ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและแนวโน้ม “กรุงเทพมหานคร” ที่ “AA+/Stable”

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 27, 2013 17:35 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ก.ย.--ทริสเรทติ้ง ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรของกรุงเทพมหานครที่ระดับ “AA+” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานภาพของเขตกรุงเทพมหานครในฐานะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ในการพิจารณาอันดับเครดิตยังคำนึงถึงแหล่งรายได้ที่แน่นอนจากภาษีอากร รวมทั้งการบริหารงบประมาณภายใต้นโยบายงบประมาณแบบสมดุล และฐานะการเงินที่แข็งแกร่งจากการมีภาระหนี้สินที่ต่ำและการดำรงเงินสะสมในระดับสูงด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยสนับสนุนดังกล่าวลดทอนลงจากความต้องการในการลงทุนเป็นอย่างมากในโครงการด้านสาธารณูปโภคและระบบขนส่งมวลชน ตลอดจนภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้นจากการดำเนินงานของกรุงเทพมหานครเองและภารกิจที่รับโอนจากรัฐบาล ในขณะที่กรุงเทพมหานครมีข้อจำกัดในการจัดหาแหล่งรายได้เพิ่ม นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่จะต้องติดตามความคืบหน้าด้วยเช่นกัน เช่น การนำเสนองบการเงินที่ผ่านการตรวจสอบภายในกรอบเวลาที่เหมาะสม การบริหารจัดการหนี้สินและการลงทุนให้มีความสอดคล้องกับระดับรายได้ และการพัฒนากรอบวินัยในการบริหารหนี้ให้เป็นรูปธรรม ในขณะที่แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการมีแหล่งรายได้ที่แน่นอนและนโยบายการบริหารงบประมาณแบบสมดุลของกรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่ากรุงเทพมหานครจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางอย่างต่อเนื่องตลอดไป อีกทั้งภาระผูกพันจากการลงทุนและการก่อหนี้ในอนาคต รวมถึงภาระหนี้ของบริษัทย่อยควรได้รับการศึกษาและวางแผนอย่างรอบคอบให้เหมาะสมกับระดับรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของกรุงเทพมหานครด้วยเช่นกัน กรุงเทพมหานครมีฐานะเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งมีหน้าที่บริหารราชการและบริหารจัดการกิจการสาธารณูปโภคเพื่อให้บริการแก่ผู้อยู่อาศัยและผู้ประกอบกิจการในเขตกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมของประเทศ ในปี 2554 กรุงเทพมหานครมีผลิตภัณฑ์มวลรวมรายจังหวัด (Gross Provincial Product — GPP) สูงที่สุดในประเทศ ด้วยมูลค่า 3.33 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 31.6% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (Gross Domestic Product — GDP) ในด้านการเงินการคลังนั้น กรุงเทพมหานครมีรายได้หลักมาจากภาษีอากร โดยเป็นภาษีอากรที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเองและส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้ ทั้งนี้ ภาษีอากรนับว่าเป็นแหล่งรายได้ที่มีความแน่นอนสูงแม้จะมีความผันผวนอยู่บ้างตามภาวะเศรษฐกิจและนโยบายรัฐบาลกลาง ในปีงบประมาณ 2555 เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้กรุงเทพมหานครจัดเก็บรายได้จำนวน 59,549 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 4% จากปีงบประมาณที่ผ่านมา สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2556 นั้น กรุงเทพมหานครจัดเก็บภาษีรายได้จำนวน 44,481 ล้านบาท ซึ่งปรับตัวเพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา หรือคิดเป็น 74% ของงบประมาณรายได้ ในปีงบประมาณ 2555 รายได้ภาษีอากรที่กรุงเทพมหานครจัดเก็บเองคิดเป็น 18% ของรายได้ทั้งหมดซึ่ง 90% มาจากภาษีโรงเรือนและที่ดิน ในขณะที่ภาษีที่ส่วนราชการอื่นจัดเก็บให้คิดเป็น 77% ของรายได้ทั้งหมด โดยสัดส่วนที่มาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีหรือค่าธรรมเนียมรถยนต์ และภาษีหรือค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมคิดเป็นประมาณ 47% 24% และ 17% ตามลำดับ ในขณะที่ในปีงบประมาณ 2555 กรุงเทพมหานครมีค่าใช้จ่ายรวม 67,588 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23% จากปีที่ผ่านมา เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีรายจ่ายเพิ่มเติมในการลงทุนปรับปรุงระบบระบายน้ำเพื่อป้องกันอุทกภัย ดังนั้น จึงส่งผลให้เงินสะสมของกรุงเทพมหานครลดลงจาก 20,144 ล้านบาท ณ สิ้นปีงบประมาณ 2554 เป็น 14,187 ล้านบาท ณ สิ้นปีงบประมาณ 2555 เพื่อชดเชยการขาดดุล กรุงเทพมหานครมีค่าใช้จ่ายดำเนินการคิดเป็นสัดส่วน 73% ของรายจ่ายรวมทั้งหมดในปีงบประมาณ 2555 โดยส่วนที่เหลือเป็นงบลงทุน ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายดำเนินการของกรุงเทพมหานครอยู่ที่ระดับ 49,463 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% จากปีที่ผ่านมาซึ่งจะทำให้ความสามารถในการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคอื่น ๆ ของกรุงเทพมหานครลดลง ภาระหนี้ของกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 2,490 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2553 เป็น 7,298 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2554 และ 8,768 ล้านบาทในปีงบประมาณ 2555 โดยภาระหนี้สินส่วนใหญ่ของกรุงเทพมหานครมาจากภาระการกู้เงินของบริษัทลูกคือ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เพื่อใช้ในการลงทุนก่อสร้างโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครส่วนต่อขยายสีลม (ตากสิน-เพชรเกษม) และภาระผูกพันจากสัญญาที่กรุงเทพมหานครได้ว่าจ้างให้บริษัทกรุงเทพธนาคมเป็นผู้รับจ้าง จัดหา และให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครระยะเวลา 30 ปี และบริษัทกรุงเทพธนาคมได้ว่าจ้าง บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) เป็นผู้ดำเนินการแทน โดยทริสเรทติ้งรวมมูลค่าปัจจุบันของค่าจัดหาขบวนรถไฟฟ้าให้เป็นภาระหนี้ ทั้งนี้ สัญญาดังกล่าวทำให้กรุงเทพมหานครมีภาระรายจ่ายผูกพันล่วงหน้าเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้อัตราส่วนภาระรายจ่ายผูกพันล่วงหน้ารวมภาระในการชำระหนี้ต่อรายได้ของกรุงเทพมหานครจะอยู่ที่ระดับประมาณ 3.7% ในปีงบประมาณ 2556 เมื่อเทียบกับระดับ 1.6% ในปีงบประมาณ 2555 อีกทั้งกรุงเทพมหานครก็ไม่ได้มีบันทึกรายได้และรายจ่ายทั้งหมดจากโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครในผลการดำเนินงานด้านการคลังของกรุงเทพมหานครซึ่งจะส่งผลให้กรุงเทพมหานครมีการบันทึกรายได้และรายจ่ายในอนาคตที่ต่ำกว่าระดับความเป็นจริง กรุงเทพมหานครมีนโยบายในการพัฒนาสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานอย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับการเติบโตของภาคเศรษฐกิจและการลงทุนในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของประเทศ ทำให้กรุงเทพมหานครมีความต้องการเงินลงทุนจำนวนมาก ถึงแม้กรุงเทพมหานครจะได้รับเงินอุดหนุนรายปีจากรัฐบาลเพื่อสนับสนุนการพัฒนาโครงการต่าง ๆ แต่เงินอุดหนุนที่ได้รับจะต้องใช้ตามโครงการที่กำหนดไว้และมีจำนวนไม่เพียงพอ กรุงเทพมหานครจึงได้พิจารณาหาแหล่งเงินทุนอื่นเพื่อใช้ในการลงทุน เช่น การว่าจ้างบริษัทกรุงเทพธนาคมในการบริหารโครงการพร้อมจัดหาเงินลงทุน อีกทั้งยังได้ศึกษาการจัดเก็บภาษีชนิดใหม่หรือการเพิ่มอัตราภาษีบางประเภท เป็นต้น อย่างไรก็ตาม การจัดเก็บภาษีเพิ่มเติมเป็นประเด็นที่มีความอ่อนไหวเพราะมีขั้นตอนที่ซับซ้อนและใช้เวลาในการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี รวมทั้งยังส่งผลกระทบต่อความนิยมจากผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทริสเรทติ้งคาดว่ากรุงเทพมหานครจะพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบโดยไม่ก่อให้เกิดผลกระทบในทางลบทั้งในด้านกฎหมายและในด้านการเงินอย่างมีนัยสำคัญ กรุงเทพมหานคร (BMA) อันดับเครดิตองค์กร: AA+ แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ