กรุงเทพฯ--30 ก.ย.--ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์
“นเรศ ดำรงชัย” ได้รับการเสนอชื่อเป็นประธานร่วมเอเปก เจ้าตัวเผยเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะคงบทบาทต่อรองและสร้างเครือข่ายในระดับนานาชาติ
เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (TCELS) ในฐานะผู้แทนประเทศไทยเข้าร่วมประชุม 3rd APEC High Level Meeting on Health and the Economy จัดขึ้นที่ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีรัฐมนตรีทางด้านสาธารณสุขและผู้แทนจากเขตเศรษฐกิจเอเปคเข้าร่วมเกือบทุกประเทศ โดยในการประชุมนี้มีการส่งมอบตำแหน่งประธาน APEC LSIF (Life Science Innovation Forum) ของนายสุวิทย์ คุณกิตติ ที่ครองตำแหน่งมาอย่างยาวนานถึง 10 ปี ให้กับ นายเอนริเกซ์ โอน่า รัฐมนตรีสาธารณสุขของฟิลิปปินส์ และมีการเสนอชื่อ นายนเรศ ดำรงชัย ขึ้นดำรงตำแหน่ง ประธานร่วม APEC LSIF ฝ่ายรัฐบาล โดยมี ศาสตราจารย์ปีเตอร์ ชีน ประธานร่วมฝ่ายสถาบันการศึกษาจากประเทศออสเตรเลีย และ ดร.ฟิครี ไอแสค ประธานฝ่ายเอกชน จากบริษัทจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน
ผอ.TCELS กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ได้มีโอกาสในการสร้างเครือข่ายความสำคัญกับผู้แทนระดับสูงจากหลาย ๆ ประเทศ โดยที่ประชุมเน้นความสำคัญถึงความสามารถในการดูแลสุขภาพของประชาชนอย่างมีคุณภาพ รวมทั้งการแก้ปัญหาสุขภาพ ซึ่งจะเป็นปัจจัยในการเติบโตและพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ยังได้หารือร่วมกันถึงการจัดลำดับความสำคัญของประเด็นสุขภาพอนามัยเพื่อปรับปรุงการนวัตกรรมในการดูแลสุขภาพให้เป็นไปอย่างยั่งยืน
ดร.นเรศ กล่าวว่า ที่ประชุมแสดงความเป็นห่วงโรคที่แพร่หลายในประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจเอเปก มีการใช้จ่ายเงินเพื่อสุขภาพและระบบประกันสุขภาพมากขึ้น ตามความเจ็บป่วยและการตายด้วยโรคไม่ติดต่อและโรคติดต่อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องรวมทั้งโรคติดเชื้ออุบัติใหม่ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อการลงทุนในด้านนี้ ขณะเดียวกันประเทศในกลุ่มเขตเศรษฐกิจเอเปกได้ให้คำมั่นที่จะให้ประชาชนเข้าถึงหลักประกันคุณภาพถ้วนหน้า เนื่องจากมีปัจจัยหลายอย่างเอื้ออำนวย ทั้งแหล่งเงินทุน ความสามารถของระบบประกันสุขภาพในการรองรับและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและการให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการดูแลรักษาสุขภาพและการป้องกันโรคการเข้าถึงบริการและผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์อย่างปลอดภัย มีคุณภาพและประสิทธิภาพ ตลอดจนการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเน้นความโปร่งใส และการกำกับการดูแลที่ดี
ดร.นเรศ กล่าวว่า ในฐานะที่ TCELS เป็นผู้ประสานงานหลักของ APEC LSIF มาอย่างต่อเนื่อง มองว่าเป็นโอกาสอันดีที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมกับกลุ่มที่มีอิทธิพลในการกำหนดบทบาทของAPEC LSIF ต่อไปข้างหน้า เพื่อรักษาอำนาจต่อรองของไทยในเวทีโลกและสร้างแนวร่วมพัฒนาอุตสาหกรรมชีววิทยาศาสตร์ของไทยต่อไป
ติดต่อ:
www.tcels.or.th, www.tcels.or.th/tcels, 02-6445499