กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--แฟรนคอม เอเชีย
บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ “TTA” ประกาศว่า คณะกรรมการของบริษัทฯ ได้มีมติให้บริษัทฯ ทำการบันทึกรายการด้อยค่าของสินทรัพย์ในงบการเงินประจำปี 2556 โดยรายการแรกเป็น การบันทึกการด้อยค่าของสินทรัพย์ทางบัญชี (ที่ไม่ใช่เงินสด) มูลค่าประมาณ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับกองเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองของบริษัท โทรีเซน ชิปปิ้ง สิงคโปร์ หรือ “โทรีเซน ชิปปิ้ง” ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ TTA ที่ดำเนินธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองโดยสาเหตุที่ต้องทำการบันทึกรายการนี้ เป็นผลมาจากปัญหาอัตราค่าระวางเรือที่ปรับตัวลดลงเป็นอย่างมากและต่อเนื่องยาวนานมาเป็นเวลาหลายปี ซึ่งได้ส่งผลกระทบในทางลบอย่างมีนัยสำคัญต่อมูลค่าเรือของบริษัทฯ ซึ่งเคยถูกบันทึกไว้ที่ต้นทุนสูงกว่าราคาตลาดในปัจจุบัน
TTA ยังคงมุ่งมั่นที่จะขยายกองเรือสินค้าแห้งเทกอง เพื่อสร้างความเติบโตให้กับโทรีเซน ชิปปิ้ง โดยยังคงแผนการที่จะซื้อเรือในราคาที่เหมาะสมเพิ่มอีก 3-6 ลำในช่วงระยะเวลา 12-18 เดือนข้างหน้านี้ โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา โทรีเซน ชิปปิ้งเพิ่งซื้อเรือ M.V. Thor Fearless ซึ่งเป็นเรือขนาด Supramax มือสองสัญชาติญี่ปุ่น และถัดมาในเดือนสิงหาคม ก็ได้รับมอบเรือสั่งต่อใหม่ M.V. Thor Breeze ส่งผลให้กองเรือของโทรีเซนชิปปิ้งมีจำนวนทั้งสิ้น 18 ลำ (ไม่รวมเรือที่เช่ามาดำเนินการ) และมีอายุเฉลี่ยลดลงเหลือเพียง 10.8 ปี นอกจากนี้ หลังจากโทรีเซน ชิปปิ้งได้เปิดสำนักงานขายแห่งแรกในภาคพื้นยุโรปที่ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์ค ทำให้ประมาณ 50% ของกองเรือสามารถวิ่งให้บริการอยู่ในน่านน้ำแอตแลนติก ซึ่งเป็นเส้นทางที่มีอัตราค่าระวางเรือสูงกว่าเส้นทางอื่น ทั้งนี้ โทรีเซน ชิปปิ้ง ยังมีแผนที่จะเปิดสำนักงานขายเพิ่มขึ้นอีกแห่งในสหรัฐอเมริกาประมาณช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีงบประมาณหน้า
นอกจากนี้ คณะกรรมการของ TTA ยังมีมติให้ทำการบันทึกการด้อยค่าของสินทรัพย์ทางบัญชี (ที่ไม่ใช่เงินสด) มูลค่าประมาณ 5.6 ล้านเหรียญสหรัฐ สำหรับการลงทุนในบริษัท เมอร์ตัน กรุ๊ป (ไซปรัส) จำกัด (“เมอร์ตัน”) ซึ่งไปลงทุนในบริษัท ชิงเมย จำกัด (“ชิงเมย”) เพื่อร่วมทุนทำธุรกิจเหมืองถ่านหินที่ประเทศอินโดนีเซีย ทั้งนี้ มูลค่าการลงทุนในชิงเมยผูกอยู่กับผลของการเข้าประมูลโครงการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งมีทำเลที่ตั้งใกล้กับเหมือง แต่ผลของการประมูลยังไม่เป็นที่แน่นอน ทำให้คณะกรรมการตัดสินใจบันทึกการด้อยค่า ซึ่งเป็นแนวทางการจัดทำงบการเงินตามมาตรฐานทางบัญชีแบบเคร่งครัด และรายการพิเศษรายการสุดท้าย คือ คณะกรรมการตัดสินใจที่จะเพิ่มการบันทึกการด้อยค่าของค่าความนิยมทางบัญชี (ที่ไม่ใช่เงินสด) มูลค่าประมาณ 530 ล้านบาท สำหรับการลงทุนในธุรกิจของ UMS
ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้ทำการศึกษาและพิจารณาปัจจัยแวดล้อมต่างๆ โดยละเอียด ร่วมกับที่ปรึกษาภายนอกก่อนจะมีมติเช่นนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การตรวจสอบมูลค่ายุติธรรม ของสินทรัพย์และมูลค่าการลงทุนในธุรกิจถ่านหิน ทั้งนี้ บริษัทฯ มีการพิจารณา มูลค่าการใช้งานที่คงเหลือของสินทรัพย์เป็นประจำทุกปี ซึ่งเป็นไปตามหลักมาตรฐานของการบัญชี และการบันทึกรายการพิเศษเหล่านี้ ถือเป็นการจัดทำงบการเงินตามหลักมาตรฐานสากลอย่างเคร่งครัดของ TTA
ม.ล. จันทรจุฑา จันทรทัต กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ TTA กล่าวว่า “ฝ่ายจัดการ คณะกรรมการ และบริษัทที่ปรึกษาภายนอก ได้ร่วมกันศึกษาและพิจารณาอย่างระมัดระวังและรอบคอบ เราไม่ได้วางแผนที่การบันทึกรายการพิเศษใดๆ เพิ่มเติมอีกในปีนี้ แต่ด้วยสถานการณ์ภายนอกบีบบังคับ เช่น ตลาดโดยรวมของธุรกิจเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาอย่างที่คาดหวัง และยังแย่กว่าที่เราเคยคาดไว้ ในขณะที่กลุ่มธุรกิจถ่านหินยังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคจำนวนมาก ด้วยปัจจัยเช่นนี้ เราจึงจำเป็นต้องทำการบันทึกรายการพิเศษต่างๆ เหล่านี้”
“ถึงแม้ว่า รายการพิเศษเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อกำไรสุทธิของเราในปีนี้ แต่รายการทั้งหมดเป็นเพียงการบันทึกตัวเลขทางบัญชีเท่านั้น และไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดในอนาคต และสภาพคล่องของ TTA”
นายเฉลิมชัย มหากิจศิริ รองประธานกรรมการบริหารของ TTA กล่าวสรุปว่า “แม้ว่าจะมีการบันทึกรายการพิเศษเหล่านี้ แต่ TTA ยังคงมีสถานภาพทางการเงินที่แข็งแกร่งและยังคงมีเงินสดจำนวนมาก ยิ่งไปกว่านั้น หลังจากมีการบันทึกรายการด้อยค่าในสินทรัพย์ไปแล้ว มูลค่าทางบัญชีของกองเรือบรรทุกสินค้าแห้งเทกองของเราก็จะสอดคล้องกับมูลค่าทางการตลาดในปัจจุบัน และจะช่วยให้โทรีเซน ชิปปิ้งอยู่ในสถานะที่จะฟื้นกลับมาทำกำไรได้ดีมากขึ้นกว่าเดิมในปีหน้า ในขณะเดียวกัน ตามแผนการที่เราได้วางไว้ ธุรกิจถ่านหินของเราก็ยังคงมีแนวโน้มที่จะทำผลงานได้ดีขึ้นในปีงบประมาณหน้า”
“กลยุทธ์การลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงของบริษัทฯ กำลังให้ผลตอบแทนที่ดีคืนกลับมายังบริษัท โดยนอกจากจะช่วยให้เราอยู่ในสถานะที่จะมีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นในปีหน้าแล้ว ยังช่วยในเรื่องของการสร้างผลกำไรโดยรวมในระยะยาวในอีกหลายปีข้างหน้าอีกด้วย ถ้าหากดูเฉพาะแค่ปีงบประมาณ 2556 TTA สามารถรายงานผลกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เป็นบวกได้ติดต่อกันสามไตรมาส ก็เป็นเพราะเมอร์เมดพลิกกลับมาทำผลงานที่ดีขึ้น ช่วยบรรเทาผลกระทบจากธุรกิจของโทรีเซน ชิปปิ้งได้ ส่วนการลงทุนในธุรกิจเรือบรรทุกน้ำมันในบริษัท ปิโตรลิฟต์ จำกัด (“ปิโตรลิฟต์”) ก็สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับ TTA ในทุกๆ ไตรมาส ในขณะที่มูลค่าการลงทุนในบริษัท บาคองโค จำกัด ("บาคองโค") ในวันนี้ได้เติบโตสูงขึ้นอีกหลายเท่าตัว จากมูลค่าการลงทุนครั้งแรกที่ 10 ล้านเหรียญสหรัฐ ยิ่งไปกว่านั้น ผลตอบแทนการลงทุนใน บริษัท เอเชีย ออฟชอร์ ดริลลิ่ง จำกัด (“AOD”) จะส่งผลบวกกับผลประกอบการในปีหน้าของเราเป็นอย่างมาก เนื่องจากเรือขุดเจาะ Jack-up rig จะทำงานครบทั้งสามลำ และล่าสุดคือความสำเร็จในการนำเรือวิศวกรรมใต้ทะเลไปบุกตลาดตะวันออกกลางและแอตแลนติกเหนือ ก็จะมีส่วนช่วยให้ผลประกอบการในปีหน้าของเราดีขึ้น แม้ว่าความสำเร็จเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกสะท้อนอยู่ในงบการเงินของเรา แต่สิ่งเหล่านี้ คือ ดัชนีชี้วัดที่สำคัญว่าพอร์ตการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงของเราจะให้ผลตอบแทนที่ดีมากในอนาคต”