กรุงเทพฯ--1 ต.ค.--ทีมงานประชาสัมพันธ์ ICAAP11
การประชุมสมัชชานานาชาติเรื่องเอดส์ ในเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 11 (11th International Congress on AIDS in Asia and the Pacific : ICAAP11) มีกำหนดจัดขึ้นในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 18-22 พฤศจิกายน 2556 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีบุคคลสำคัญระดับผู้นำทั่วเอเชียและแปซิฟิกทั่วโลกพร้อมผู้แทนจากชุมชนกลุ่มต่างๆ และผู้เชี่ยวชาญหลายพันคนเข้าร่วมประชุม วัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นการรวมพลังของทุกภาคส่วนในการคิดค้นนวัตกรรมสร้างสรรค์มุ่งมั่นขับเคลื่อนตอบสนองต่อเป้าหมายในการป้องกันและแก้ปัญหาเอชไอวี/เอดส์ในภูมิภาคอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน เน้นแนวความคิด หรือ ธีม ของการประชุมครั้งนี้คือ ‘เอเชียและแปซิฟิก: เอดส์ ลดให้เหลือศูนย์ได้ ด้วยการลงทุนในนวัตกรรม’ (Theme: Asia/Pacific Reaching Triple Zero: Investing in Innovation) มุ่งมั่นที่จะทำให้เกิด 3 ศูนย์ (มุ่งสู่เป้าหมายเดียวกันกับสหประชาชาติ) คือ 1. ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 2. ไม่มีผู้ที่เสียชีวิตจากเอดส์ 3. ไม่มีการตีตราและเลือกปฏิบัติ
องค์กรเจ้าภาพของการประชุม ICAAP11 คือ สมาคมพัฒนาประชากรและชุมชน และเจ้าภาพร่วม คือ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมทั้งองค์กรสหประชาชาติด้านเอดส์ (UNAIDS) และสมาคมเอดส์แห่งเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งมีความมุ่งมั่นที่จะให้การจัดงานครั้งนี้ประสบความสำเร็จในทุกรูปแบบ โดยการประชุม ICAAP11 ในครั้งนี้จะมีนวัตกรรม 11 ด้าน ที่สามารถเป็นแบบอย่างเป็นแรงบันดาลใจในการจัดงานครั้งต่อๆไปได้ ตัวอย่าง นวัตกรรมของการจัดประชุม อาทิ กิจกรรมสื่อประชาสัมพันธ์ร่วมกันระหว่างประเทศ กิจกรรมนักข่าวอาสาสมัคร เป้นต้น
การประชุมคองเกรสระดับนานาชาตินี้ได้มีการวางแผนเตรียมงาน เกือบ 2 ปี หลังจากที่ประเทศไทยได้รับคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ เนื้อหาของการประชุมครั้งใหญ่นี้ ประกอบด้วย 4 โปรแกรมหลัก ได้แก่ โปรแกรมด้านภาวะผู้นำ (Leadership Program) ด้านวิชาการ (Scientific Program) ด้านชุมชน (Community Program) และด้านเยาวชน (Youth Program) ในการประชุมจะมีการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และบทเรียนประสบการณ์ของชุมชน เสนอวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ นโยบาย โครงการและผลงานวิจัยนวัตกรรมทางเทคโนโลยีบวกความคิดสร้างสรรค์ในการปรับปรุงวิธีการในการรณรงค์ป้องกันและแก้ปัญหาเอชไอวี/เอดส์ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว รวมทั้งการรวบรวมหลักปฏิบัติที่ดี การถอดบทเรียนและการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ เพื่อประโยชน์ของทั้งภูมิภาคและชาวโลก
งานการประชุมครั้งนี้จะเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนและสื่อมวลชนตระหนักและให้ความสำคัญกับผลกระทบจากปัญหาเอชไอวี/เอดส์ จะเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและชุมชน ร่วมกันหาคำตอบว่าแนวทาง การลงทุนในนวัตกรรม เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์ที่หลุดจากกรอบเดิมๆ นั้นมีอะไรบ้าง มุ่งเน้นการแก้ปัญหาเอดส์ที่สามารถนำมาสู่การปฏิบัติเป็นรูปธรรมจริงในแต่ละประเทศ ค้นหาโมเดลที่จะเหมาะกับทั้งภูมิภาคและทั้งโลก รวมทั้งมีการกำหนดทิศทางนโยบายและกิจกรรมที่เกี่ยวของกับเรื่อง การรณรงค์ป้องกันเอชไอวีและเอดส์ต่อไปในอนาคต
นายมีชัย วีระไวทยะ ที่ปรึกษาคณะกรรมการดำเนินการจัดประชุมฯ กล่าวว่า “การประชุม ICAAP เป็นการประชุมเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์ที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และ เป็นอันดับสองของโลกรองจากการประชุมโรคเอดส์นานาชาติ (International AIDS Conference) เป็นความภาคภูมิใจของประเทศไทย ที่ได้รับเกียรติคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม ICAAP ครั้งที่ 11 นี้ โดยมีผู้นำองค์กรและชุมชนระดับชาติ ภูมิภาค และ ระดับโลก ด้านเอชไอวี/เอดส์ ให้การสนับสนุนและเข้าร่วมงาน รวมทั้ง นักวิชาการ นักวิจัย แพทย์ ผู้ให้บริการด้านสุขภาพ ผู้นำทั้งภาคการเมืองและระดับรากหญ้า พนักงานภาครัฐ นักปกครอง ผู้ติดเชื้อเอชไอวี และ ที่สำคัญที่สุดคือเยาวชนของชาติ ซึ่งเก่งน่าชื่นชมมากในการช่วยรณรงค์เรื่อง เอชไอวี/เอดส์ ในขณะที่มีเด็กดีเด็กเก่งจำนวนมาก แต่สถิติการติดเชื้อเอชไอวีในเยาวชนก็มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ เวทีการประชุมนี้จึงเป็นโอกาสดีในการแลกเปลี่ยนแนวความคิดสร้างสรรค์ในการรณรงค์ที่ได้ผลจากแต่ละประเทศในเอเชียแปซิฟิกและทั่วโลก ผู้เข้าประชุมจะได้รับประโยชน์คุ้มทุนมากมายหลายเท่า”
“เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ประเทศไทยประสบภาวะ การแพร่ระบาดของ เอชไอวี อย่างรุนแรงในวงกว้าง เราโขคดีที่สามารถรณรงค์ได้ทันเหตุการณ์ และล้ำหน้าชาวโลกด้วยความคิดสร้างสรรค์ในการรณรงค์ที่มีประสิทธิภาพ ด้วยความร่วมมือจากภาครัฐทุกหน่วยเหล่าทั้งทหาร พลเรือน รวมทั้งภาคประชาสังคม บริษัทเอกชน อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง ทั้งเชิงลึกและเชิงกว้าง จนในที่สุดประสบความสำเร็จในการลดผู้ติดเชื้อ เอชไอวี ใหม่ได้ถึง 90% ตามข้อมูลของยูเอ็นเอดส์ ในขณะเดียวกันธนาคารโลกก็ได้บันทึกสถิติไว้ว่าในรอบนั้นสามารถช่วยชีวิตประชากรไม่ให้ติดเชื้อ เอชไอวี ได้ถึง 7.7 ล้านคน ดังนั้น การรณรงค์ยังต้องมีอยู่ต่อไปอย่างต่อเนื่อง และต้องสามารถพิชิตภารกิจอันยิ่งใหญ่ตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ให้ได้เร็วที่สุด เพื่ออนาคตของประเทศชาติและชาวโลก” นายมีชัย กล่าวเพิ่มเติม
การประชุม ICAAP11 กำหนดจัดขึ้นเป็นระยะเวลา 5 วัน ระหว่างวันที่ 18 - 22 พฤศจิกายน 2556 ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร ตลอดระยะเวลา 5 วันของการประชุม ICAAP11 ผู้เข้าร่วมประชุมจะได้รับความรู้และประสบการณ์อันมีคุณค่า และผู้จัดการประชุมขอเชิญคนไทยทุกคนร่วมเป็นเจ้าภาพและรับความรู้ผ่านสื่อต่างๆ รวมทั้งจากเว็บไซต์ และ โซเชียล เนทเวิร์ค เกี่ยวกับไฮไลท์ในโปรแกรมด้านชุมชน และ ด้านเยาวชน เช่น สภาผู้นำเยาวชนแห่งเอเชียและแปซิฟิก เวทีออนไลน์เพื่อการมีส่วนร่วมของเยาวชน หมู่บ้านเอเชียและแปซิฟิก เวทีศิลปะการแสดงของชุมชน ขบวนพาเหรดจากศูนย์ประชุมฯ ไปยังซอยคาวบอย สุขุมวิท 23 และอื่นๆ อีกมากมาย
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถเยี่ยมชมได้ที่เว็บไซต์: www.icaap11.org และลงทะเบียนได้จนถึงวันที่ 15 ตุลาคม 2556 หรือติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่โทร 02 229 4825 อีเมล์ Secretaria@icaap11.org