กรุงเทพฯ--24 ก.ย.--นิวส์ เพอร์เฟค คอมมิวนิเคชั่น
อินเดีย ตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทยในประเทศกลุ่มเอเชียใต้ ด้วยมูลค่าการค้ากว่า 8.67 พันล้านดอลล่าร์ ในปีที่ผ่านมา และจำนวนประชากร 1.21 พันล้านคน อันดับ 2 ของโลก รองจากจีน รวมถึงโอกาสในการเปิดประตูการค้าสู่ ตลาด ภูฏาน เนปาล ศรีลังกา และบังกลาเทศ ไทย และ อาเซียน จึงต้องกำหนดนโยบาย และ กลยุทธ์ต่างๆ ในการรุกตลาด อินเดีย อย่างชัดเจน
ดร.วัชรัศมิ์ ลีละวัฒน์ รองผู้อำนวยการวิชาการสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและพัฒนา หรือ ITD เปิดเผยว่า อินเดีย เป็นประเทศที่มีศักยภาพในการเป็นตลาดการค้า และการลงทุนของไทย แต่ในช่วงที่ผ่านมาปริมาณการค้า และการลงทุนระหว่างไทยและอินเดียยังมีค่าน้อยมาก เมื่อเทียบกับขนาดตลาดของอินเดีย ยังไม่นับรวมโอกาสในการขยายตลาดสู่ประเทศใกล้เคียงกับอินเดีย โดยจากข้อมูล ตั้งแต่ เมษายน พ.ศ. 2543 ถึง ธันวาคม พ.ศ. 2554 ไทยมีมูลค่าการลงทุนในอินเดียรวมทั้งหมดเพียง 92.06 ล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือ 0.06 เปอร์เซ็นต์ ของเงินลงทุนต่างชาติ โดยจัดอยู่ในอันดับที่ 36
“ โอกาสการค้า และการลงทุน ในประเทศ อินเดีย ยังเปิดกว้างมากสำหรับนักลงทุนชาวไทย โดยปัจจัยสำคัญที่เข้ามาส่งเสริมการค้าระหว่างกันคือ ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-อินเดีย ( TIFTA ) ซึ่งเป็นข้อตกลงเสรีอย่างเต็มรูปแบบ รวมถึงการเปิดเสรี การค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ตลอดจนความร่วมมือทางเศรษฐกิจ และข้อตกลงเสรีการค้า อาเซียน-อินเดีย( AIFTA ) ซึ่งเป็นความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียน 10 ประเทศกับอินเดีย ซึ่งข้อตกลงทั้ง 2 ฉบับ มีความสำคัญเป็นอย่างมาก ในการนำมาใช้ประกอบการวางแผนธุรกิจ ตลอดจนกำหนดยุทธศาสตร์ที่เหมาะสม ในการทำการค้า การลงทุน กับ อินเดีย ต่อไป ” ดร.วัชรัศมิ์ กล่าว
โดย ข้อตกลงการค้าเสรี ไทย-อินเดีย ( TIFTA ) เป็นความตกลงการค้าเสรีระดับทวิภาคีระหว่างไทยกับอินเดีย เริ่มเจรจาในปี พ.ศ. 2544 และลงนามเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม พ.ศ. 2546 ผลของการเจรจามีผลให้ยกเลิกภาษีในสินค้าเร่งลดภาษีจำนวน 82 รายการเหลือ 0 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทย ไปอินเดียเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ไทยเกินดุลการค้ากับอินเดียในช่วงปี 2550-2553 สัดส่วนการใช้สิทธิภายใต้ TIFTA อยู่ที่ร้อยละ 80 โดยสินค้าที่ใช้สิทธิในระดับสูง คือ เครื่องปรับอากาศ อะลูมิเนียมเจือ เครื่องประดับ เพชร พลอย เม็ดพลาสติก และส่วนประกอบเครื่องยนต์
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพในด้านการลงทุนในประเทศอินเดียสำหรับนักลงทุนชาวไทย มีอยู่ 4 อุตสาหกรรมด้วยกัน คือ 1. อุตสาหกรรมอาหาร 2. อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ 3. อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน และ 4. อุตสาหกรรมเครื่องเรือนและเครื่องตกแต่งบ้าน
ส่วนข้อตกลงการค้าเสรี อาเซียน-อินเดีย ( AIFTA ) เริ่มเจรจาฉบับแรก 13 สิงหาคม พ.ศ. 2552 และมีผลบังคับใช้ 1 มกราคม พ.ศ. 2553 ประเทศสมาชิกอาเซียน และอินเดียจะทยอยลดและเลิกภาษีศุลกากรในระยะเวลาที่แตกต่างกัน โดยอินเดียและประเทศสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ ได้แก่ บรูไน มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และไทย ลดภาษีตามกำหนดเวลา ส่วนประเทศสมาชิกใหม่ของอาเซียน ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และเวียดนาม ( กลุ่ม CLMV ) ลดภาษีช้ากว่ากลุ่มแรก 5 ปี ส่วนฟิลิปปินส์ จะลดภาษีกับอินเดียช้ากว่าประเทศอื่นๆ 3 ปี
ซึ่งผลจาก AIFTA เริ่มบังคับใช้ พบว่ามูลค่าการส่งออกของรายการสินค้าที่ได้รับสิทธิเท่ากับ 3,683.61 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีสินค้าที่ส่งออกภายใต้สิทธิ เท่ากับ 875.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับร้อยละ 18.63 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากการลดภาษีพึ่งจะมีผลบังคับใช้เป็นปีแรก และคาดว่าสัดส่วนการใช้สิทธิจะสูงขึ้นในปีถัดไป ทั้งนี้สินค้าส่งออกที่สำคัญจากไทยไปอินเดียที่ใช้สิทธิภายใต้ AIFTA คือ กรดเทเรฟทาลิก เครื่องยนต์ สินค้าในกลุ่มเอทิลีน ถังเชื่อเพลิงรถยนต์ ผ้าใบยางรถยนต์ ยาง และวิทยุสำหรับรถยนต์ เป็นต้น