กรุงเทพฯ--23 ก.ย.--ผาแดงอินดัสทรี
บริษัทฯ ยังคงเชื่อมั่นในการทำเหมืองของบริษัทฯ ไม่ใช่สาเหตุการปนเปื้อนแคดเมียม
ผาแดงฯ ยังคงยินดีให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการแก้ไขปัญหาในพื้นที่ต่อไป
ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ได้อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่ 66/2552 ที่ชาวบ้านจำนวนหนึ่ง (207 คน) ในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาว อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ยื่นฟ้องบริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) และบริษัทตากไมนิ่ง จำกัด ว่าเป็นต้นเหตุทำให้เกิดการปนเปื้อนของสารแคดเมียมในพื้นที่และเรียกร้องค่าเสียหายเป็นเงินกว่า 726 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยโจทก์ผู้มีบัตรผู้ป่วยโครงการแคดเมียมของโรงพยาบาลแม่สอด โจทก์ผู้ที่อ้างว่าไม่สามารถใช้ที่ดินเพื่อทำการเกษตรต่อไปได้ โจทก์ผู้ที่อ้างว่าสูญเสียอาชีพ โจทก์ผู้ที่หวั่นวิตกต่อการมีสารแคดเมียมปนเปื้อน ค่าสูญเสียวัฒนธรรมประเพณีและการดำรงชีวิตอย่างปกติสุข รวมทั้งเรียกร้องให้ผาแดงและตากไมนิ่งจ่ายเงินจำนวน 50 ล้านบาทและเงินในอัตราร้อยละ 3 ของผลกำไรสุทธิเข้ากองทุนประกันความเสี่ยงและพัฒนาคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งให้ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมด้วยค่าใช้จ่ายของบริษัทฯ และบริษัทตากไมนิ่งฯ นั้น
นายอรรณพ ตังคณานุกูลชัย ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายประสานงานราชการและกฎหมาย บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงผลการตัดสินของศาลในวันนี้ ว่า ศาลได้มีคำพิพากษาให้บริษัทฯ และบริษัทตากไมนิ่งฯ ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์เฉพาะผู้ที่มีบัตรผู้ป่วยโครงการแคดเมียมของโรงพยาบาลแม่สอดเท่านั้น เป็นเงินประมาณ 7 ล้านบาทเศษ ซึ่งบริษัทฯ และตากไมนิ่งต้องชดใช้คนละครึ่ง ส่วนโจทก์อื่น ๆ ที่อ้างว่ามีความเสียหายจากการปนเปื้อน ศาลได้มีคำพิพากษาให้ยกฟ้องทั้งหมด เพราะไม่สามารถนำสืบได้ว่าเสียหายตามที่กล่าวอ้างจริง
บริษัทฯ ขอศึกษารายละเอียดของคำพิพากษาดังกล่าวก่อน และจะหารือกับทีมทนายความเพื่อยื่นอุทธรณ์ตามขั้นตอนต่อไป
บริษัทฯ ได้นำสืบโดยใช้พยานหลักฐานต่างๆ ซึ่งเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์และผลการศึกษาที่หน่วยงานทั้งภาครัฐและสถาบันวิชาการต่างๆ ตลอดจนที่ผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศได้ทำการศึกษาไว้ และได้สรุปถึงสาเหตุของการปนเปื้อนของแคดเมียมในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่ตาวว่าเกิดขึ้นจากกระบวนการผุพังสลายตัวตามธรรมชาติเป็นระยะเวลานานมาแล้ว อีกทั้งการปนเปื้อนยังถูกตรวจพบก่อนการทำเหมืองของบริษัทฯ อีกด้วย ดังนั้นการปนเปื้อนจึงมิได้เกิดจากการทำเหมืองแร่ของบริษัทฯ อย่างแน่นอน ซึ่งบริษัทฯ มั่นใจมาโดยตลอดต่อมาตรการป้องกันและรักษาสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดภายใต้การกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐรวมถึงผลกระทบที่อาจเกิดต่อสุขภาพของชาวบ้านในชุมชน ส่งผลให้บริษัทฯ ได้รับรางวัลสถานประกอบการรักษามาตรฐานเหมืองแร่สีเขียวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 และรางวัลสถานประกอบการเครือข่ายความรับผิดชอบต่อสังคมจากกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.)
อย่างไรก็ตาม ด้วยความรับผิดชอบต่อสังคม บริษัทฯ ได้ใส่ใจและให้ความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวบ้านในพื้นที่นี้มาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มต้น โดยไม่ได้รอผลพิสูจน์ในกระบวนการยุติธรรม ทั้งการช่วยเหลือด้านการปรับเปลี่ยนอาชีพให้กับชาวบ้านผู้สนใจมาปลูกอ้อยเพื่อผลิตเอทานอล ซึ่งมีความก้าวหน้าเป็นลำดับภายใต้การสนับสนุนของภาครัฐ รวมทั้งการสนับสนุนโรงพยาบาลแม่สอดในการดูแลสุขภาพของประชาชนในพื้นที่ และการพัฒนาชุมชนในด้านต่างๆ ซึ่งบริษัทฯ จะยังคงดำเนินการต่อไป