเขิน จนกลายเป็นสายใยที่ผูกสัมพันธ์ไว้อย่างแน่นแฟ้น
ประทีป เพ็ชรจำรัส ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดทรายขาว ต.ทุ่งหวัง อ.เมือง จ.สงขลา เล่าถึงการสร้างความรัก ความสามัคคีให้เกิดขึ้นในหมู่นักเรียนสองศาสนาว่า มาจากการให้เด็กมีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน ดังนั้น จึงเลือกเอาเรื่องศิลปะและวัฒนธรรม รวมถึงภูมิปัญญาท้องถิ่น อันเป็นเอกลักษณ์สำคัญมาเป็นตัวขับเคลื่อน
นั่นจึงเป็นที่มาของการจัดโครงการเรียนรู้สาระท้องถิ่น ภายใต้ชื่อ “ทรายขาวศึกษา จากภูมิปัญญาสู่คุณภาพผู้เรียน” ซึ่งนำเอาภูมิปัญญาท้องถิ่นมาถ่ายทอดผ่านกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อสืบสานอัตลักษณ์ท้องถิ่นให้คงอยู่กับชุมชน โดยได้รับการสนับสนุนจาก “สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน” (สสค.)
“รูปแบบการดำเนินกิจกรรม คือดึงเอาผู้รู้ หรือครูภูมิปัญญาในท้องถิ่น เข้ามาทำกิจกรรมถ่ายทอดความรู้ให้แก่ครู และนักเรียน จากนั้นจึงให้เริ่มทำกิจกรรมขับเคลื่อนเพื่อสืบสานวิถีอันงดงามของชุมชน ไม่ว่าจะเป็นศิลปะการแสดง หรือการประดิษฐ์” ประทีป กล่าว
กิจกรรมที่ดำเนินการในขณะนี้ คือการสอนให้นักเรียน ร้อง เล่น และแสดงดิเกฮูลู หรือลิเกฮูลู อันเป็นการแสดงพื้นบ้านของพี่น้องมุสลิมในภาคใต้ ด้วยการนำมาผสมผสานกับศิลปะการร่ายรำมโนราห์ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์ของภาคใต้ ทั้งนี้ การแสดงดีเกฮูลูผสานกับการรำมโนราห์ ได้ก่อเกิดเป็นกิจกรรมที่สามารถเล่าเรื่องราวท้องถิ่นได้อย่างน่าสนใจ และอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน
“นอกจากช่วยสืบสานศิลปะวัฒนธรรมสำคัญแล้ว ยังทำให้เด็กสองศาสนาในรั้วโรงเรียนสามัคคีรักใคร่แน่นแฟ้นมากขึ้น ที่สำคัญ วันนี้ กิจกรรมทรายขาวศึกษา จากภูมิปัญญาสู่คุณภาพผู้เรียน ทำให้สังคมหันมาใส่ใจการอนุรักษ์วัฒนธรรมท้องถิ่นมากขึ้นกว่าในอดีตอย่างเห็นได้ชัด ดังเห็นได้จากการติดต่อให้เด็กๆ ออกแสดงโชว์ในเทศกาลสำคัญต่างๆ ” ผู้อำนวยการโรงเรียนตอกย้ำ
นอกจากศิลปะการแสดงแล้ว โครงการนี้ยังสอนให้นักเรียนรู้จัก “โคระ” หรือชะลอมทางมะพร้าวที่ใช้ห่อขนุนหรือจำปาดะ เพื่อไม่ให้แมลงชอนไช เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักกันแล้ว โดยเปิดโอกาสให้ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนได้สอนเด็กๆ ให้เรียนรู้การสาน พร้อมๆ กับการสอนการขับร้องเพลงกล่อมเด็กไปในเวลาเดียวกัน
“ผมมั่นใจว่าจากเรื่องราววัฒนธรรมชุมชนที่เริ่มในรั้วโรงเรียนขณะนี้ จะสามารถขยายผลไปเป็นวาระของท้องถิ่น วาระของชุมชน ในการร่วมกันอนุรักษ์ศิลปะและวัฒนธรรมในพื้นที่ ต.ทุ่งหวัง อ.เมือง จ.สงขลาได้อย่างแน่นอน” ประทีป ยืนยัน
ด้าน เด็กชายยุวัฒน์ ชูสกูล นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนบ้านทรายขาว บอกด้วยรอยยิ้มว่า นับแต่โรงเรียนสอนให้รู้จักการสานโคระ ซึ่งเป็นอุปกรณ์ป้องกันแมลงที่ประดิษฐ์จากทางมะพร้าว ได้ช่วยให้ครอบครัวลดต้นทุน เนื่องจากไม่ต้องเสียเงินซื้อถุงกระดาษ หรือถุงดำ มาใช้ห่อหุ้มผลไม้ โดยเฉพาะขนุน และจำปาดะ
ยิ่งไปกว่านั้น การหุ้มผลไม้ในสวนด้วยเครื่องจักสานจากทางมะพร้าวที่เรียกว่า โคระ ยังช่วยให้ผลผลิตมีคุณภาพเพราะนอกจากไร้แมลงและศัตรูพืชมากัดกินแล้ว ยังสามารถขายผลผลิตได้ราคาดีขึ้นอีกด้วย
ส่วน ด.ญ.ฮารีซา โสดาหวัน ในฐานะนักแสดงดีเกฮูลู บอกว่า ไม่คิดว่าการผสมผสานระหว่างการแสดงท้องถิ่นชายแดนภาคใต้กับการรำมโนราห์ จะกลายเป็นศิลปะและวัฒนธรรมที่ลงตัว แต่สิ่งที่ดีใจมากกว่านั้น คือการได้มีโอกาสร่วมกันสืบสานสิ่งดีงามให้อยู่สืบไป
เช่นเดียวกันกับ ด.ญ.ฐิติมา บุญโร นักแสดงมโนราห์ เผยความรู้สึกว่าดีใจที่ทางโรงเรียนนำเอาศิลปะวัฒนธรรมของชาวมุสลิมมาประยุกต์ผสมผสานกับศิลปะของชาวไทยพุทธ ซึ่งเป็นการผูกสายสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนต่างศาสนาได้แน่นแฟ้น แล้วยังช่วยธำรงรักษาไว้ซึ่งมรดกแห่งท้องถิ่นดีอีกด้วย
ทั้งหมดคือความพยายามของการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในโครงการเรียนรู้ของโรงเรียนวัดทรายขาว ที่กำลังสร้างแรงกระเพื่อมทางสังคม เพื่อให้ชุมชนเหลียวกลับมามองและเล็งเห็นความสำคัญกับการสืบสานอัตลักษณ์รากเหง้าของตัวเองมากขึ้น.