กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--กรมบัญชีกลาง
กรมบัญชีกลางรับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะในแง่มุมต่างๆ จากผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุนหมุนเวียน ก่อนนำเสนอคณะรัฐมนตรีประกาศใช้ต่อไป
นายมนัส แจ่มเวหา อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยเกี่ยวกับการประชุมสัมมนาเพื่อรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานของรัฐ เจ้าของทุนหมุนเวียนต่อร่างพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. .... ณ โรงแรมเดอะ เบอร์เคลีย์ โฮเต็ล กรุงเทพฯ ในวันนี้ (25 ก.ย.) ว่า ปัจจุบันทุนหมุนเวียนที่จัดตั้งตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือจัดตั้งโดยกฎหมายเฉพาะ มีจำนวน 110 ทุน ซึ่งมีมูลค่าสินทรัพย์ จำนวน 2.93 ล้านล้านบาท และมีผลการเบิกจ่ายเงินมากกว่า4 แสนล้านบาท ณ สิ้นไตรมาสที่ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ.2556
นายมนัส แจ่มเวหา กล่าวต่อว่า กรมบัญชีกลางในฐานะหน่วยงานกลางที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการดำเนินงานทุนหมุนเวียนให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ตรงตามเจตนารมณ์ในการใช้จ่ายเงินของรัฐเพื่อจัดตั้งทุนหมุนเวียน ซึ่งได้จ้างที่ปรึกษา คือ มูลนิธิสถาบันวิจัยกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้ทำการศึกษา วิเคราะห์ข้อจำกัดของกฎหมายที่ใช้กำกับทุนหมุนเวียนในปัจจุบัน คือ พระราชบัญญัติให้อำนาจกระทรวงการคลังรวมหรือยุบเลิกทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2543 และจัดทำร่างพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. .... ขึ้น เพื่อพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีความเป็นเอกภาพและมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการบูรณาการรูปแบบ ขั้นตอน และวิธีการดำเนินงานตามกฎหมายให้อำนาจกระทรวงการคลังรวมหรือยุบเลิกทุนหมุนเวียนให้มีความชัดเจน โปร่งใส และตรวจสอบได้ และลดข้อจำกัดของการบังคับใช้กฎหมายให้อำนาจกระทรวงการคลังรวมหรือยุบเลิกทุนหมุนเวียน ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วน
ที่เกี่ยวข้อง ประกอบกับเพื่อให้ร่างกฎหมายฉบับนี้ครอบคลุมข้อเสนอแนะในแง่มุมต่างๆ จึงได้เชิญผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานทุนหมุนเวียนเพื่อรับฟังความคิดเห็นในแง่มุมต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินการส่วนที่เกี่ยวข้อง และจะได้นำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
“การกำหนดเกณฑ์มาตรฐานกลางเพื่อให้ทุนหมุนเวียนต่าง ๆ สามารถปฏิบัติตามได้อย่างมีมาตรฐาน มีกรอบวินัยทางการเงินการคลัง ลดความเสี่ยง และเกิดการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส รวมทั้งสร้างความเชื่อถือต่อผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง โดยจะอยู่ภายในกรอบแนวคิดเกี่ยวกับความคล่องตัวในการกำหนดระเบียบตามภารกิจและวัตถุประสงค์ได้เอง มีความคล่องตัวในการใช้จ่ายเงิน มีการกระจายอำนาจในการบริหารจัดการในลักษณะของคณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียน และเป็นส่วนเสริมการปฏิบัติงานของภาครัฐนอกเหนือจากการใช้จ่ายเงินภายใต้งบประมาณปกติ” นายมนัสกล่าว