กรุงเทพฯ--26 ก.ย.--คอร์ แอนด์ พีค
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์(องค์การมหาชน) เตรียมความพร้อมรองรับ AEC 2015 ผลักดันมาตรฐานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ และนำไปประยุกต์ใช้ในกระบวนการนำเข้า - ส่งออกสินค้าผ่านระบบ National Single Window (NSW) เพื่อการยกระดับคุณภาพการให้บริการของภาครัฐ และเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของภาคเอกชน
สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือสพธอ. เตรียมพร้อม โครงสร้างพื้นฐาน ที่สำคัญต่อการขับเคลื่อน ระบบ National Single Window ซึ่งเป็นระบบกลางสำหรับรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า-ส่งออก และระบบโลจิสติกส์ของประเทศ ความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกด้านศุลกากรด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน(Agreement to Establish and Implement ASEAN Single Window) พร้อมจัดงานสัมมนาเตรียมความพร้อมเพื่อเข้าร่วม AEC 2015 “มาตรฐาน e—Transactions กุญแจสู่ความสำเร็จของภาครัฐและเอกชน” ในวันอังคารที่ 24 กันยายน 2556 เวลา 09.00-16.00 น. ณ ห้องกมลทิพย์ 3 โรงแรมเดอะสุโกศล โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจและส่งเสริมให้มีการนำมาตรฐานธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการนำเข้า — ส่งออกสินค้าผ่านระบบ National Single Window (NSW) ที่สามารถใช้งานได้จริงสำหรับสินค้าทุกประเภทได้อย่างเต็มรูปแบบก่อนการเปิด AEC ในปี พ.ศ.2558
นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ สพธอ. ซึ่งเป็นองค์การภายใต้การกำกับดูแลของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)กล่าวว่า “ตามที่ สพธอ. ได้ดำเนินโครงการพัฒนามาตรฐานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่จำเป็นต่อธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อเตรียมความพร้อมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน 2015 (e-Transactions Standard for ASEAN) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำและส่งเสริมการใช้มาตรฐานที่เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อประโยชน์ใน 3 ด้าน คือการชำระเงิน การนำเข้า-ส่งออก และการสาธารณสุข พร้อมทั้งผลักดันให้มีการประกาศใช้มาตรฐานในระดับประเทศ อันจะนำไปสู่การเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานและการประมวลผลข้อความแบบ Straight Through Processing ซึ่งเป็นการส่งข้อความจากจุดเริ่มต้นไปยังปลายทางได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ทั้งนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุน มาตรฐานการนำเข้า-ส่งออกสพธอ. จึงจัดงานสัมมนาเตรียมความพร้อมเข้าร่วม AEC 2015 “มาตรฐาน e-Transactions กุญแจสู่ความสำเร็จของภาครัฐและเอกชน” โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในด้านการนำเข้า-ส่งออก มาร่วมบรรยายภายในงานสัมมนา นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) มาบรรยายให้ความรู้ในเรื่อง “ Standard Security Law (SSL) โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่อการขับเคลื่อน National Single Window” จากนั้นมีการเสวนาในหัวข้อ “มาตรฐาน e-Transactions โครงสร้างพื้นฐานเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน” ดำเนินการเสวนาโดย นายวรรณวิทย์ อาขุบุตร รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ร่วมด้วย ผู้แทน จากภาคเอกชน ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในช่วงบ่ายได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.สมนึก คีรีโต ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มาบรรยายให้ความรู้ในเรื่องของ “อดีต ปัจจุบัน และอนาคต ของ National Single Window เพื่อไปสู่ ASEAN Single Window”
ช่วงท้ายของงานสัมมนา มีการเสวนาในหัวข้อ "มาตรฐาน e-Transactions เพื่อยกระดับบริการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างรัฐและเอกชนและส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ" ดำเนินการเสวนาโดย ดร.อุรัชฎา เกตุพรหม ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) ร่วมด้วย นายวรรณวิทย์ อาขุบุตร, ผู้แทนจากกรมศุลกากร และผู้แทนจากภาคเอกชน มาแบ่งปันประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน
ปัจจุบัน สพธอ. ได้มีความร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรมศุลกากร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการศึกษาวิเคราะห์รูปแบบการวางแผนธุรกิจ และการพัฒนากลไกและระบบบริหารจัดการ NSW (Business Model) นอกจากนี้ สพธอ. ยังมีบทบาทในการยกร่าง พรฎ. เกี่ยวกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวมทั้งหมดเพื่อรองรับระบบ NSW เพื่อพัฒนาสู่ระบบ ASW และยังเป็นที่ปรึกษา และให้คำแนะนำหน่วยงานต่างๆ ในการใช้งานรหัสมาตรฐานข้อมูลสากลสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านระบบ NSW เพื่ออำนวยความสะดวกในการนำเข้า-ส่งออก อีกด้วย
กรมศุลกากรเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการจัดตั้งระบบ “National Single Window” ซึ่งเป็นระบบกลางสำหรับรองรับการเชื่อมโยงข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้า - ส่งออก และระบบโลจิสติกส์ของประเทศ เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ไตรมาส 4 ของปีพ.ศ. 2554 ปัจจุบันมีบริการหลักๆ ที่พร้อมดำเนินการแล้ว อาทิ ระบบการขอและออกใบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ของกรมอุตสาหกรรมทหาร ระบบเชื่อมโยงข้อมูลใบอนุญาตและใบรับรองระหว่าง 36 ส่วนราชการ, ระบบติดตามสถานะของเอกสารและสินค้า, ระบบเชื่อมโยงข้อมูลธุรกรรมการชำระเงินผ่านเครือข่ายธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น
โดยมี 16 ส่วนราชการที่มีการเชื่อมโยงข้อมูลเป็นทางการแล้วประกอบด้วย กรมศุลกากร กรมการค้าต่างประเทศ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรมโรงงานอุตสาหกรรม กรมปศุสัตว์ กรมสรรพสามิต สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน กรมประมง สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กรมศิลปากร และกรมธุรกิจพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย กรมการอุตสาหกรรมทหาร สำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง กรมการขนส่งทางบก และมีอีก 4 ส่วนราชการอยู่ระหว่างทดสอบการเชื่อมโยงข้อมูล ได้แก่ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและเหมืองแร่ สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ กรมการปกครอง และกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ