กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--กรีนพีซ
ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติเป็นรากฐานสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศให้เข้มแข็ง ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน สร้างความมั่นคงทางอาหารและการพึ่งพาตนเอง ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกล้วนให้ความสำคัญและใช้เป็นดัชนีชี้วัดความยั่งยืนความสุขของประชาชน และความมั่งคั่งของประเทศนั้นๆ ดังนั้นนโยบายภาครัฐในการปกป้องสิ่งแวดล้อมต้องมีความสำคัญเท่าเทียมกับนโยบายด้านเศรษฐกิจและสังคม หรือกล่าวได้ว่าเป็นการพัฒนาอย่างมีสมดุล
ตลอดสองปีที่ผ่านมา กรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ติดตามการดำเนินนโยบายด้านการปกป้องสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลภายใต้การบริหารงานของนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นที่ประจักษ์ว่ารัฐบาลมิได้ให้ความสำคัญต่อนโยบายสิ่งแวดล้อมที่เขียนไว้สวยหรูอยู่บนกระดาษ ทั้งไม่ปรากฏอยู่ในนโยบายปฏิบัติเร่งด่วนที่ให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหาและปกป้องรักษา ไม่มีการให้ความสำคัญในการสานต่อกฎหมายหรือปรับปรุงกฎหมายสิ่งแวดล้อมที่มีความจำเป็น ซ้ำร้ายรัฐบาลกลับมีการดำเนินนโยบายที่เร่งให้เกิดการทำลายหรือเปิดทางเสี่ยงต่อการทำลายความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือโครงการบริหารจัดการน้ำวงเงิน 3.5 แสนล้าน ที่ภาคประชาสังคมได้ตั้งข้อห่วงใยกังวลถึงความโปร่งใส การขาดมีส่วนร่วมและเป็นการใช้จ่ายงบประมาณที่มิใช่เป็นการแก้ไขหรือบรรเทาปัญหา กลับแต่จะสร้างปัญหาขึ้นใหม่ที่มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้้นมีผลกระทบรุนแรงอย่างต่อเนื่องทั้งในเชิงกายภาพ สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตชุมชนที่ยากจะแก้ไขได้ต่อไป นอกจากนี้ยังมีโครงการที่จะเกิดขึ้นจากเงินกู้อีก 2.2 ล้านล้านบาทเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งหากไม่มีการพิจารณาอย่างรอบคอบแล้ว ก็จะเป็นการลงทุนโดยใช้เงินภาษีของประชาชนที่ห่างไกลจากความคุ้มค่าและยังมีแนวโน้มความเสี่ยงให้เกิดผลกระทบด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง
นอกจากนี้ รัฐบาลยังไม่แสดงเจตจำนงอันมุ่งมั่นที่จะพิสูจน์หรือทำให้เกิดความโปร่งใสในขั้นตอนการพิจารณาและจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสําหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ (EHIA) ซึ่งพบว่าหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็นโครงการของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ หรือโครงการร่วมกับเอกชน หรือของเอกชนนั้น อาทิ โครงการเขื่อนแม่วงก์ กรณีโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน โครงการท่าเรือน้ำลึก โครงการขุดเจาะและสำรวจปิโตรเลียม โครงการคมนาคมที่ตัดผ่านพื้นที่ป่า โครงการเหมืองแร่ต่างๆ เป็นต้น ล้วนแต่มีเงื่อนงำ มีข้อสงสัยถึงความโปร่งใสด้านผลประโยชน์ทับซ้อน นำเสนอไม่ครบถ้วนในกระบวนการจัดทำและขั้นตอนการพิจารณา และไม่เปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้สาธารณชนได้รับทราบ โดยเพียงมุ่งประสงค์ที่จะทําตามแนวทางที่ตั้งเป้าไว้ แต่มิได้นําความเห็นหลากหลายภาคส่วนที่ท้วงติงมาประกอบการพิจารณาการดําเนินการแต่อย่างใด
กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในฐานะองค์กรภาคประชาสังคมที่ทำงานรณรงค์ปกป้องสิ่งแวดล้อมในประเทศไทยเห็นว่าการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนพร้อมไปกับการปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลเป็นหนทางเดียวที่จะช่วยลดการสูญเสียฐานทรัพยากร ธรรมชาติที่เหลืออยู่น้อยเต็มที่และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนอย่างรุนแรง ดังนั้น กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขอเรียกร้องรัฐบาลดังต่อไปนี้
1. ปฏิรูปกระบวนการจัดทำและพิจารณา EHIA ให้มีความโปร่งใส มีการรับฟังความคิดเห็นที่ครบถ้วน ให้ความสำคัญกับข้อมูลรอบด้าน โดยควรใช้ประโยชน์จาก EHIA ให้เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ พิจารณาและป้องกันผลกระทบที่มีประสิทธิภาพ แทนที่นำมาเป็นเพียงตรายางอนุมัติโครงการตามประสงค์ของเจ้าของโครงการที่ตั้งเป้าไว้ ดังเช่นพฤติกรรมที่เกิดกับโครงการของภาครัฐหรือโครงการที่คนในรัฐบาลมีผลประโยชน์ทับซ้อน
2. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางเลือกที่ไม่เป็นการทำลายความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ความมั่นคงทางอาหาร และวิถีชีวิตชุมชน
3. ยุติโครงการหรือนโยบายที่จะก่อให้เกิดความเสียหายต่อผืนป่าตะวันตกที่รัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการในปัจจุบัน เช่น โครงการเขื่อนแม่วงก์ โครงการตัดถนน "คลองลาน-อุ้มผาง" และโครงการเหมืองแร่ตะกั่ว ซึ่งจะเป็นการทำลายและเปิดโอกาสไปสู่การทำลายผืนป่าเป็นบริเวณกว้างขึ้นและส่งผลกระทบลูกโซ่ โดยผืนป่าตะวันตกเป็นผืนป่าระดับโลกและหนึ่งเดียวของไทยที่ยังคงความอุดมสมบูรณ์ ความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นแหล่งต้นน้ำและเป็นฐานทรัพยาสำคัญที่สร้างความมั่นคงให้กับประเทศ
4. ยุติการจัดทำและพิจารณา EHIA ที่ไม่โปร่งใสในโครงการเขื่อนแม่วงก์ โครงการท่าเรือน้ำลึกปากบารา โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราชและในพื้นจังหวัดกระบี่ (โดยกฟผ) โครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือสนับสนุนการปฏิบัติงานสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย อ.ท่าศาลา (โดยบริษัทเชพรอน) และโครงการเหมืองแร่ทองคำจังหวัดเลย (โดยบริษัททุ่งคำ) ซึ่งล้วนจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นฐานทรัพยากรในการใช้ชีวิตของชุมชนจำนวนมากและเป็นพื้นที่ผลิตอาหารที่สำคัญของประเทศ
ป่าไม้ แหล่งน้ำและแหล่งอาหารมิได้มีไว้แค่ความสวยงามหรือจะสามารถหาใหม่ทดแทนได้ แต่เป็นฐานทรัพยากรที่สำคัญต่อปากท้องและวิถีชีวิตของคนทั้งประเทศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้หวังว่ารัฐบาลจะรับพิจารณาข้อเรียกร้องและมีเจตจำนงแน่วแน่ในการปกป้องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมเพื่อประโยชน์ของคนไทยในปัจจุบันและอนาคตรุ่นลูกรุ่นหลาน