กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--นานมี
จิตรกรรมไทย เป็นศิลปะที่คนไทยคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี ด้วยว่าสามารถหาดูได้ตามผนังโบสถ์ของวัดวาอาราม ตลอดจนสถานที่สำคัญๆในอดีต จิตรกรรมไทยนั้นมีลักษณะเป็นแบบอย่างของไทย ซึ่งแตกต่างและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นวิจิตรศิลป์อันสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมประเพณี และชีวิตความเป็นอยู่ และที่ปรากฏเด่นชัดคือสะท้อนเรื่องราวและความผูกพันเหนียวแน่นที่คนไทยมีต่อพระพุทธศาสนา วิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล รัตนโกสินทร์ จึงได้ร่วมกับ บริษัท นานมี จำกัด จัดการประกวดผลงานจิตรกรรมไทยในหัวข้อ “พุทธานุภาพแห่งองค์พระศาสดา”
นายมงคล ไชยวงศ์ ผู้อำนวยการวิทยาลัยเพาะช่าง มทร.รัตนโกสินทร์ เล่าว่า ผลงานจิตรกรรมไทยในหัวข้อ “พุทธานุภาพแห่งองค์พระศาสดา” เนื่องจากในปี 2556 นี้เป็นปีมหามงคลที่ยิ่งใหญ่สำหรับพระพุทธศาสนา เป็นปีที่ครบรอบ 2,600 ปีแห่งการอุบัติขึ้นของพระพุทธศาสนา และยังเป็นโอกาสอันดีที่ปีนี้ โรงเรียนเพาะช่าง หรือวิทยาลัยเพาะช่าง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ในปัจจุบัน มีอายุครบ 100 ปี ทางสาขาวิชาจิตรกรรมไทยได้เล็งเห็นความสำคัญของสถาบันการศึกษาศิลปะแห่งแรกของประเทศไทย ที่ดำเนินการบ่มเพาะบุคคลากรด้านศิลปะการช่างมาอย่างยาวนาน จึงเห็นควรจัดกิจกรรม เพื่อเป็นการประกาศเกียรติคุณแก่สถาบัน รวมถึงสร้างความภาคภูมิใจให้แก่บุคลากรในองค์กร ศิษย์เก่า ศิษย์ปัจจุบัน และบุคคลผู้เกี่ยวข้องต่างๆ ซึ่งมีความรักและผูกพันกับสถาบันการศึกษาศิลปะแห่งนี้
การประกวดครั้งนี้จึงเป็นการแข่งขันทักษะด้านศิลปะ “จิตรกรรมไทยแบบประเพณี” เพื่อสนับสนุนให้กำลังใจผู้มีความมุ่งมั่น ศึกษา สร้างสรรค์งานจิตรกรรมไทยแบบประเพณีที่มีแนวคิดและทักษะการแสดงออกที่ประสานกัน ให้ได้ผลงานที่มีคุณค่าและคุณภาพ และยังเป็นการสร้างเครือข่ายในการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ประสบการณ์ในหมู่ผู้ศึกษาหรือสนใจงานศิลปกรรมของชาติ และเป็นการทำนุบำรุงมรดกทางศิลปวัฒนธรรมไทยให้ยั่งยืนวัฒนาสืบไป โดยได้แบ่งการประกวดจะแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่ ระดับเยาวชนอายุไม่เกิน 17 ปี , ระดับเยาวชนอายุ 18- 25 ปี และสำหรับประชาชนทั่วไป เป็นการประกวดสร้างสรรค์ผลงานสดๆ มีกำหนดเวลาในการสร้างสรรค์ผลงานเพียง 5 ชั่วโมง ซึ่งถือเป็นงานที่ยากและท้าทายความสามารถของผู้เข้าแข่งขันยิ่ง
ปรีญาณี สุพุทธิพงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมี จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ร่วมสนับสนุนกิจกรรมในครั้งนี้เนื่องจากเห็นว่า ในปัจจุบันวัยรุ่นและเด็กรุ่นใหม่ห่างเหินในพุทธศาสนา เนื่องจากวิถีชีวิตและไลฟ์สไตล์ของเด็กรุ่นใหม่ไม่ได้ผูกพันและใกล้ชิดกับวัดและธรรมะ ดังนั้นสิ่งหนึ่งที่จะเชื่อมโยงคนรุ่นปัจจุบันให้เข้ากับศาสนาได้ นั่นคือ “ศิลปะ” โดยเฉพาะจิตรกรรมไทย ซึ่งปัจจุบันนี้คนรุ่นใหม่ทำงานจิตรกรรมไทยได้ไม่มากนัก เนื่องจากมีความยากและเป็นงานละเอียดอ่อน การจัดการประกวดครั้งนี้นอกจากจะทำให้ได้ฝึกฝนฝึกปรือฝีมือแล้ว น่าดีใจที่ทำให้คนรุ่นใหม่หันมาศึกษาข้อมูล อ่านพุทธประวัติกันมากขึ้น ทำให้ได้ข้อคิดและคำสอนที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข
นายชัยพร ทองเกตุ จากโรงเรียนวัดไร่ขิงวิทยา จ. นครปฐม ผู้ชนะในรุ่นเยาวชนอายุไม่เกิน 17 ปี เล่าว่า พุทธศาสนิกชนไทยที่ได้อ่านและศึกษาพระพุทธศาสนา ย่อมรู้ดีว่าพระพุทธเจ้าทรงปราบมารได้หลายครั้ง ด้วยบุญบารมีและความดีงามสามารถเอาชนะเหนือความชั่วร้ายทั้งปวง โดยในผลงานใช้ภาพของสัตว์ร้ายและศาสตรวุธต่างๆที่เปรียบเสมือนความเลวทราม เมื่อพุ่งตรงมายังพระองค์ท่าน จะกลายเป็นดอกบัวที่สวยงาม เพื่อสื่อถึงการที่ความชั่วต้องพ่ายแพ้ต่อความดีนั่นเอง แสดงถึง“พุทธานุภาพแห่งองค์พระศาสดา” สำหรับความโดดเด่นของผลงานคิดว่าอยู่ที่การนำเสนอเรื่องราวที่เข้าใจง่าย โดยตัวเองต้องการให้สื่อสารกับผู้ชมผลงานได้ตรงประเด็น และสามารถนำคำสอนในพุทธศาสนาไปปรับใช้กับชีวิตตนเอง ส่วนด้านองค์ประกอบของสี เน้นการใช้สีในโทนหนัก แสดงให้เห็นถึงพลัง และความชัดเจนของเรื่องราว
ด้านนายณัฐพงศ์ ขุนสนธิ จากวิทยาลัยเพาะช่าง ผู้ชนะในรุ่นเยาวชนอายุ 28-20 ปี กล่าวว่า ได้เลือกเอาพุทธประวัติ ตอน โปรดช้างนาฬาคิรี ซึ่งพุทธศาสนิกชนไทยคุ้นเคยเป็นอย่างดี ก่อนจะตัดสินใจวาด ได้ไปศึกษาหาข้อมูลในห้องสมุดอย่างลึกซึ้ง โดยมีเนื้อหาดังนี้ พระเทวทัตได้ติดสินบนแก่ควาญช้างเพื่อมอมเหล้าพญาช้างนาฬาคิรีจนเกิดความคลุ้มคลั่ง แล้วปล่อยให้ไปทำร้ายพระพุทธองค์ ขณะที่พญาช้างส่งเสียงกึกก้องโกญจนาทวิ่งตรงเข้าหาพระพุทธองค์นั้น พระพุทธองค์จึงทรงใช้พุทธปาฏิหาริย์บันดาลให้พญาช้างวิ่งไปทางอื่น แล้วทรงแผ่เมตตาจนช้างได้สติทรุดกายลงยกงวงขึ้นถวายอภิวาท พระพุทธองค์ทรงประทานโอวาทแก่พญาช้างให้หยุดกระทำปาณาติบาต ละเลิกความโกรธ ไม่คิดเบียดเบียนอีกต่อไป โดยส่วนตัวประทับใจในพุทธานุภาพของพระพุทธเจ้าในตอนนี้มาก เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงพลังแห่งคุณงามความดีที่เอาชนะได้แม้แต่ความโกรธและขาดสติ สำหรับภาพผลงานมีความยากตรงการถ่ายทอดภาพของพระพุทธเจ้า ซึ่งต้องมีความเมตตา ขณะเดียวกันก็มีพลังและพุทธานุภาพที่เปล่งรัศมีของความศรัทธาในความดีงาม
นายสิทธิโชค เต็มสวัสดิ์ นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยศิลปากร คว้ารางวัลชนะเลิศในรุ่นประชาชนทั่วไป บอกว่า เมื่อพูดถึงพุทธานุภาพ สำหรับตนเองถึงถึงแสงสว่าง อันหมายถึงความสว่างแห่งปัญญา อันเป็นหนทางให้พูดดี คิดดี ทำดี ให้ชีวิตมีแต่สิ่งดีงาม รู้จักคิดและมีสติไม่อยู่ภายใต้ความมืดบอด จึงได้ถ่ายทอดเรื่องราวของแสงแห่งคุณธรรมของพระพุทธเจ้าผ่านผลงานศิลปะ เป็นเรื่องราวของพระพุทธเจ้าที่ทรงมีเมตตาและประทานคำสอนแก่ทุกสรรพสิ่ง ทั้งเทวดา พระสงฆ์ และพุทธศาสนิกชนทั่วไป โดยเน้นการใช้สีที่โดดเด่น เป็นเทคนิคสีอะคลีลิคและการใช้ทองคำเปลวเพื่อสร้างความรู้สึกให้ผู้ชมเกิดศรัทธาแห่งปัญญา ส่วนตัวคิดว่าปาฏิหาริย์ที่พระพุทธเจ้าแสดงเพื่อปราบมาร ได้ฝังรากลึกแห่งศรัทธาให้พุทธศาสนิกชนได้นำเอาแสงธรรมและอานุภาพแห่งปัญญามาประพฤติปฏิบัติได้ในทุกยุคสมัย
โลกเราทุกวันนี้หมุนเร็วด้วยกระแสของวัตถุและการแข่งขัน จึงเป็นโอกาสดีที่เด็กรุ่นใหม่จะได้เรียนรู้ความสุขสงบซึ่งเป็นแก่นแท้ของชีวิต ผ่านงานศิลปะที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนา